ท่องเที่ยวอ่วม ‘น้ำท่วม’ ซ้ำเงินฝืด! สทท. ชงรัฐอัดยาแรง ‘เที่ยวคนละครึ่ง’

ท่องเที่ยวอ่วม ‘น้ำท่วม’ ซ้ำเงินฝืด!  สทท. ชงรัฐอัดยาแรง ‘เที่ยวคนละครึ่ง’

ผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย” ประจำไตรมาส 3/2567 อยู่ในระดับแย่มากจาก “ภาวะเงินฝืด” ทั้งยังถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ “น้ำท่วม”

KEY

POINTS

  • ผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย” ประจำไตรมาส 3/2567 อยู่ในระดับแย่มากจาก “ภาวะเงินฝืด” ทั้งยังถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ “น้ำท่วม” 
  • “สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (สทท.) เฟ้นไอเดียเร่งสร้างความเชื่อมั่นหลังน้ำลด เตรียมเสนอให้รัฐบาลพิจารณาโครงการ “เที่ยวคนละครึ่ง” รัฐช่วยจ่าย วงเงินสนับสนุนไม่เกิน 5,000 ล้านบาท
  • หวังรักษารายได้ตลาด “ไทยเที่ยวไทย” ในปี 2567 ให้ไปถึงเป้าหมาย 9 แสนล้านบาท

ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ระดับ 68 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมามาก ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมาก (ค่าดัชนีฯ ระดับปกติคือ 100) เนื่องจากไตรมาสนี้เป็นช่วงโลว์ซีซัน ทั้งยังเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ทาง “ภาคเหนือ”

“ความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยช่วงไตรมาส 3 อยู่ในระดับแย่มากๆ จากเศรษฐกิจของประเทศซบเซา อัตราเงินเฟ้อติดลบ 6 เดือนต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 - มี.ค. 2567 สะท้อนกำลังซื้อภายในประเทศที่กำลังหดตัว เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ทำให้ประชาชนไม่มีเงินใช้ ซ้ำร้ายยังเกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่”

คาด 'ดัชนีเชื่อมั่นท่องเที่ยว' Q4/67 ไฮซีซันอยู่ระดับ 80

ส่วนคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 4/2567 ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 80 แนวโน้มดีขึ้นกว่าไตรมาสนี้ในระดับมาก และดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ค่าดัชนีฯ ไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ระดับ 77) เนื่องจากเข้าสู่ “ไฮซีซัน” ของตลาดคนไทย พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ขณะเดียวกันยังเป็นไฮซีซันของนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล (Long Haul) นิยมท่องเที่ยวในประเทศที่อบอุ่นกว่า

ทั้งยังเป็นไตรมาสที่มีวันหยุดและเทศกาลหลายช่วง ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถหยุดงานเพื่อออกเดินทางได้ เช่น วันชาติจีน เทศกาลกินเจ เทศกาลลอยกระทง และเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลังเห็นสัญญาณบวกของยอดจองล่วงหน้าช่วงไฮซีซัน และสายการบินเพิ่มจำนวนเที่ยวบินมากขึ้นในปลายปี

ท่องเที่ยวอ่วม ‘น้ำท่วม’ ซ้ำเงินฝืด!  สทท. ชงรัฐอัดยาแรง ‘เที่ยวคนละครึ่ง’

82% ของสถานประกอบการ รายได้ต่ำกว่ายุคก่อนโควิด

ทั้งนี้ในเชิงรายได้ ผลสำรวจฯ ระบุว่า 82% ของสถานประกอบการยังไม่ฟื้นตัว รายได้ต่ำกว่าปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด เฉพาะธุรกิจโรงแรมพบว่า 54% ยังมีรายได้น้อยกว่าปี 2562 โดย 75% ของโรงแรมขนาดใหญ่มีรายได้ใกล้เคียงหรือดีกว่าก่อนโควิด-19 ในขณะที่ 92% ของโรงแรมขนาดเล็กยังมีรายได้ลดลง เป็นไปตามที่เคยกล่าวไว้ว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะฟื้นในลักษณะ “K Shape”

ด้านมาตรการความช่วยเหลือ พบว่าประชาชน 95% ต้องการให้รัฐบาลช่วยลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และแก๊สหุงต้ม นอกจากนี้ 80% อยากให้รัฐบาลปล่อยกู้เงิน 10,000 บาทแบบปลอดดอกเบี้ย ส่วน 60% อยากให้มีโครงการคนละครึ่ง

“ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ ระบุถึงคาดการณ์ว่า ตลอดปี 2567 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 35.49 ล้านคน น้อยกว่าปี 2562 ก่อนเกิดโควิดถึง 11.08% มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีนี้ที่ 1.80 ล้านล้านบาท น้อยกว่าปีก่อนโควิดที่ 5.72%”

