ชุดชั้นในเก่าแล้วทิ้งที่ไหน? คุยกับเจ้าของโปรเจกต์ ‘บราเก่าเราขอ’
ชุดชั้นในไม่ใช้แล้วต้องทิ้งแบบไหน? คุยกับ “วาโก้” เจ้าของโปรเจกต์ “บราเก่าเราขอ” ชี้ ชั้นใน 1 ตัว ใช้เวลาย่อยสลาย 400 ปี เผยอินไซต์ผู้บริโภคไม่รู้ต้องทิ้งตรงไหน ล่าสุดได้ยอดบริจาคมาแล้ว 2 แสนตัว รับเศรษฐกิจซบเซากระทบยอดขายบางส่วน มั่นใจสินค้าคุณภาพยังไปต่อได้
คุณจัดการกับชุดชั้นในอย่างไร เมื่ออายุการใช้งานสิ้นสุดลง? ทิ้งลงถังเหมือนขยะประเภทอื่นๆ ก็ดูจะไม่ใช่ที่ทาง หยิบไปบริจาคก็กลัวจะไม่เหมาะสม “Pain Point” สารพัดอย่างที่เกิดขึ้น นำมาสู่โปรเจกต์ “บราเก่าเราขอ” ภายใต้การดำเนินงานของ “วาโก้” ที่มี “นงลักษณ์ เตชะบุญเอนก” กรรมการบริหารสายงานสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) นั่งแท่นหัวเรือใหญ่
“บราเก่าเราขอ” เริ่มต้นออกเดินทางครั้งแรกเมื่อปี 2555 แต่ไม่ได้มีการสร้างการรับรู้มากนัก กระทั่งระยะหลังมานี้พบว่า บรรยากาศในสังคมเริ่มเปลี่ยนไป ผู้คนหันมาตระหนักปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ความสำคัญของการจัดการขยะจึงถูกยกระดับไปอีกขั้น เฉพาะปีนี้มีชุดชั้นในบริจาคเข้ามาแล้วมากถึง “2 แสนตัว” และคาดว่า จนถึงช่วงจบโครงการในเดือนพฤศจิกายนนี้จะยังทยอยเพิ่มเข้ามาอีกเรื่อยๆ
ผู้บริหารวาโก้เล่าข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะเส้นทางจากชุดชั้นใน 1 ตัว สู่การแปลงเป็นกระแสไฟฟ้า โดยทั้งลูปนี้สามารถทำได้จากขยะชุดชั้นในที่ประกอบไปด้วยผ้าไนลอน นอนวูฟเวน โครงเหล็ก ตะขอ ฯลฯ แต่หากเรานำไปทิ้งถังขยะแบบไม่ผ่านขั้นตอนเหล่านี้ เชื่อหรือไม่ว่า ชุดชั้นใน 1 ตัว ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานมากถึง 400 ปีเลยทีเดียว
เริ่มจากลูกค้าใช้แล้วไม่มีที่ทิ้ง ถังขยะก็ดูไม่เหมาะ ให้คนอื่นก็ทำไม่ได้
วาโก้ไม่ได้เพิ่งเริ่มทำโปรเจกต์นี้เพียง 1 หรือ 2 ปีเท่านั้น “บราเก่าเราขอ” เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ 12 ปีที่แล้ว โดย “นงลักษณ์” บอกว่า ตอนนั้นประเด็นภาวะโลกร้อนยังไม่ได้เป็นกระแสมากนัก แบรนด์ทำขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบสินค้าที่ไม่มีจุดทิ้งขยะ กระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำยังอยู่ที่วาโก้ทั้งหมด เมื่อได้รับเสื้อในเก่ามาแล้ว ก็จะนำมาแยกชิ้นส่วนแล้วส่งให้ชุมชนไปสร้างอาชีพกันต่อ
