พิษ ศก.ฉุด ‘ไทยเที่ยวนอก’ โตแผ่ว บาทแข็งอุ้มยอดเที่ยวญี่ปุ่น 9 เดือน 7.5 แสนคน

พิษ ศก.ฉุด ‘ไทยเที่ยวนอก’ โตแผ่ว บาทแข็งอุ้มยอดเที่ยวญี่ปุ่น 9 เดือน 7.5 แสนคน

เข้าสู่ไฮซีซันของตลาด 'ไทยเที่ยวนอก' ปลายปีนี้ ตั้งแต่ปิดภาคเรียนเดือน ต.ค. ไปจนถึงกลางเดือน เม.ย. 2568 แม้พฤติกรรมคนไทยจะนิยมเที่ยวต่างประเทศเพื่อสัมผัสอากาศเย็น แต่ด้วยปัญหาเศรษฐกิจ เงินฝืดสะเทือนกำลังซื้อในตอนนี้ ส่งผลให้ภาพรวมปี 2567 โตได้ไม่เต็มที่นัก 5-7%

เจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) เล่าว่า แม้ภาพรวมตลาดคนไทย “เที่ยวต่างประเทศ” ในเดือน ต.ค. จะมีจำนวนมากกว่าเดิม เนื่องจากตรงกับช่วงปิดภาคเรียน ผู้ปกครองนิยมพาบุตรหลานไปเที่ยวต่างประเทศเพื่อพักผ่อนและรับประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ถ้าหากมองแนวโน้มช่วง “ไฮซีซัน” นับจากนี้ไปจนถึงต้นปี 2568 อาจจะมีจำนวนไม่มากนัก! เพราะยังมี “ปัจจัยกดดัน” จากภาวะเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย กลุ่มที่ออกเดินทางตอนนี้คือกลุ่มที่มีศักยภาพใช้จ่ายสูง

“สมาคมฯ ประเมินว่าตลาดไทยเที่ยวนอกปีนี้จะเพิ่มขึ้น 5-7% เทียบกับปีที่แล้ว แม้จะมีมาตรการวีซ่าฟรีในหลายประเทศ หนุนการเดินทางระหว่างกันง่ายขึ้น ทำให้การเติบโตเป็นไปตามคาด แต่จากการประชุมร่วมกับการท่องเที่ยวของจีน พบว่ายอดคนไทยไปจีนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มาก”

หากประเมินภาพรวม 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) จะเห็นเทรนด์การเดินทางช่วงต้นปีดีมาก แต่พอเข้ากลางปีตัวเลขกลับไม่ได้ดีขนาดนั้น มีปัจจัยกระทบทั้งภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจไม่ค่อยดี แม้ “เงินบาทแข็งค่า” จะเอื้อต่อการจับจ่ายในต่างประเทศของคนไทยก็ตาม ก่อนที่สถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นในเดือน ต.ค. เนื่องจากนักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่จองสินค้าและบริการล่วงหน้าไปแล้ว

“จากภาพที่เห็นคนไทยในสนามบินหนาแน่น โดยเฉพาะส่วนขาออกไปเที่ยวต่างประเทศ ตรงนี้มองว่าเป็นเพราะสนามบินหลักๆ ในไทยไม่ได้ใหญ่มากขนาดนั้น พื้นที่มีจำกัด และการบินในเส้นทางเดียวกัน ช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ผู้โดยสารที่ไปสนามบินเวลาชนกัน สะท้อนเป็นภาพความหนาแน่นออกมา”

สำหรับตลอดปี 2567 คาดว่าจะมีคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศราว 10 ล้านคน ยังไม่สามารถกลับไปเท่าจุดเดิมเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ซึ่งมีคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศราว 12-13 ล้านคนได้ การกลับไปถึงจำนวนดังกล่าวยังต้องใช้เวลา เพราะมีปัจจัยแทรกซ้อนมาเป็นตัวฉุดรั้ง ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว เงินเฟ้อ สงครามในตะวันออกกลาง สร้างความกังวลเพิ่มขึ้นต่อการออกเดินทาง

ส่วนปัจจัยเงินบาทแข็งค่าไม่ได้สนับสนุนการเดินทางมากนัก เพราะค่าใช้จ่ายในการออกไปเที่ยวต่างประเทศก็ปรับขึ้นด้วย ต้นทุนการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นหมด ทั้งค่าโรงแรม ค่าอาหาร ค่ารถ เฉลี่ยต้นทุนการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 10-15%

“ในญี่ปุ่นที่เงินเยนอ่อนค่าลง แต่ยอดคนไทยก็เพิ่มขึ้นไม่ได้มากนัก เพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวสูงขึ้นกว่าเดิมเฉลี่ย 15-20% ทำให้การเติบโตของตลาดไทยเที่ยวนอกไม่ได้หวือหวา มีปัจจัยรบกวน ทำให้คนเดินทางไม่ได้เพิ่มมากขึ้นเท่าที่ควร” นายกทีทีเอเอกล่าว

ด้านรายงานข่าวจาก “องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น” (JNTO) ระบุว่า สถิติ “นักท่องเที่ยวไทย” เดินทางเข้า “ญี่ปุ่น” ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2567 มีจำนวนสะสม 752,000 คน เพิ่มขึ้น 19.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าติดลบ 13.4% หรือคิดเป็นการฟื้นตัว 86.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด

นักท่องเที่ยวไทยยังคงรั้งอันดับ 6 ของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่นสูงสุด จากจำนวนสะสมรวม 26,880,200 คนในช่วง 9 เดือนแรก ซึ่งเติบโต 54.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเติบโต 10.1% แซงช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยอันดับ 1 เกาหลีใต้ มีจำนวน 6,468,600 คน ส่วนอันดับ 2 จีน 5,247,500 คน อันดับ 3 ไต้หวัน 4,585,800 คน อันดับ 4 ฮ่องกง 1,972,000 คน และอันดับ 5 สหรัฐ 1,960,100 คน

พิษ ศก.ฉุด ‘ไทยเที่ยวนอก’ โตแผ่ว บาทแข็งอุ้มยอดเที่ยวญี่ปุ่น 9 เดือน 7.5 แสนคน