ครั้งแรกในโลก ‘คาโอ’ ผนึกเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผลิตเฮ้าส์แบรนด์ป้อนค้าปลีก CP
ไทยเป็นฐานทัพธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่สำคัญของ "คาโอ" สร้างรายได้ติดท็อป 5 ของโลก ท็อป 3 ของเอเชีย ที่สำคัญเป็นตลาดนอกประเทศญี่ปุ่นที่มีประวัติยาวนานสุด 60 ปี คาโอจึงร่วมกับ "เครือเจริญโภคภัณฑ์" ผลิตเฮ้าส์แบรนด์ นำเข้าสิค้าขายเฉพาะค้าปลีกซีพี
ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG)หรือสินค้าจำเป็นมีมูลค่า “หลายแสนล้านบาท” จากสินค้าทั้งผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ(สกินแคร์) สบู่ ครีมอาบน้ำ ผ้าอนามัย ฯ และมีผู้เล่น “ขาใหญ่” ครองตลาดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ 1 ของโลก “ยูนิลีเวอร์” และ “พร็อคเตอร์แอนด์แกมเบิล”หรือพีแอนด์จี รวมถึง “ยักษ์ใหญ่ไทย”อย่าง "เครือสหพัฒน์" และ “เบอร์ลี่ยุคเกอร์” หรือบีเจซี ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” รวมถึง “ทุนญี่ปุ่น” ที่เข้ามาบุกตลาดเดี่ยวๆ อย่าง “คาโอ” ทั้งที่มีพันธมิตร เช่น ไลอ้อน
สินค้าจำเป็นและรักษ์โลกกำลังมี “ผู้ท้าชิงรายใหม่” หน้าเก่าและเป็นทุนใหญ่ เมื่อ “คาโอ” ผนึกกับ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือซีพี ลงนามลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สานภารกิจความยั่งยืนแก่ธุรกิจสินค้าอุปโภคและธุรกิจเคมีภัณฑ์
โยชิฮิโระ ฮาเซเบะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาโอ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งสำคัญของ 2 บริษัทชั้นนำระดับโลก เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของคาโอในการพัฒนาธุรกิจเชื่อมโยงกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย และดูแลให้มีความสุข รวมถึงการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ คำนึงถึงความเป็นอยู่ในอนาคต ด้วยการนำเสนอโซลูชันนวัตกรรมสินค้า และก้าวเป็นองค์กรสร้างความยั่งยืน
“ซีพีและคาโอมีสิ่งที่สอดคล้องกันคือการพัฒนาธุรกิจหลากหลาย เชื่อมผู้บริโภค เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคาโอมีทั้งเคมีภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งสินค้าสุขภาพ ความงาม ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของผู้คน ขณะที่ซีพีมีธุรกิจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานให้สังคม ที่สำคัญซีพีมีการทำงานอย่างเป็นธรรม จริยธรรม เช่นเดียวกับคาโอที่มีคติพจน์การก้าวเดินอย่างถูกต้อง และการร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ครั้งนี้จะเป็นก้าวใหม่ของคาโอในประเทศไทย”
ธนิศร์ เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจค้าส่งแม็คโคร ประเทศไทย บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ในฐานะเป็นผู้แทนเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ความร่วมมือกับคาโอ เป็นโอกาสสำคัญที่เครือซีพี จะผสานกับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของคาโอเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดของเสีย และสอดคล้องกับแนวทางที่หลายประเทศให้ความสำคัญ รวมถึงเทรนด์ของผู้บริโภคชาวไทยในการตระหนักใช้สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะป้อนสินค้ารักษ์โลกผ่านเครือข่ายค้าปลีกค้าส่งในเครือฯ เช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โลตัส และแม็คโคร
ยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นฐานทัพธุรกิจที่สำคัญของคาโอประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากสร้างผลการดำเนินงานที่ดีติดท็อป 5 ของคาโอทั่วโลก และติดท็อป 3 ในตลาดเอเชีย ที่สำคัญบริษัทดำเนินธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจเคมีภัณฑ์ในไทยยาวนาน 60 ปี มีกิจการครบทั้งการผลิตสินค้า การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนนวัตกรรม องค์ความรู้ครบครันเพื่อต่อยอดการเติบโต
สำหรับแผนงานหลังจากเอ็มโอยูกับซีพี จะมีการพิจารณาร่วมกันในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหมวดต่างๆ เช่น ผงซักฟอก รวมถึงศึกษาโอกาสสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ และการพัฒนากล่องบรรจุภัณฑ์และพาเลทแบบพร้อมโชว์(Shelf-Ready Display) เพื่อจัดจำหน่ายแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ภายใต้คอนเซปต์ “Club Model” ที่ แม็คโคร และ โลตัส ทุกสาขา ภายใต้ ซีพี แอ็กซ์ตร้า
โดยการสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ คาโอ อินดัสเทรียลฯ ในประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิต และมุ่งผลิตสินค้าเป็นสิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากปัจจุบันสัดส่วนสินค้าดังกล่าวมีราว 10% เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวพรรณ บิโอเร ผงซักฟอกแอทแท็ค ฯ นอกจากนี้ ยังมองการนำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นมาจำหน่ายแบบ “เอ็กซ์คลูสีฟ” ผ่านช่องทางค้าปลีกของซีพีเพิ่มเติมด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม สกินแคร์ ฯ ซึ่งจะเห็นออกสู่ตลาดปี 2568
“เป็นครั้งแรกของโลกที่คาโอมีความร่วมมือกับพันธมิตรในการผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ ที่เป็นสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เลือกไทยเป็นประเทศแรก เพราะมีประวัติศาสตร์ยาวนานสุด สำหรับธุรกิจคาโอนอกประเทศญี่ปุ่น รายได้ติดท็อป 5 ของโลก และยังมีฐานการผลิตสินค้า มีอาร์แอนด์ดี ถือเป็นฐานทัพที่มีความสำคัญสูงมาก อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือของคาโอกับซีพี ยังไม่ถึงขั้นร่วมทุน เป็นเพียงคอลแลปกันและสร้างพลังร่วมให้กับธุรกิจ”
นอกจากผลิตสินค้าป้อนในประเทศ “คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย)” ยังส่งออกสินค้าจำเป็นไปยังประเทศไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่นด้วย ทั้งนี้ ในประเทศไทย คาโอ มีส่วนแบ่งการตลาดรวมของธุรกิจ(คอร์ปอเรท มาร์เก็ตแชร์)ที่ 10-12% ส่วนในประเทศญี่ปุ่นขึ้นอยู่กับหมวดหมู่สินค้าหรือแคทิกอรี
ปัจจุบันสถานการณ์ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคในไทยถือว่าเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนโควิด-19 ระบาดแล้ว ขณะที่การดำเนินงานของบริษัทปี 2567 ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตจากปี 2566 ซึ่งผลงานค่อนข้างทรงตัว