สืบสาแหรก ‘ทุนจีนในไทย’ ปีหน้าร้านอาหารจ่อบุกอีกเพียบ ระบุ อยู่ไทย ‘สบายที่สุด’

สืบสาแหรก ‘ทุนจีนในไทย’ ปีหน้าร้านอาหารจ่อบุกอีกเพียบ ระบุ อยู่ไทย ‘สบายที่สุด’

ไม่ได้มาแค่ไทย “พี่จีน” ไปทั่วโลก แต่อยู่ไทยสบายที่สุด! กะเทาะเปลือกเหตุผล “ทุนจีน” เลือกไทย ผู้เชี่ยวชาญชี้ แดนมังกรอยากลงทุน “อินโดนีเซีย” มากสุดในอาเซียน แต่ประเทศไทยเป็นมิตร-สบายสุด หลายคนย้ายสำมะโนครัว จูงลูกสมัครนานาชาติ-ซื้อคอนโดมิเนียมอื้อ

KEY

POINTS

  • ประวัติศาสตร์การบุกไทยของจีน เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ 100 ปีที่แล้ว จนทำให้มี “คนไทยเชื้อสายจีน” ขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในแวดวงธุรกิจมากมาย แต่เมื่อเร็วๆ นี้ จีนทยอยเข้าไทยอีกครั้ง ในฐานะ “ทุนใหญ่” จากเศรษฐกิจจีนที่ไม่มีที่ทางให้โตต่อแล้ว
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจกับจีน บอกว่า โดมิโนตัวสำคัญเกิดขึ้นเมื่อครั้ง “Ant Group” ถูกสกัดกั้น ทำให้นักลงทุนต้องหันหน้าหาธุรกิจอื่นๆ เป็นที่มาของธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจความสวยความงามแบรนด์จีนที่กำลังบุกไทยด้วย
  • นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มี “ทุนต่างชาติ” บุกไทย ก่อนหน้านี้มี “ทุนญี่ปุ่น” และ “ทุนสหรัฐ” แต่ความแตกต่าง คือสรรพกำลังของทุนจีนที่เน้นกินรวบ ทุ่มตลาดอย่างหนัก จนทำให้ธุรกิจตัวเล็กๆ ในระบบอาจถึง “จุดเสี่ยง” ได้

100 ปีที่แล้ว คลื่นคนจีนรุ่นแรกตัดสินใจโล้สำเภาขึ้นบกมายังประเทศไทย หวังลบลี้จากภัยสงครามและความแร้นแค้นที่ยากจะลืมตาอ้าปากได้ ด้วยดีเอ็นเอเลือดนักสู้ ขยัน อดทน หนักเบาไม่เคยเกี่ยง ทั้งยังมีหัวการค้าสูง ทำให้อาณาจักรคนไทยเชื้อสายจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว

ย้อนกลับไปตอนนั้น “ไทย” ไม่ใช่หมุดหมายเพียงแห่งเดียวของชาวจีน แต่ยังมีประเทศรอบข้างแถบทะเลตอนใต้ อย่าง “อินโดนีเซีย” “เวียดนาม” “ฟิลิปปินส์” และ “มาเลเซีย” ด้วย แต่เพราะรายละเอียดทางวัฒนธรรม และความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ “ไทย” และ “เวียดนาม” จึงได้รับความนิยมมากที่สุด

100 ปีให้หลัง ตรงกับช่วงเวลาที่ทั่วโลกเผชิญหน้ากับวิกฤติแพร่ระบาดใหญ่ แม้ขณะนั้นทุกประเทศต้องตั้งรับภายใต้สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน แต่ไม่ใช่บริบทเดียวกันกับประเทศจีนที่เต็มไปด้วยแรงกดดันมหาศาล

“บุญชัย ลิ่มอติบูลย์” ผู้ก่อร่วมตั้ง Pundai และผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจกับจีนที่มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี กางประวัติศาสตร์การมาถึงของ “ทุนจีนในไทย” ภายในงาน “Restaurant Technology Expo 2024” โดยระบุว่า หลังโควิด-19 สิ้นสุดลง “ชูไห่” กลายเป็นคติที่คนจีนยึดถือ โดยมีความหมายว่า “ออกทะเล” หมายถึง การออกทะเลเพื่อนหนีการแข่งขันอันดุเดือด และไปหาโอกาสเติบโตที่อื่นแทน

สืบสาแหรก ‘ทุนจีนในไทย’ ปีหน้าร้านอาหารจ่อบุกอีกเพียบ ระบุ อยู่ไทย ‘สบายที่สุด’