โครงการดำเนินเรื่อยมา จนถึงจุดที่ปริมาณชุดชั้นในเยอะขึ้นเป็นหลักหมื่น หลักแสนตัว ถึงจุดนี้การแยกชิ้นส่วนเพื่อส่งต่อให้ชุมชนอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไปแล้ว ประกอบกับกระแสรักษ์โลกที่เริ่มได้รับการพูดถึงเพิ่มขึ้น “นงลักษณ์” และทีมงานจึงลองหาวิธีกำจัดขยะกองโต จนได้มาเจอกับ “ทีพีไอ โพลีน” (TPIPL) ผู้ผลิตปูนซีเมนต์เบอร์ต้นของประเทศ ที่มีกระบวนการเผาระบบปิดไม่ทำให้เกิดก๊าซพิษ ไม่ทำให้เกิดฝุ่น และยังมีเครื่องแยกชิ้นส่วนด้วย
“ตอนแรกเราไปหาวิธีกำจัดเอง แต่ตอนหลังมาร่วมกับทีพีไอ โพลีน เพราะเขามีกระบวนการเผาอย่างถูกวิธี ถ้าคนทั่วไปเผาจะเกิดคาร์บอนฯ เกิดฝุ่น แต่ทีพีไอ โพลีน นำเข้ากระบวนการเผาระบบปิด เราเอาชุดชั้นในไปให้ เขาจะมีเครื่องแยกชิ้นส่วน เพราะบรา 1 ตัว ประกอบไปด้วย ตะขอ โครงเหล็ก ลูกไม้ ฟองน้ำ ฯลฯ ระบบเขาจะแยกวัสดุออกมาเลย ซึ่งการเผาระบบปิดทำให้เกิดกระแสไฟฟ้านำไปใช้งานต่อได้ ครบถ้วนดีมากในการช่วยลดโลกร้อน เสื้อผ้าพวกนี้ถ้าเราทิ้งถังขยะปกติ ซึ่งมีส่วนประกอบของไนลอน นอนวูฟเวน โลหะ ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 400 ปีเลย”
-นงลักษณ์ เตชะบุญเอนก กรรมการบริหารสายงานสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน)-
“นงลักษณ์” บอกว่า โดยเฉลี่ยแล้วอายุการใช้งานของชุดชั้นใน 1 ตัว จะอยู่ที่ราวๆ 200 ครั้ง หรือประมาณ 2 ปี แต่จะมากหรือน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการถนอมผ้าของแต่ละคน รวมถึงเกรดความพรีเมียมของสินค้าด้วย บางคนเลือกซื้อสินค้า “Affordable Price” ก็อาจจะไม่ได้ทนทานมากนัก ซึ่งเมื่อครบอายุการใช้งานแล้วก็พบว่า สิ่งที่ผู้บริโภคหลายคนเจอเหมือนกัน คืออยากทิ้ง แต่ไม่รู้จะไปทิ้งที่ไหน ทิ้งถังขยะทั่วไปก็กลัวจะไม่เหมาะ ยิ่งมีความตระหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้นก็ยิ่งคิดหนัก หรือบางคนก็เขินอาย กลัวจะไม่เหมาะสมเท่าไหร่
ในช่วงแรกแบรนด์เริ่มประชาสัมพันธ์ให้เข้ามาบริจาคด้วยการนำกล่องไปตั้งตามร้านวาโก้ทั่วประเทศ ซึ่งก็มีลูกค้าให้ความสนใจนำชุดชั้นในเก่าแวะมาหย่อนกล่องบริจาคเรื่อยๆ แต่ก็พบอินไซต์อีกเหมือนกันว่า พอเป็นการตั้งกล่องตามร้านค้าก็อาจมีหลงลืมที่จะหยิบติดมือมาด้วย ทีมงานบราเก่าเราขอจึงนำโครงการไปกางแผนพูดคุยกับ “ไปรษณีย์ไทย” เพราะน่าจะสะดวกที่สุด มีที่ทำการทุกจุด ทุกตำบล โดยทางวาโก้จะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในการจัดส่งให้เอง สะดวกทั้งกับคนรับและคนส่งด้วย
ปีที่แล้วได้มา 2 แสนตัว เทียบแล้วเหมือนปลูกต้นไม้ไป “10,000 ต้น”
