ต่อไปคนจะซื้อแต่ ‘โทรศัพท์มือสอง’ รุ่นใหม่ราคาแพงเกิน จบยุคต่อแถวซื้อ iPhone แล้ว ?

ต่อไปคนจะซื้อแต่ ‘โทรศัพท์มือสอง’ รุ่นใหม่ราคาแพงเกิน จบยุคต่อแถวซื้อ iPhone แล้ว ?

จบยุคต่อคิวรอซื้อ iPhone ? หลังยอดสั่งซื้อรุ่นใหม่ลดฮวบ นักวิเคราะห์ชี้ เปิดตัวถี่เกิน-นวัตกรรมไม่ว้าว ดันตลาดโทรศัพท์มือสองโตแรง เฉพาะในสหรัฐคาดการณ์โตเกิน 10% ยาวไปอีก 8 ปี พบคนรุ่นใหม่เน้นซ่อม-เปลี่ยนอะไหล่ มากกว่าซื้อ

KEY

POINTS

  • แม้ตลาดสมาร์ตโฟนจะขับเคี่ยวกันดุเดือดแค่ไหน แต่ด้วยความถี่ของการออกรุ่นใหม่ทุกปี รวมถึงนวัตกรรมที่ไม่ได้แปลกใหม่มากนัก ทำให้ “โทรศัพท์มือสอง” ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ด้วยฟังก์ชันที่ไม่หนีจากกันมาก รวมถึงราคาที่เข้าถึงง่ายกว่าด้วย
  • นักวิเคราะห์ระบุว่า ผู้บริโภคเริ่มตระหนักรู้ถึงประสิทธิภาพของ “โทรศัพท์มือสอง” มากขึ้น ทั้งจากการโฆษณา และการบอกต่อแบบปากต่อปากจากเพื่อนฝูง
  • ตอนนี้การเติบโตของ “โทรศัพท์มือสอง” ยังไม่ได้สร้างความกังวลให้ค่ายมือถือมากนัก แต่หากกระแสนิยมนี้ยังเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้ “Apple” ในฐานะผู้นำสมาร์ตโฟนต้องทำงานอย่างหนักมากขึ้นไปอีก

แม้ปีที่ผ่านมา “iPhone” จะขึ้นแท่นสมาร์ตโฟนขายดีที่สุดในโลก แต่ผ่านไปไม่นาน “Samsung” (ซัมซุง) ก็กลับมาทวงบัลลังก์ได้สำเร็จ ส่วนในไทยพบว่า “OPPO” (ออปโป) กลายเป็นโทรศัพท์มือถือที่มียอดขายมากที่สุด พร้อมกับกระแสข่าวยอดขาย “iPhone” ทั่วโลก ร่วงติดต่อกัน 5 ไตรมาส

ด้าน “iPhone 16” ที่เพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน ก็มียอดพรีออร์เดอร์น้อยกว่ารุ่นก่อนหน้าราวๆ 13% โดยมีนักวิเคราะห์คาดการณ์ถึงฉากทัศน์ต่อไปของตลาดสมาร์ตโฟนว่า หลังจากนี้ผู้บริโภคจะหันไปให้ความสนใจ “โทรศัพท์มือสอง” มากขึ้น และไม่แน่ว่า ในอนาคตสัดส่วนคนที่เลือกซื้อโทรศัพท์มือสองอาจสูงมากถึง 90% ก็เป็นไปได้

รุ่นเก่า-รุ่นใหม่ไม่ต่างกัน เทคโนโลยีเดิมๆ ไม่มีอะไรให้ว้าว

17 ปีที่แล้ว “สตีฟ จ็อบส์” (Steve Jobs) เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งงานเปิดตัว iPhone รุ่นแรกว่า นี่คือ โปรดักต์ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง มาวันนี้ประจักษ์ชัดแล้วว่า สิ่งที่จ็อบส์พูดเป็นไปตามนั้นจริง โทรศัพท์มือถือแบบมีปุ่มกดค่อยๆ ทยอยล้มหายตายจากไปตามๆ กัน หลังจากนั้นอุณหภูมิตลาดสมาร์ตโฟนก็ค่อยๆ ร้อนแรง ดุเดือดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีผู้เล่นเข้ามาท้าชิง “Apple” อีกนับสิบราย

