ท่องเที่ยวชูมาตรการ 'แอ่วเหนือคนละครึ่ง’ สทท.ชง ‘เที่ยวคนละครึ่ง’ ไฮซีซัน

ท่องเที่ยวชูมาตรการ 'แอ่วเหนือคนละครึ่ง’  สทท.ชง ‘เที่ยวคนละครึ่ง’ ไฮซีซัน

ท่องเที่ยวฯ ลุยโปรเจกต์นำร่องเร่งด่วนหลังน้ำลด “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” กระตุ้นเดินทาง รัฐช่วยจ่าย 400 บาท จาก 800 บาทต่อคนต่อทริป จำนวน 10,000 คน หลัง “สรวงศ์” ลงพื้นที่เชียงใหม่-เชียงราย สำรวจผลกระทบเตรียมเยียวยาตรงจุด

KEY

POINTS

  • ท่องเที่ยวฯ ลุยโปรเจกต์นำร่องเร่งด่วนหลังน้ำลด “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” กระตุ้นเดินทาง รัฐช่วยจ่าย 400 บาท จาก 800 บาทต่อคนต่อทริป จำนวน 10,000 คน
  • หลัง “สรวงศ์” ลงพื้นที่เชียงใหม่-เชียงราย สำรวจผลกระทบเตรียมเยียวยาตรงจุด
  • “สทท.” แนะใช้ “เที่ยวคนละครึ่ง” ช่วงไฮซีซัน รัฐช่วยจ่าย 2,000 บาทต่อวัน ครอบคลุมพื้นที่น้ำท่วมและ 55 เมืองน่าเที่ยว
  • “ททท.” ประเมินแนวโน้ม 3 เดือนสุดท้าย ดึงทัวริสต์ต่างชาติ 10.7 ล้านคน สานเป้าหมายใหญ่ 36.7 ล้านคนในปีนี้

สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญกดดันเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม จากแนวโน้มเดิมที่คาดว่าฟื้นตัวค่อนข้างช้าอยู่แล้ว ทำให้ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องไปอีก ส่งผลต่อกำลังซื้อและการตัดสินใจเดินทาง รวมถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว นับเป็นโจทย์ของรัฐบาลที่ต้องเร่งออกมาตรการฟื้นฟูการเดินทาง ไม่ให้กระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซันปลายปีนี้

นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางตรวจเยี่ยมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในเชียงใหม่และเชียงราย เมื่อวันที่ 11-12 ต.ค. โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยว โบราณสถาน ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และสถานบริการต่างๆ พร้อมรับฟังข้อเสนอและการขอรับความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการ

ส่วนใหญ่ได้ขอให้รัฐบาลช่วยพิจารณาเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) การลดภาระค่าใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ การลดภาษีโรงเรือน และการจัดแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อกระจายรายได้ให้กลับคืนสู่ปกติ โดยนายสรวงศ์ ได้รับฟังทุกข้อเสนอและจะนำกลับไปสู่การพิจารณาของรัฐบาลเพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้ตรงจุดมากที่สุด

ผุด “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” รัฐช่วยจ่าย 400 บาท/ทริป

สำหรับการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลไกหลักของการสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ทั้งสองจังหวัด จะมีการนำเสนอโครงการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้วางแผนจัดเตรียมโครงการไว้ จะสนับสนุน 400 บาท จาก 800 บาทต่อคนต่อทริป ในจำนวน 10,000 คน ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่องเร่งด่วน สำหรับแพ็กเกจส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ และหากเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการอย่างเห็นผลชัดเจน ก็จะขยายและยกระดับขึ้นไปอีก

จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายต่างยืนยันความพร้อมที่จะเปิดจังหวัดในวันที่ 1 พ.ย. โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ ททท. ได้จัดทำแผนกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจตลอดปลายปีนี้ ทั้งนี้คาดว่าจะมีการจัด ครม.สัญจร ที่เชียงใหม่หรือเชียงรายในเดือน พ.ย.