ปี 2565 มีจำนวนชุดชั้นในเก่าเข้ามาบริจาคกับ “บราเก่าเราขอ” จำนวน 1 แสนตัว ส่วนในปี 2566 หลังจากจับมือร่วมกับไปรษณีย์ไทยแล้ว พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ได้มาทั้งหมด 2.1 แสนตัว ส่วนในปีนี้ “นงลักษณ์” บอกว่า นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงกันยายนได้มาราวๆ 2 แสนตัวแล้ว คาดกว่า จนจบโครงการในเดือนพฤศจิกายนจะได้เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ
เมื่อนำสถิติเดิมมาเทียบเคียงกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผู้บริหารวาโก้บอกว่า จากจำนวนชุดชั้นในที่เก็บมาได้ 2 แสนตัว สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้มากถึง 131 ตัน เทียบได้กับการปลูกต้นไม้จำนวน 10,000 ต้น
สำหรับกระบวนการกว่าจะออกมาเป็นปลายทางเรื่องที่ดีกับโลก “นงลักษณ์” อธิบายเพิ่มเติมถึงกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำที่ทางบริษัทจะมีตู้คอนเทนเนอร์ไว้รวบรวม ทั้งจากช่องทางหย่อนกล่องตามร้านค้า และส่งผ่านไปรษณีย์ไทย เมื่อตู้คอนเนอร์เต็มก็จะจัดส่งไปให้ “ทีพีไอ โพลีน” ที่จังหวัดสระบุรี จากนั้นจะนำไปแยกชิ้นส่วน และทำการเผาระบบปิด โดยที่ “ทีพีไอ โพลีน” ไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายในการจัดการส่วนนี้
นอกจากนี้ “นงลักษณ์” ยังบอกด้วยว่า บราเก่าที่รับบริจาคไม่ได้จำกัดเฉพาะแบรนด์วาโก้เท่านั้น จะเป็นยี่ห้อไหนก็ได้ เป็นชุดชั้นในสตรี กางเกงบ็อกเซอร์ หรือกางเกงในชาย ก็บริจาคได้เหมือนกัน เพราะวัสดุที่นำมาตัดเย็บชั้นในเหล่านี้ใช้เวลาย่อยสลายค่อนข้างนาน
“ไม่ว่าคุณจะใส่แบบไหน ยี่ห้อไหน มันมี Elastic ทุกยี่ห้ออยู่แล้ว 2 ถึง 3 ปีหลังมานี้ เราจึงมาคุยกันว่า ถ้าอย่างนั้นพูดไปเลยดีกว่าว่า แบรนด์ไหนมาบริจาคก็ได้ ไม่ต้องเขินอาย นี่คือจุดที่เราเคยเจอคนเข้ามาถาม แล้วก็พลิกกลับมาเป็นแบบนี้”
อ่านมาถึงตรงนี้ สำหรับใครที่มีชุดชั้นในไม่ว่าจะหญิงหรือชายเก็บไว้แล้วไม่รู้จะไปทิ้งที่ไหน ผู้บริหารวาโก้เชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนช่วยลดโลกร้อนกันได้ง่ายๆ จะไปใส่กล่องตามร้านค้าบนห้างสรรพสินค้า หรือส่งฟรีทางไปรษณีย์ไทยก็ได้เช่นกัน ที่เหลือทางวาโก้จะเป็นคนจัดการนำชั้นในตัวเก่าไปแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าให้เอง
“ปีนี้ได้เกือบ 2 แสนตัวแล้ว ยังไม่จบปีดีเลย สามารถส่งได้ฟรีโดยจ่าหน้าว่า “วาโก้บราเดย์ บราเก่าเราขอ” และจะมีข้อมูลที่อยู่จัดส่งที่ไปรษณีย์ไทยด้วย ค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเรารับผิดชอบ เราบริการทุกอย่างให้” กรรมการบริหารสายงานสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวปิดท้าย