 

สทท. ชงรัฐอัดยาแรง 'เที่ยวคนละครึ่ง' หลังน้ำลด

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า วิกฤติน้ำท่วมได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทในช่วง 10 วันที่ผ่านมา ดังนั้น สทท.ขอเสนอให้รัฐบาลจัดทำโครงการ “เที่ยวคนละครึ่ง” ในทันที โดยไม่ต้องรอปีหน้า! เพื่อฟื้นฟูจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและเมืองน่าเที่ยว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ขอให้กระตุ้นในช่วงไฮซีซัน เพราะหากปล่อยไป จังหวัดที่เจอน้ำท่วมจะเสียรายได้ไปทั้งเดือน เช่น “เชียงใหม่” ในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนเคยมีรายได้ท่องเที่ยว 7,000 ล้านบาท ขณะที่ “เชียงราย” มี 3,000 ล้านบาท

“ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวคนละ 3,000 บาทต่อวัน ใช้งบ 10,000 ล้านบาท แต่สำหรับโครงการเที่ยวคนละครึ่ง เสนอให้สนับสนุนนักท่องเที่ยวคนละ 2,000 บาทต่อวัน ประมาณคนละ 3-4 คืน รัฐบาลใช้เงินสนับสนุนไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ถ้าไม่มีโครงการนี้ รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยอาจไม่ได้ตามเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ตั้งไว้ 9 แสนล้านบาท โดย สทท.จะเสนอแนวคิดนี้ผ่านบอร์ด ททท. ในวันนี้ (10 ต.ค.) เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป”

นอกจากนี้ สทท.ขอเสนอให้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาสินค้าท่องเที่ยวเพื่อยกระดับความปลอดภัย ยั่งยืนและการเล่าเรื่อง (Storytelling) เพราะด้านตลาด ททท.ทำได้ดีจนเกิดดีมานด์ของการเดินทางมาไทย แต่ในด้านซัพพลาย พบว่าผู้ประกอบการไทยยังปรับตัวไม่ทันกับเทรนด์ของโลก จึงขอเสนอว่าการจัดเมกะอีเวนต์ต่างๆ ในประเทศไทยนั้น ต้องจัดเมกะอีเวนต์ด้านท่องเที่ยวโดยเฉพาะด้วย

“ในปี 2567 สทท.คาดว่ารายได้ท่องเที่ยวรวมจะอยู่ที่ 2.7-2.8 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35.5-36.5 ล้านคน ส่วนปี 2568 ตั้งเป้ารายได้ที่ 2.9-3.1 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยว 38-40 ล้านคน”

 

'ทีเส็บ' เตรียมฟื้นฟูตลาดอีเวนต์-ไมซ์ภาคเหนือ

ด้าน จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า สำหรับวิกฤติน้ำท่วมในภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่และเชียงราย ขณะนี้เตรียมฟื้นฟูสถานที่จัดงานอีเวนต์ในสองจังหวัดแล้วหลังน้ำลด เนื่องจากหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเฉพาะโรงแรมหลายแห่งที่จะต้อง “บิ๊กคลีนนิ่ง” ครั้งใหญ่!

“ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) มีงานอีเวนต์จำนวนมาก ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเชียงใหม่เองก็ลงทุนกันมาก เห็นได้ตามถนน ร้านรวง และสถานที่ใหม่ๆ ทีเส็บจึงกำลังปรับปรุงแผนเรื่องสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจผู้ประกอบการในประเทศและดึงงานต่างชาติเข้ามาจัดอีเวนต์ในพื้นที่นี้มากขึ้น”

นอกจากนี้ ทีเส็บยังได้หารือกับนายกสมาคมด้านไมซ์ (MICE: การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) ใน จ.เชียงใหม่ รวมถึงสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ โดยจะเร่งเข้าไปช่วยเหลือและฟื้นฟูสถานที่จัดงานเพื่อให้ฟื้นกลับมามีความพร้อมอีกครั้ง เพราะต้องยอมรับว่ามีความกังวลถึงผลกระทบการจัดงานไมซ์ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี แม้ว่างานอีเวนต์จะลดลงหรือบางงานอาจยกเลิกไป แต่ยืนยันว่าในพื้นที่การจัดงานไม่ได้รับผลกระทบ เพราะอย่างงานชา-กาแฟใน จ.เชียงราย ก็ไม่ได้รับผลกระทบเพราะจัดในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง แต่อาจเลื่อนการจัดงานออกไปบ้าง ทำให้ภาพรวมในช่วงนี้ต้องเร่งอัดงานของผู้ประกอบการภายในประเทศเข้าไปในพื้นที่เพิ่มเติม