อสังหาฯ ล่มสลาย “ANT Group” โดนสกัด: รอยร้าวทำคนจีนแตกกระเจิง

นอกจากความเข้มงวดของมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงแพร่ระบาดใหญ่ ปัจจัยสำคัญที่บีบให้คนจีนดิ้นหาที่ทางทำกินนอกดินแดนมีจุดเริ่มต้นจาก “วิกฤติอสังหาริมทรัพย์” หากใครยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ “จีน” ดำเนินเศรษฐกิจผ่านการกู้ยืมและลงทุนจำนวนมหาศาลในภาคอสังหาฯ กินสัดส่วนต่อ GDP มากถึง 30% แต่แล้ววันหนึ่งเซคเตอร์ดังกล่าวก็หดตัวลงจากซัพพลายที่เฟ้อมากเกินความต้องการ ทำให้เม็ดเงินที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนนี้กลายเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

“บุญชัย” ชี้ให้เห็นตัวเลขราคาที่อยู่อาศัยในกรุงปักกิ่ง ตั้งแต่ปี 2546 ถึง 2566 พบว่า จากที่เคยไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็กลับเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา แม้แต่ในกรุงปักกิ่งที่เป็นเมืองหลวง ซึ่งมีราคาที่อยู่อาศัยสูงมาโดยตลอดก็ยังเจอกับสภาวะถดถอย และยิ่งตอกย้ำความบอบช้ำมากขึ้นไปอีก จากการล่มสลายของ “เอเวอร์แกรนด์” (Evergrande) ยักษ์อสังหาฯ จีน ที่ยื่นล่มละลายไปแล้วเมื่อปี 2566

เมื่อตลาดอสังหาฯ ไม่สู้ดี คนจีนจึงเริ่มหันไปจับธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 โดยที่รัฐบาลจีนก็มีมาตรการเร่งอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบด้วย ใครที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยแตะออนไลน์แพลตฟอร์มก็หันมาเรียนรู้กันหมด กระทั่งถึงวันที่รัฐบาลถอนคันเร่ง การใช้จ่ายภายในประเทศก็ลดลง หนักเข้าไปอีกเมื่อการส่งออกลดลงไปด้วย จากข้อขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ กลายเป็น “โดมิโน” ที่ไม่ว่าจะเป็นภาคอสังหาฯ การสร้างงาน ห่วงโซ่อุปทานต่างๆ การก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรมเสียหายแทบทั้งหมด

แต่ในช่วงเวลานั้นเองก็มีธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงที่เป็นความหวังของนักลงทุนจีนเพียงหนึ่งเดียว ปี 2564 “Ant Group” บริษัทฟินเทคในเครืออาลีบาบา (Alibaba) กำลังจะเข้า IPO มีทิศทางการเติบโตที่ดีมาก จากโมเดลธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ ทำเงินดี สเกลใหญ่ ปล่อยกู้ให้ทั้งร้านค้าและส่วนบุคคล โดยมีสัดส่วนหนี้เสียเพียง 1% เท่านั้น 

ทว่า ในเวลาต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น “Ant Group” ออกมาประกาศเบรกแผน IPO ช่วงปลายปี 2563 โดยมีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า เกิดจากความต้องการในการคานอำนาจ “แจ็ค หม่า” ของทางการจีน หลังเจ้าตัวขึ้นกล่าวสปีชบนเวทีว่า ระบบระเบียบการเงินจีนเป็นตัวขัดขวางการสร้างนวัตกรรมทางการเงินของประเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่ “Ant Group” ที่ได้รับผลกระทบ แต่ฟากฝั่งธุรกิจ Ed-tech ก็พลอยเจ็บตัวไปตามๆ กัน

สืบสาแหรก ‘ทุนจีนในไทย’ ปีหน้าร้านอาหารจ่อบุกอีกเพียบ ระบุ อยู่ไทย ‘สบายที่สุด’

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว บรรดานักลงทุน และ VC ทั้งหลาย ก็ไม่กล้าลงเงินไปกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียอีกเลย ถึงคราวต้องหาโปรเจกต์อื่นๆ ที่มีลู่ทางโตต่อได้ ไม่ใช่ธุรกิจออนไลน์ ไม่ใช่ฟินเทค แต่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าแฟชั่น-เครื่องประดับ จึงเป็นที่มาของธุรกิจของกินของใช้ภายใต้แบรนด์จีนแบบที่เราเห็นกันตอนนี้ ซึ่งก็รวมไปถึงสินค้าจีนพร้อมภาษาไทยที่แปลแบบตรงไปตรงมา ตามย่าน “ห้วยขวาง” หรือ “บรรทัดทอง” ด้วย

