'ไทยเบฟ' กางแผนใหญ่ 2573 ดันเหล้า เบียร์ นอนแอลกอฮอล์ผงาดโลก
เปิดโรดแมป 'ไทยเบฟ' ในปี 2573 มุ่งเป้าลงทุน ขยายธุรกิจเหล้า เบียร์ นอนแอลกอฮอล์ อาหาร รักษาผู้นำในตลาดอาเซียน เร่งวางกลยุทธ์รุกตลาดเวียดนามมากขึ้นหลังถูกคุมเข้ม พร้อมมุ่งโฟกัสตลาดกัมพูชา ผลิตโรงงานเบียร์ในปีหน้ารวม 50 ล้านลิตร ชี้ตลาดโตเร็วสุดในภูมิภาค
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานแถลงข่าวกลุ่มบริษัท ไทยเบฟ ประจำปี 2567 ว่า ในปีนี้มีความคืบหน้าที่ดีในการสรรค์สร้างความสามารถ เสริมแกร่งตำแหน่งในตลาด และตราสินค้า รวมทั้งนำศักยภาพของไทยเบฟที่มีอยู่มาก่อให้เกิดมูลค่าสูงสุดในทุกธุรกิจ แม้ที่ผ่านมาจะมีความท้าทายด้านการดำเนินงาน และต้นทุน อันเป็นผลมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แต่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง และการบริหารอัตรากำไร และความเสี่ยงอย่างมีวินัย
ทั้งนี้ด้วยความทุ่มเทร่วมมือร่วมใจกันของกลุ่มไทยเบฟทำให้มีผลการดำเนินงานดีในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เช่นเดียวกับในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และในวันนี้กำลังมองไปข้างหน้า โดยนำจุดแข็งทางการแข่งขัน และขีดความสามารถหลักของเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโต และสร้างมูลค่าให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
"ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต ตามพันธกิจขององค์กร ไทยเบฟต่อยอดความสำเร็จจากแผน PASSION 2025 มุ่งการขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนสู่ PASSION 2030 ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานของกลุ่มเพื่อมุ่งสู่การสู่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงห้าปีข้างหน้า"
เร่งสยายปีกธุรกิจดิจิทัล
กลุ่มมีความตั้งใจที่จะขยายการนำเทคโนโลยี และระบบดิจิทัลมาใช้ รวมถึงประยุกต์ใช้ระบบขายอัตโนมัติ (sales automation) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความรวดเร็ว และประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต การดำเนินงาน รวมถึงการกระจายสินค้า รวมถึงมีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มดิ จิทัลที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า อีกทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต
ทั้งนี้ในเดือนก.ย. 2567 ไทยเบฟได้รับเสียงอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในการทำธุรกรรมแลกหุ้นระหว่างบริษัท อินเตอร์เบฟ อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด (“IBIL”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ไทยเบฟถือหุ้นโดยอ้อมทั้งหมด และบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ลิมิเต็ด (“TCCAL”) โดย IBIL จะทำการโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด (“FPL”) ทั้งหมด 28.78% ให้แก่ TCCAL และ TCCAL จะโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ, ลิมิเต็ด (“F&N”) 41.30% ให้แก่ IBIL
สำหรับธุรกรรมดังกล่าวส่งผลให้ IBIL มีสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N เพิ่มขึ้นเป็น 69.61% โดยกลุ่มจะมุ่งเน้นการรวมธุรกิจและการดำเนินงานของ F&N เข้ากับไทยเบฟ ร่วมเสริมแกร่งศักยภาพในการแข่งขันของกลุ่มในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม พร้อมทั้งสร้างประโยชน์จากการผนึกกำลังร่วมกัน การเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และขยายตลาดของกลุ่มให้หลากหลายยิ่งขึ้น
เบียร์เขมรโตเร็วสุดในอาเซียน ไทยเบฟ เดินเครื่องผลิตโรงงานปีหน้า 50 ล้านลิตร
นายไมเคิล ไชน์ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า ธุรกิจเบียร์ในประเทศไทยมีปริมาณขายที่เติบโตขึ้นอย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะช่วงกลางปี 2567 จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจในเวียดนามยังคงเผชิญความท้าทายจากการบริโภคที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจมหภาคและการบังคับใช้กฤษฎีกาฉบับที่ 100 อย่างเข้มงวด ซึ่งกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้กระทำผิดข้อหาเมาแล้วขับ
อย่างไรก็ดี การเสริมแกร่งของธุรกิจในเมียนมาจากการรวมธุรกิจ F&N เข้ามาเป็นบริษัทย่อย รวมถึงการขยายสู่ตลาดกัมพูชา นับเป็นโอกาสดีช่วยสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจเบียร์
สำหรับ กัมพูชาเป็นตลาดเบียร์ที่เติบโตเร็วที่สุดและใหญ่เป็นอันดับสี่ของอาเซียนเมื่อวัดจากปริมาณขาย โดยมีปริมาณการบริโภครวมต่อปีประมาณ 10 ล้านเฮกโตลิตร ดังนั้น จึงเห็นโอกาสและได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตเบียร์ในกัมพูชา คาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2569 และมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50 ล้านลิตรเมื่อเปิดดำเนินการ
