ปรับนิยาม "ควบรวมกิจการ" บมจ.ยังรอการเปลี่ยนแปลง

ปรับนิยาม "ควบรวมกิจการ" บมจ.ยังรอการเปลี่ยนแปลง

ห้วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ “ควบรวมกิจการ” ของบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับสังคมอยู่หลายครั้ง จนบางคนถึงกับเรียกว่าเป็น “ยุคสมัยแห่งการควบรวมกิจการ”

การควบรวมกิจการ” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพธุรกิจ ให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาดต่อไปได้ สามารถทำได้ทั้งในรูปแบบที่บริษัทเข้ารวมกัน (merger) หรือการโอนกิจการโดยการซื้อขายกิจการซึ่งกันและกัน (acquisition)

เพื่อให้ได้มาซึ่งการเข้าถือครองทรัพย์สินจำพวกหุ้น หรือกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน โดยบริษัทมักจะทำการควบรวมกิจการเพื่อประโยชน์ในเชิงธุรกิจและเศรษฐกิจ อาทิ การขยายกิจการ ความอยู่รอดในการทำธุรกิจ การลดค่าใช้จ่าย

ก่อนปี 2565 ประเทศไทยมีกฎหมายสองฉบับที่บัญญัติหลักการทั่วไปในเรื่องควบรวมกิจการไว้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา1238 สำหรับการควบรวมของบริษัทจำกัด และ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด) มาตรา 146 ประกอบมาตรา 152 สำหรับการควบรวมบริษัทมหาชนจำกัด

ทั้งบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด สามารถควบรวมกันเพื่อให้เกิดเป็นบริษัทใหม่ได้ และทำให้บริษัทเดิมหมดสภาพนิติบุคคลไป (บริษัท A + บริษัท B = บริษัท C)

โดยส่วนใหญ่จะเป็นการควบรวมกิจการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีขนาดและฐานะทางการเงินใกล้เคียงกันมารวมกัน เช่น การควบรวมบริษัทระหว่าง GULF กับ INTUCH, บริษัท TRUE กับ DTAC รวมทั้งบริษัท CP  กับ Lotus’s

แต่ในปัจจุบันมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 มาตรา 1238 เพิ่มรูปแบบการควบรวมกิจการในลักษณะที่เป็นการโอนกิจการทั้งหมด

กล่าวคือภายหลังจากควบรวมแล้ว บริษัทหนึ่งบริษัทใดยังคงมีสภาพนิติบุคคล และบริษัทอื่นที่ควบรวมกันหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล (บริษัท A + บริษัท B = บริษัท A หรือ B) การเพิ่มเติมคำนิยามนี้ทำให้บริษัทจำกัดที่มีการควบรวมในลักษณะดังกล่าว ได้รับผลทางกฎหมายและสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกันกับการควบรวมที่มีอยู่เดิม

อย่างไรก็ตาม คำนิยามการควบรวมกิจการของบริษัทมหาชนจำกัด ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ยังไม่ถูกแก้ไขให้มีความครอบคลุมถึงรูปแบบการโอนกิจการทั้งหมด เช่นเดียวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ทำให้บริษัทมหาชนจำกัดที่มีการควบรวมโดยโอนกิจการทั้งหมดไม่ได้รับผลทางกฎหมายและสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายเช่นเดียวกับบริษัทจำกัด ไม่ว่าจะเป็น สิทธิประโยชน์ทางภาษี สิทธิการรับโอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจในกรณีทั่วไป 

การควบรวมกิจการเป็นเรื่องกลยุทธ์ในการประกอบกิจการตามปกติ จึงไม่ควรมีความแตกต่างกันระหว่างบริษัทมหาชนจำกัดและบริษัทจำกัด 

กรณีของสหรัฐอเมริกา มีการกำหนดลักษณะการควบรวมกิจการไว้ในบททั่วไปว่าด้วยบริษัท (corporation) โดยไม่ได้แบ่งเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด

ตามประมวลกฎหมายว่าด้วยบริษัท (Delaware’s General Corporation Law: DGCL) มาตรา 251 รวมถึงกฎหมายบริษัทจำกัด (The Uniform Limited Liability Company Act: ULLCA) ก็ไม่ได้กำหนดลักษณะการควบรวมกิจการที่แตกต่างจากบททั่วไป 

กล่าวคือ การควบรวมกิจการของทั้งบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัดในสหรัฐอเมริกามีลักษณะเดียวกัน นำไปสู่ผลทางกฎหมายและสิทธิประโยชน์จากการควบรวมกิจการที่เหมือนกัน

จากสถิติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) สรุปสถานการณ์การควบรวมธุรกิจในช่วงปี 2562-2566 รวมทั้งสิ้น 137 ราย เฉลี่ยปีละ 27 บริษัท ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจ จากการควบรวมกิจการในยุคสมัยใหม่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

ดังนั้น การที่ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดไม่ได้แก้ไขคำนิยามให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่งผลให้บริษัทมหาชนจำกัด ไม่ได้รับผลทางกฎหมายจากการควบรวมกิจการในรูปแบบเดียวกับบริษัทจำกัด และยังต้องดำเนินการควบรวมกิจการโดยใช้วิธีการที่มีต้นทุนในการดำเนินการมากกว่า

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณาแก้ไขคำนิยามการควบรวมกิจการของบริษัท ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้ผลทางกฎหมายและสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายจากการควบรวมบริษัทมหาชนจำกัดและบริษัทจำกัดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าการควบรวมกิจการเป็นเพียงหนึ่งในกลยุทธ์ที่ช่วยส่งเสริมให้บริษัท สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการประกอบกิจการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตน 

แต่ทว่าในภาพใหญ่ของการพัฒนาตลาดทุนไทยย่อมมีกฎหมายและปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาประกอบ เช่น การควบรวมกิจการของบริษัทใหญ่ต้องไม่ขัดกับกฎหมายแข่งขันทางการค้า ซึ่งที่ผ่านมาสังคมให้ความกังวลว่าอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการผูกขาด และกระทบต่อประโยชน์ของผู้บริโภคในอนาคตได้

ประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยอาจจะต้องทบทวนและปรับปรุงกฎหมายควบรวมธุรกิจ ให้มีความครอบคลุมมากขึ้น 

เพื่อให้การควบรวมมีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว เพิ่มความน่าดึงดูด รักษาการแข่งขันทางการค้า และส่งเสริมความแข็งแกร่งของตลาดทุนไทย โดยในบทความต่อไปคณะผู้วิจัยจะนำเสนอประเด็นการควบรวมกิจการในด้านอื่น ๆ อีก.

*บทวิเคราะห์นี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความ “โครงการกิโยตินกฎระเบียบ ตลาดทุน” โดยทีดีอาร์ไอและกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)