ค้าปลีกใช้จ่ายสะพัด 2 หมื่นล้าน ร้านค้าโหมโปรฯ ชิงเงินดิจิทัล
ค้าปลีก รับอานิสงส์ “ดิจิทัลวอลเล็ต” สัญญาณบวกบรรยากาศใช้จ่ายคึกคัก ผู้ประกอบการโหมโปรโมชั่นชิงกำลังซื้อ สมาคมค้าปลีกฯ คาดเงินสะพัด 1.4-2 หมื่นล้าน สินค้าอุปโภคบริโภค จำเป็นในชีวิตประจำวัน โกยยอด
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของรัฐบาลผ่าน “ดิจิทัล วอลเล็ต” วงเงิน 1.45 แสนล้านบาท ให้ประชาชนกลุ่มเปราะบาง ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ 14.5 ล้านคน คนละ 10,000 บาท หวังให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจในไฮซีซันนี้
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ประเมินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต กลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ 14.5 ล้านคน ในเฟสแรกนี้ ประชาชนนำเงินใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) เน้นการซื้อสินค้าผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกต่างๆ ทั่วประเทศ ในสัดส่วน 10-20% หรือคิดเป็นวงเงิน 1.4-2 หมื่นล้านบาท
“ประชาชนส่วนใหญ่จะนำเงินไปใช้จ่ายสินค้าจำเป็นต่างๆ เป็นลำดับต้น เป็นการร่วมกระตุ้นบรรยากาศค้าปลีกช่วงสั้นๆ ให้มีความคึกคัก และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้"
สอดคล้องกับ นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแจกเงิน 10,000 บาท เป็นปัจจัยบวกและหนุนการใช้จ่ายในไตรมาสที่ 4 นี้ เป็นผลบวกต่อทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค รวมถึงภาคค้าปลีก ซึ่งมีประเมินว่าจะเป็นผลดีต่อจีดีพีของประเทศประมาณ 0.35%
“หลายฝ่ายประเมินว่าเป็นผลดีต่อจีดีพีประเทศ แต่สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้ไปคือ เม็ดเงินจะหมุนในระบบเศรษฐกิจกี่รอบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางกำลังซื้อที่อ่อนแรงลงและการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่”
นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล รองประธานกรรมการบริหาร กล่าวเสริมว่า ประเมินเบื้องต้น ภายหลังมีนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต มีผลต่อบรรยากาศห้างค้าปลีกที่เริ่มคึกคักมากขึ้น จากการที่มีกลุ่มผู้บริโภคออกมาใช้จ่าย
สำหรับห้างค้าปลีกบิ๊กซีได้จัดกิจกรรมการตลาด ร่วมสนับสนุนกลุ่มลูกค้าเปราะบางให้มีช่องทางการเลือกซื้อสินค้าที่สะดวก ผ่านแคมเปญให้คูปองส่วนลดพิเศษ
ค้าปลีก-อุปโภคบริโภคสะพัด 1.45 หมื่นล้าน
นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ผู้บริหารตั้งงี่สุน จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จากการร่วมหารือกับผู้ประกอบการค้าส่งในทั่วประเทศกับโครงการดิจิทัล วอลเล็ตที่ออกมาแล้วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ยอดขาย เพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากช่วงปกติ โดยกลุ่มลูกค้าออกมาเลือกซื้อสินค้าและของใช้ที่จำเป็น คาดจะมีการใช้จ่ายในกลุ่มค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภคในต่างจังหวัด 10-15% หรือมีการใช้จ่ายประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อคน ในการเลือกซื้อสินค้าจำเป็น กลุ่มอุปโภคบริโภคต่างๆ รวมถึงบางส่วนจะนำเงินไปแก้ปัญหาหนี้สิน
ร้านค้าย่อยอีสานคึกคักโหมโปรโมชั่น
นายสหโชค เพียรการ ผู้ดูแลโครงการ อีสานอินไซต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ภาคอีสานเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีกลุ่มเปราะบางมากสุดในประเทศ ราว 5.5 ล้านคน ได้รับเงินจำนวนเกือบมากสุดของประเทศ จากการประเมินภาพรวมค้าปลีกในภาคอีสาน ภายหลังการมีนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เริ่มมีบรรยากาศที่ดีขึ้น จากการจัดโปรโมชั่นของร้านค้าทั้งรายย่อยและร้านค้าบริการ ที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ร้านเกี่ยวกับบริการซ่อมแซมและล้างสีรถ จัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า
โดยกลุ่มที่ได้รับผลบวกมากสุด 3 กลุ่ม คือ 1.ค้าปลีกรายย่อย โดยเฉพาะร้านค้าโชห่วยในพื้นที่ เนื่องจากพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้ากลุ่มเปราะบางจะชื่นชอบการซื้อสินค้าผ่านร้านค้าขนาดเล็ก สินค้าที่มีสัดส่วนยอดขายสูงในร้านส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากมีราคาสูง 2. กลุ่มค้าส่งและค้าปลีก และ 3.กลุ่มร้านค้าบริการต่างๆ คาดว่าจะร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอีสานได้ในระยะสั้น แต่ระยะยาวต้องประเมินอีกครั้ง
“สำรวจเบื้องต้น ประชาชนในพื้นที่เมื่อได้รับเงิน จะมีการใช้จ่ายทั้งการเลือกซื้อสินค้าของใช้จำเป็น อุปโภคบริโภค การแบ่งเงินไปประกอบอาชีพ และบางส่วนนำเงินไปชำระหนี้”
ยักษ์ใหญ่จัดโปรฯ ส่วนลด
เมื่อสำรวจผู้ประกอบการห้างค้าปลีกรายใหญ่ มุ่งจัดโปรโมชั่นด้วยการให้ส่วนลดพิเศษเพื่อดึงดูดประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้พิการเข้าไปใช้จ่าย ทั้งโลตัส และบิ๊กซี ทั้งการให้ส่วนลดเพิ่ม ตั้งแต่ 30-1,000 บาท เมื่อซื้อตามเงื่อนไข
ขณะที่ ห้างค้าส่ง “โก โฮลเซลล์” จัดแคมเปญพิเศษสำหรับลูกค้าร้านค้าโชห่วยทั่วประเทศ เมื่อซื้อสินค้ายกลังหรือยกแพ็ก จำนวนมากได้รับส่วนลดพิเศษเพิ่มขึ้นร่วมกระตุ้นกำลังซื้อเช่นกัน
นายอานุภาพ คงมาลัย รองประธานบริหารฝ่ายการตลาด มิสเตอร์. ดี.ไอ.วาย. ประเทศไทย (MR. DIY) กล่าวว่า ผลจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐบาลรอบใหม่จะทำให้เกิดการเติบโตขึ้นของยอดขาย ประกอบกับไตรมาส 4 เป็นเวลาในการใช้จ่ายของประชาชนอยู่แล้ว โดย มิสเตอร์ดีไอวาย จัดโปรโมชั่นเพิ่มบัตรกำนัลเงินสด มิสเตอร์. ดี.ไอ.วาย. และแคมเปญต่างๆ ต่อเนื่องกระตุ้นการใช้จ่าย
นางปวิตา โตทับเที่ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด ประเมินว่า มาตรการนี้อาจมีผลกระตุ้นต่อตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในระยะสั้น ในการดึงดูดกลุ่มที่ได้รับวงเงินออกมาใช้จ่ายมากขึ้น แต่ในระยะยาวจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ต้องมีการพิจารณา