"บริษัทมองเห็นโอกาสในการเติบโตและมุ่งมั่นดำเนินกลยุทธ์ในตลาดหลัก แต่ยังระมัดระวังถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยคาดว่าธุรกิจเบียร์สามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ รวมทั้งมีผลการดำเนินงานที่ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต”
ซาเบโก้ ออกแรงฮึดปั๊มเบียร์ เวียดนาม
นายเลสเตอร์ ตัน เต็ก ชวน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซาเบโก้ กล่าวว่า “Bia Saigon ยังคงเป็นตราสินค้าเบียร์อันดับหนึ่งในเวียดนาม โดยยังคงเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งของตำแหน่งผู้นำผ่านการขยายเครือข่ายการกระจายสินค้า โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเมืองสำคัญต่าง ๆ ผ่านการทำงานกับทีมการค้า เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้เมื่อมองถึงการฟื้นตัวของตลาดโดยรวมในอนาคต จึงได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค โดยมีความมั่นใจว่าบริษัทมีความพร้อมที่จะคว้าโอกาสในการเติบโตใหม่ ๆ ในตลาด
อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำและผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงมุ่งมั่นเสริมสร้างความแข็งแกร่งใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ ความเป็นเลิศด้านการค้า (Commercial Excellence) ประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Efficiency) รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล (ESG)”
อีกทั้งในเดือนส.ค. 2567 ซาเบโก้เปิดตัวเบียร์ 333 Pilsner ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของกลุ่มตราสินค้าเบียร์ 333 โดย 333 Pilsner มีความโดดเด่นจากเบียร์ชนิดอื่น จึงได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคเบียร์รุ่นใหม่ในเวียดนาม
หลังแลกหุ้น TCCAL ต้นทุนผลิตลด
นายโฆษิต สุขสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการประเทศไทย ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ด้วยการนำเสนอสินค้าเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่หลากหลาย ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา
ทั้งนี้ บริษัทดำเนินการตามกลยุทธ์ที่สำคัญเพื่อรวมธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของทั้งกลุ่มให้เป็นหนึ่งเดียว ผ่านการนำหุ้นของโออิชิออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำหุ้นของเสริมสุขออกจากตลาด รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ผ่านสัญญาการแลกเปลี่ยนหุ้นกับ TCCAL เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น ทำให้มั่นใจว่าไทยเบฟจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงจากขนาดการผลิตที่ใหญ่ขึ้น (Economies of Scale) อีกทั้งยังทำให้การดำเนินงานด้านห่วงโซ่อุปทาน และการขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับ ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ได้ดำเนินการภายใต้แนวคิด “เติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งสู่อนาคตยุคดิจิทัล” โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์หลัก 3 ประการ ได้แก่ ตราสินค้า และการเข้าถึง ความเป็นเลิศด้านการผลิต และห่วงโซ่อุปทาน และความยั่งยืน
ส่วนธุรกิจอาหาร โดย นายโสภณ ราชรักษา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล และสมรรถนะองค์กร ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหารประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจโลจิสติกส์ กล่าวว่า บริษัทสามารถเพิ่มการมองเห็น และการเข้าถึงแบรนด์อาหาร และเพิ่มจำนวนคนนั่งทานในร้านผ่านการขยายสาขาใหม่ด้วยรูปแบบร้านที่ต่างกันไปในทำเลยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
อีกทั้งได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และการผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มไทยเบฟ ทำให้สามารถพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวมถึงการบริหารห่วงโซ่อุปทานได้ดียิ่งขึ้น และช่วยบรรเทาผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงได้บางส่วน
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมกลุ่มไทยเบฟ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีรายได้จากการขายรวม 217,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) 38,595 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% โดยได้รับแรงหนุนจากธุรกิจเบียร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มาจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์