‘พราวกรุ๊ป’ เล็งร่วมทุนลุย Entertainment Complex

‘พราวกรุ๊ป’ เล็งร่วมทุนลุย Entertainment Complex

'พราวกรุ๊ป' ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว 'ลิปตพัลลภ' แย้มสนใจร่วมลงทุนพัฒนา 'สถานบันเทิงครบวงจร' (Entertainment Complex) ที่มีกาสิโนเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ

แต่เนื่องจาก พราวกรุ๊ป ไม่เคยทำธุรกิจลักษณะเกมมิ่ง (Gaming) มาก่อน และต้องพัฒนาบนพื้นที่ค่อนข้างใหญ่หลักหมื่นหรือหลักแสนตารางเมตร ทุนจดทะเบียนหลักหมื่นล้านบาท และค่าไลเซนส์หลักพันล้านบาท! ทาง พสุ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท พราว เปิดเผยว่า เชื่อว่าการลงทุนพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจร ไม่สามารถมีนักลงทุนรายเดียวที่ทำได้หมดทุกอย่าง

เมื่อภาครัฐมีความชัดเจนและผลักดันออกมาได้จริงๆ ทางพราวกรุ๊ปคงจับมือกับพันธมิตร เข้าร่วมลงทุนในส่วนที่ถนัด เช่น โรงแรมหรือรีสอร์ตระดับลักชัวรี และสันทนาการอย่างสวนน้ำ หลังจากที่ผ่านมาพราวกรุ๊ปได้พัฒนาโครงการมิกซ์ยูสมาบ้างแล้ว เช่น ในหัวหิน ซึ่งมีสวนน้ำ โรงแรม และคอนโดมิเนียม

“ที่ผ่านมามีนักลงทุนรายอื่นถามๆ เรามาบ้าง เรื่องการเป็นพันธมิตรร่วมลงทุนพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโน ฝั่งผมเองก็ถามๆ เขาบ้างเรื่องที่เขาทำและเราไม่ได้ทำมาก่อน แต่ผมมองว่ากว่าทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องจะผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการนโยบายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร รวมถึงความชัดเจนของร่าง พรบ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร และกว่าไลเซนส์จะออกมานั้น อาจเป็นช่วงปลายวาระรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา”

ส่วน “โลเกชัน” ที่พราวกรุ๊ปสนใจร่วมลงทุน น่าจะอยู่ในโซนใกล้ “ภูเก็ต” เพราะถ้ามาพัฒนาโครงการในกรุงเทพฯ ต้องแข่งกับรายอื่นๆ อีกมาก โดยที่ผ่านมารับทราบมาว่าพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจรในแถบนี้ น่าจะไปโผล่ที่ “พังงา” เพราะว่ากำลังจะมีการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ ทั้งยังมีที่ดินรองรับโครงการขนาดใหญ่มากกว่าภูเก็ต ราคาถูกกว่า และไม่ได้ไกลกันมาก โดยเมื่อมีการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ในพังงา จะต้องมีการทำเรื่องเวนคืนที่ดินอยู่ดี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพิจารณาว่าจะออกแบบสถานบันเทิงครบวงจรไปพร้อมกันเลยหรือไม่ แต่ถ้ามีการเลือกพื้นที่เป้าหมายเป็นในภูเก็ต ก็อาจจะต้องอยู่ใกล้ๆ สนามบินนานาชาติภูเก็ต เพราะราคาที่ดินยังค่อนข้างถูกและการเดินทางไม่ไกล อาจเป็นแถบหาดไม้ขาว ทั้งนี้ต้องรอดูอีกทีว่าจะมีการจัดประมูลอย่างไรด้วย

พสุ กล่าวว่า สำหรับการลงทุนธุรกิจ “โรงแรม” ใน “ภูเก็ต” ของพราวกรุ๊ป เตรียมเดินหน้าลงทุนพัฒนาโรงแรมเพิ่มอีก 2 แห่งใหม่ แบ่งเป็นโรงแรมแบรนด์ในเครือไอเอชจี โฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ต (IHG) และอีกแห่งเป็นแบรนด์จากเชนโรงแรมอื่น ซึ่งจะเน้นงานออกแบบระบบประหยัดพลังงานตั้งแต่ต้น จากปัจจุบันพราวกรุ๊ปมีโรงแรมเปิดให้บริการในภูเก็ตแล้ว 1 แห่ง คือ “อินเตอร์คอนติเนนตัล ภูเก็ต รีสอร์ต” ซึ่งกำลังจะขยายเฟสต่อไป นอกจากนี้ยังมีสวนน้ำ “อันดามันดา ภูเก็ต” ที่ได้กระแสตอบรับดี

“เราอยากรุกลงทุนในภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง เพราะตลาดดี คนเดินทางเข้ามามาก เรตราคาห้องพักก็ดี โดยแนวโน้มภาคการท่องเที่ยวภูเก็ตในไฮซีซันไตรมาส 4 ปีนี้ พราวกรุ๊ปประเมินว่าจะมีผลการดำเนินงานดีกว่าที่เคยคาดไว้เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว และน่าจะดีต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1 ปีหน้า”

อย่างนักท่องเที่ยวตลาด “จีน” เดิมคิดว่าจะหายไปกว่านี้ แต่พอเอาเข้าจริงก็ไม่ได้หายเท่าไรนักในฝั่งธุรกิจโรงแรม ส่วนตลาดหลักอื่นๆ เช่น “รัสเซีย” และ “อิสราเอล” แม้ทั้งสองตลาดกำลังเผชิญสถานการณ์ “ภูมิรัฐศาสตร์” แต่พบว่ากระแสการเดินทางเข้าพักโรงแรมยังสม่ำเสมอ ขณะที่สวนน้ำอันดามันดา พบว่ามีคนเข้ามาใช้บริการหลายพันคนต่อวัน ทำได้เกินเป้าหมาย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจาก “อินเดีย” ที่เติบโตดีมาก ด้านตลาดตะวันออกกลาง และอิสราเอลก็มีจำนวนมากเช่นกัน

ด้านปัจจัย “บาทแข็ง” ทาง พสุ ยอมรับว่า แอบน่าเป็นห่วงในมุมเซ็กเตอร์ภาคท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์อยู่เหมือนกัน แม้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าภูเก็ตจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังจ่ายสูง แต่กลุ่มทั่วไปอาจได้รับผลกระทบจากบาทแข็ง เพราะสินค้าทุกอย่างแพงขึ้น 10% อาจทำให้เลือกไปเที่ยวเดสติเนชันคู่แข่ง เช่น เวียดนาม แทนได้

“ในปี 2568 เรากังวลปัจจัยบาทแข็งว่าจะกระทบฝั่งอสังหาฯ เหมือนกัน”

อย่างโครงการ NUE District R9” คอนโดมิเนียมบนทำเลย่านพระราม 9 มูลค่าโครงการกว่า 6,500 ล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่งเป็นยอดขายจาก “ชาวต่างชาติ” ซึ่งมีการจ่ายเงินดาวน์มาแล้ว 30% เหลืออีก 70% ที่ลูกค้าต้องกู้เงินหรือควักจ่ายเองหากมีการโอนกรรมสิทธิ์ประมาณกลางปีหน้า ตนได้คุยกับฝ่ายขายว่าอยากให้ลูกค้าที่มีกำลังจ่าย จ่ายเข้ามาบางส่วนก่อนได้หรือไม่ เพราะว่าปัจจุบัน “เงินบาทแข็งค่า” อยู่ที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว ถ้าเกิดต่ำกว่าระดับ 30 บาทขึ้นมา ลูกค้าจะแย่ เพราะอยู่ดีๆ คอนโดแพงขึ้นมากกว่า 10% ภาคอสังหาฯ อาจเจอปัญหาจากเรื่องนี้ได้ ว่าถึงเวลาต้องโอนแล้ว ลูกค้าตัดสินใจเบี้ยว ไม่จ่ายส่วนที่เหลือ แต่ขอกับทางโครงการว่าอย่าเพิ่งยึดเงินดาวน์ จะพยายามหาคนมาซื้อคอนโดฯ ต่อเอง ทำให้ดีเวลลอปเปอร์ต้องคอยมอนิเตอร์ผลกระทบจากค่าเงินบาทให้ดี!