17 ปีให้หลัง ในวันที่ “iPhone” เดินทางมาถึงรุ่นที่ 16 โลกก็ถึงคราวเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง พร้อมบททดสอบใหม่ที่ “Apple” ไม่สามารถเดินตามสูตรสำเร็จเดิมได้อีกแล้ว จากความตื่นเต้นของแฟนๆ ที่มักจะตั้งตารอคอยการมาถึงของ “iPhone” แทบทุกปี ปรากฏว่า ยอดสั่งจอง “iPhone 16” ช่วงสัปดาห์แรกลดลงกว่า 13% เมื่อเทียบกับยอดขาย “iPhone 15” ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านั้นก็พบว่า ความร้อนแรงของ iPhone เริ่มลดลงมาได้ระยะหนึ่ง อย่าง “iPhone 15” ในปีก่อนหน้าก็พบว่า ยอดขายลดลงจากสถิติเดิมเช่นกัน

ต่อไปคนจะซื้อแต่ ‘โทรศัพท์มือสอง’ รุ่นใหม่ราคาแพงเกิน จบยุคต่อแถวซื้อ iPhone แล้ว ?

“หมิง ฉือ กัว” (Ming-Chi Kuo) นักวิเคราะห์ซัพพลายเชน “Apple” ที่มีประสบการณ์คร่ำหวอดมากกว่า 10 ปี ระบุว่า ตอนนี้สถานการณ์ของ Apple เปลี่ยนไปแล้ว จากเดิม ที่ “Apple Event” เคยเป็นงานเทคโนโลยีแห่งปี เขามองว่า ตอนนี้โปรดักต์ใหม่ๆ ของ Apple เป็นเพียงการอัปเดตซอฟต์แวร์ที่ห่อหุ้มด้วยเซลโลเฟน (หนึ่งในวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของสมาร์ตโฟน) ก็เท่านั้น

ความตื่นเต้นของอีเวนต์ครั้งสำคัญ ถูกแทนที่ด้วยคลื่นลูกใหม่อย่าง “โทรศัพท์มือสอง” สำนักข่าว “Business Insider” ระบุว่า ตลาดสมาร์ตโฟนมือสองมีการเติบโตทั่วโลกราวๆ 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยผลสำรวจจาก “Counterpoint Research” บริษัทวิจัยตลาดสินค้าเทคโนโลยีเปิดเผยว่า ปี 2565 “Apple” ครองส่วนแบ่งในตลาดโทรศัพท์มือสอง มากถึง 50% คิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 4 ของสมาร์ตโฟนที่ถูกจัดส่งออกไปทั่วโลกในช่วงปลายปี 2566 

อีกทั้งยังมีข้อมูลจากฝั่งยุโรปที่เก็บรวบรวมโดย “International Data Corporation” บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก บอกว่า มีผู้บริโภคประมาณ 43% ที่เคยเป็นเจ้าของสมาร์ตโฟนมือสองมาแล้ว สอดคล้องกับข้อมูลจากบริษัทรับซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ฟากฝั่งสหรัฐ ที่ระบุว่า ตลาดโทรศัพท์มือสองมีแนวโน้มโตขึ้นราวๆ 13% ไปจนถึงปี 2575 เลยทีเดียว

“เกลน คาโดซา” (Glen Cardoza) นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Counterpoint Research มองว่า คลื่นใต้น้ำที่ขับเคลื่อนให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ มาจากการที่ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงประสิทธิภาพของโทรศัพท์มือสองที่ได้รับการซ่อมแซมให้เหมือนใหม่ ทั้งจากการโฆษณา และการบอกต่อแบบปากต่อปาก