ด้านประสบการณ์และผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในครั้งนี้ นับเป็นบทเรียนสำหรับการหาแนวทางรับมือเพื่อป้องกันความเสียหาย รวมทั้งนำมาเป็นโมเดลการบริหารสถานการณ์เพื่อลดความสูญเสียเมื่อเกิดขึ้นอีกในครั้งหน้า จากผู้ประกอบการที่รอดพ้นจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้

ท่องเที่ยวชูมาตรการ \'แอ่วเหนือคนละครึ่ง’  สทท.ชง ‘เที่ยวคนละครึ่ง’ ไฮซีซัน

สทท.ชง “เที่ยวคนละครึ่ง” รัฐช่วยจ่าย 2,000 บาท/วัน

ก่อนหน้านี้ นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท.ขอเสนอให้รัฐบาลจัดทำโครงการ “เที่ยวคนละครึ่ง”ในทันทีโดยไม่ต้องรอปีหน้า เพื่อฟื้นฟูจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและเมืองน่าเที่ยว (55 เมืองรอง) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ขอให้กระตุ้นในช่วงไฮซีซัน เพราะหากปล่อยไป จังหวัดที่เจอน้ำท่วมจะเสียรายได้ไปทั้งเดือน อย่างเชียงใหม่เดือน ต.ค.ของปีก่อนเคยมีรายได้ท่องเที่ยว 7,000 ล้านบาท ขณะที่เชียงรายมี 3,000 ล้านบาท

“รัฐบาลเคยทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวคนละ 3,000 บาทต่อวัน ใช้งบ 10,000 ล้านบาท แต่สำหรับโครงการเที่ยวคนละครึ่ง สทท.เสนอให้สนับสนุนนักท่องเที่ยวคนละ 2,000 บาทต่อวัน ประมาณคนละ 3-4 คืน เท่ากับว่ารัฐบาลใช้เงินสนับสนุนไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ถ้าไม่มีโครงการนี้ รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยอาจไม่ได้ตามเป้าหมายของ ททท. ที่ตั้งไว้ 9 แสนล้านบาท”

 

คาด Q4/67 ดัชนีเชื่อมั่นท่องเที่ยวฟื้น

รายงานจาก สทท. ระบุถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 3/2567อยู่ที่ระดับ 68 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมามาก ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือว่าอยู่ในระดับแย่มาก ต่ำกว่าค่าดัชนีฯ ระดับปกติซึ่งอยู่ที่ 100 เนื่องจากไตรมาสนี้เป็นช่วงโลว์ซีซัน ทั้งยังเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังคงซบเซา หลังอัตราเงินเฟ้อติดลบ 6 เดือนต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 - มี.ค. 2567 สะท้อนกำลังซื้อภายในประเทศหดตัว เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

ส่วนคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 4/2567 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 80 มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าไตรมาสนี้ในระดับมาก และดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยค่าดัชนีฯ ไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ระดับ 77 เนื่องจากเข้าสู่ไฮซีซันของตลาดคนไทย พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ขณะเดียวกันยังเป็นไฮซีซันของนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล (Long Haul) ซึ่งนิยมท่องเที่ยวในประเทศที่อบอุ่นกว่า

ทั้งยังเป็นไตรมาสที่มีวันหยุดและเทศกาลหลายช่วง ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถหยุดงานเพื่อออกเดินทางได้ เช่น วันชาติจีน เทศกาลกินเจ เทศกาลลอยกระทง และเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลังเห็นสัญญาณบวกของยอดจองล่วงหน้าช่วงไฮซีซัน และสายการบินเพิ่มจำนวนเที่ยวบินมากขึ้นในปลายปี

 

ททท.ชี้โค้งสุดท้ายดึงทัวริสต์ 10.7 ล้านคน

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในไตรมาส 4 มีปัจจัยท้าทายรอบด้าน ทั้งผลกระทบจากน้ำท่วมในไทยและภัยพิบัติในหลายประเทศ สงครามในตะวันออกกลาง รวมถึงปัจจัยเงินบาทแข็งค่าที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวบ้างแล้ว โดยเฉพาะในมุมผู้ประกอบการที่เริ่มเป็นกังวลหากเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ต้องทบทวนการกำหนดราคาสินค้าบริการเป็นสกุลเงินต่างๆ เพื่อบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ค่าเงิน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกสำคัญอย่างการฟื้นตัวของปริมาณที่นั่งสายการบินจากหลายประเทศในช่วงตารางบินฤดูหนาว 2024/2025 ทั้งจากเที่ยวบินประจำและเที่ยวบินเช่าเหมาลำ

“ภาพรวมการเดินทางของตลาดต่างชาติเที่ยวไทยจะยังเดินหน้าต่อไปไหวแน่นอน โดย ททท.ประเมินว่าจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 36.7 ล้านคนได้ตามเป้า ทำให้ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายต้องทำยอดอีกไม่น้อยกว่า 10.7 ล้านคน หรือเฉลี่ยเดือนละ 3.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลังจาก 9 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมแล้ว 26 ล้านคน”