บางคนเห็นว่า เพื่อนๆ ของตนเองยังใช้ “iPhone 12” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เริ่มเปลี่ยนใจ หันกลับมามองสินค้ามือสองเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีร้านโทรศัพท์หลายแห่งรับหน้าที่ซ่อมแซมพร้อมรับประกันสินค้า การซื้อของมือสองจึงมีความเสี่ยงน้อยลงด้วย

ต่อไปคนจะซื้อแต่ ‘โทรศัพท์มือสอง’ รุ่นใหม่ราคาแพงเกิน จบยุคต่อแถวซื้อ iPhone แล้ว ?

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องความตระหนักรู้ถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงส่วนหนึ่ง สำคัญไปกว่านั้น คือ ปัจจัยด้านราคา “คาโดซา” บอกว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่า โทรศัพท์มือสองกับโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่เพิ่งวางขายไม่ได้มีคุณสมบัติแตกต่างกันมาก ประกอบกับรุ่นเก่าก็มีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันเพียงพออยู่แล้ว 

โอกาสทองร้านโทรศัพท์มือสอง ซื้อแพงทำไม ถ้าของราคาดีก็ใช้ได้เหมือนกัน

ด้าน “ธิโบด์ ฮุก เดอ ลาเราซ” (Thibaud Hug de Larauze) ผู้บริหาร “Back Market” แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าเทคโนโลยีมือสองสัญชาติฝรั่งเศส ที่สามารถระดมทุนได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ และกำลังจะทำกำไรในยุโรปได้เป็นครั้งแรก ระบุในงานแถลงข่าวครั้งล่าสุดว่า “Back Market” มีผู้ใช้บริการมากกว่า 15 ล้านคน ขายสินค้าไปแล้ว 30 ล้านรายการ โดย “โทรศัพท์มือถือ” เป็นสินค้าขายดีอันดับ 1 รองลงมา ได้แก่ สมาร์ตวอช หูฟัง แล็ปท็อป และเครื่องเล่นวิดีโอเกม เป็นต้น ซึ่งสินค้ามือสองเหล่านี้ ยังติด “Top 5” ได้รับความนิยมสูงสุดบนแพลตฟอร์ม “eBay” (อีเบย์) ด้วย

เขาคาดการณ์ว่า ภายใน 10 ปีนับจากนี้ จะมีผู้ใหญ่กว่า 90% เลือกซื้อสินค้ามือสองมากกว่าถอยของใหม่แกะกล่อง เนื่องจากหลายๆ คนเริ่มตระหนักได้ว่า โปรดักต์ที่ค่ายยักษ์ใหญ่เปิดตัวทุกปี ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมมากนัก ทั้งยังระบุว่า บรรดาเทคโนโลยีเอไอที่หลายเจ้าประโคมใส่ลงในสมาร์ตโฟน ก็ไม่ได้สร้างความกระจ่างให้ผู้ใช้งานได้ทั้งหมดว่า สรุปแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้เปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตพวกเขาได้บ้าง 

“เดอ ลาเราซ” เปรียบเทียบราคาที่ต้องจ่ายของสมาร์ตโฟนว่า มีความคล้ายคลึงกับการซื้อรถยนต์ ทั้งสองอย่างเป็นสินค้าราคาแพง ซื้อมาแล้วมีแต่จะสูญเสียมูลค่าลงไปทุกวัน สินค้ารุ่นใหม่ๆ ที่ออกมาก็ไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรที่เหนือชั้นไปกว่ากันเสียเท่าไร การซ่อมรถมือสองเป็นเรื่องปกติฉันใด โทรศัพท์มือสองก็เป็นความธรรมดาฉันนั้น หากการซื้อมือถือใหม่สักเครื่องเป็นการลงทุนที่แย่พอกัน แล้วทำไมเราจึงไม่ซื้อสินค้าที่ราคาดีกว่า ทั้งยังมีประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกันด้วย

ต่อไปคนจะซื้อแต่ ‘โทรศัพท์มือสอง’ รุ่นใหม่ราคาแพงเกิน จบยุคต่อแถวซื้อ iPhone แล้ว ? -ทิม คุก ผู้บริหาร Apple คนปัจจุบัน-

ออกกฎซ่อมได้ แต่ต้องให้ “Apple” อนุมัติ 

แม้สัดส่วนการใช้งานโทรศัพท์มือสองจะยังไม่ได้สูงมาก จนทำให้ค่ายมือถือสูญเสียรายได้เป็น กอบเป็นกำ แต่เทรนด์ที่เกิดขึ้น ประกอบการทิศทางเศรษฐกิจที่ยังซบเซา ก็อาจทำให้ยักษ์ใหญ่เหล่านี้เริ่มรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ขึ้นมาบ้าง สะท้อนจากการประกาศนโยบาย “Parts Pairing” หรือการจับคู่ชิ้นส่วน จะซ่อมหรือเปลี่ยนอะไหล่ iPhone ได้ ต้องผ่านการตรวจสอบ และอนุมัติจากบริษัทแม่ก่อนเท่านั้น

ข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ “Apple” ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก “Forbes” (ฟอร์บส) ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ “Apple” ไม่ได้จำกัดเฉพาะ “iPhone” เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงอุปกรณ์อื่นๆ อย่าง “Macbook” บางรุ่น จะมีเงาสีขาวรอบๆ กล้อง ปรากฏขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนหน้าจอ หรือการใช้งาน “Apple Pencil” จะไม่สามารถวาดเส้นให้ตรงได้ หากใช้งานกับ “iPad Pro” ที่มีการเปลี่ยนหน้าจอ เป็นต้น

สอดคล้องกับข้อมูลจาก “Business Insider” ที่ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ใดๆ ก็ตามของ “Apple” ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากบริษัทแม่ จะส่งผลให้ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าเดิม ยกตัวอย่าง เช่น หากผู้บริโภคนำหน้าจอ iPhone ไปซ่อมที่ร้านใกล้บ้าน ระบบ “Face ID” ก็อาจจะใช้งานไม่ได้อีกต่อไป แม้ว่า Apple จะยืนยันว่า “Parts Pairing” ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับโทรศัพท์มากขึ้น แต่ขณะเดียวก็ถูกตั้งคำถามว่า เป็นนโยบายที่ค่อนข้างตื้นเขินไปสักหน่อย

อย่างไรก็ตาม ต้นเดือนพฤษภาคม 2567 “Apple” ออกมาประกาศว่า จะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าวสำหรับ “iPhone” บางรุ่น ส่วนแรงต้านที่เกิดขึ้นพบว่า ที่รัฐออริกอน (Oregon) ได้มีการผ่านกฎหมายห้ามการจับคู่ชิ้นส่วน ฝั่งยุโรปเองก็ได้พยายามผลักดันให้ผู้คนเข้าถึงการซ่อมแซมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แทนที่จะถูกผลักดันให้ซื้อใหม่

รายงานข่าวบอกว่า “ทิม คุก” (Tim Cook) ยังไม่เห็นถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโทรศัพท์มือสอง แต่สำหรับยอดขายที่ลดลงของ iPhone และกระแสการรอคอย “Apple Intelliegence” ที่ยังทรงตัว อาจทำให้ “Apple” ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อหล่อเลี้ยงความหวือหวา สร้างความประทับใจ และพลิกกระแสความนิยมให้กลับมารุ่งโรจน์ จนสามารถ “Changed everything” ได้ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

 

อ้างอิง: Business InsiderDaily MailForbesGalaxusThe GuardianWired

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์