ไปทุกที่ ขอแค่ได้ออกนอกประเทศ แต่ “ไทย” อยู่แล้วสบายที่สุด

เป้าหมายสูงสุดของนักลงทุน คือการสร้างมูลค่าการเติบโตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สร้างกำไรเพิ่มขึ้นอีกสิบเท่า ร้อยเท่า คำถามก็คือถ้าอยู่ในจีนแล้วไปต่อไม่ได้ ต้องทำอย่างไร? นั่นจึงเป็นที่มาของการสยายปีกไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยมี “ไทย” เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

“บุญชัย” เล่าว่า สัก 10 ปีที่แล้ว ตนเคยชักชวนเพื่อนชาวจีนเข้ามาทำธุรกิจในไทย แต่ได้รับคำตอบกลับมาว่า ประเทศไทยมีขนาดเล็ก จีนยังมีโอกาสโตต่อได้อีก หากเทียบเคียงกันแล้ว ประเทศไทยมีขนาดเท่ากับ 1 มณฑลของจีนเท่านั้น ทว่า ปัจจุบันกลับตาลปัตรหมดแล้ว เพราะจีนไม่สามารถโตไปมากกว่านี้ ที่เราได้ยินกันว่า เศรษฐกิจจีนแย่ “บุญชัย” ยืนยันว่า เป็นไปตามนั้นจริงๆ

สำหรับจีน “ไทย” เป็นประเทศรองๆ ที่สนใจรุกทำตลาด เบอร์ต้นที่ต้องการเจาะไข่แดงมากที่สุด คือ “สหรัฐ” ด้วยเหตุผลจากตัวเลขทางประชากรศาสตร์ และกำลังซื้อที่สูงกว่า ส่วนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่น่าจับตามองสำหรับจีน คือ “อินโดนีเซีย” ด้วยเหตุผลเรื่องจำนวนประชากรเช่นกัน รวมถึง “เวียดนาม” ก็ด้วย

สืบสาแหรก ‘ทุนจีนในไทย’ ปีหน้าร้านอาหารจ่อบุกอีกเพียบ ระบุ อยู่ไทย ‘สบายที่สุด’ -บุญชัย ลิ่มอติบูลย์ ผู้ก่อร่วมตั้ง Pundai และผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจกับจีน-

ส่วนไทยแม้จะไม่ได้โดดเด่นด้านใดด้านหนึ่ง แต่ความแตกต่างกับประเทศรอบข้าง คือระบบนิเวศที่เป็นมิตร-เอื้อกับการทำธุรกิจของจีน มาอยู่แล้วค่อนข้างสบายที่สุดหากเทียบกับประเทศอื่น หลายคนย้ายสำมะโนครัวมาตั้งรกรากที่ไทย ไปจนถึงซื้อคอนโดมิเนียม ย้ายลูกเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ

สอดคล้องกับตัวเลขจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่า สัดส่วนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติเติบโตอย่างต่อเนื่อง พบว่า ส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้บริหารต่างชาติในไทย ที่มีการเติบโตโดยเฉลี่ยราวๆ 0.6% ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ก่อนมี “ทุนจีน” ไทยเคยเจอกับ “ทุนญี่ปุ่น” มาแล้ว

กระแสทุนจีนในไทยมักถูกมองในภาพลบเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเน้นการผลิตแบบ “Economy of scale” มีการทุ่มตลาดจนทำให้ท้องถิ่นปรับตัวได้ยาก เรื่องนี้ “บุญชัย” ให้ความเห็นไว้ว่า ก่อนจะมีทุนจีน ประเทศไทยก็มีทุนอื่นๆ เข้ามาก่อนแล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ได้มาด้วยท่าทีกระโตกกระตากเท่านี้ อย่างเมื่อ 20 ปีก่อน “ทุนญี่ปุ่น” เข้ามาบุกไทยหนักมาก มีทั้งสินค้าที่มองเห็น และสินค้าที่มองไม่เห็น ยกตัวอย่างเช่น “AEON” ที่มีผลประกอบการหมื่นล้าน ไปจนถึงแสนล้านก็เป็นทุนญี่ปุ่นเช่นกัน

แต่การทำงานแบบ “คนจีน” คือการบุกเร็ว บุกแรง ใช้เวลาไม่มากแต่ทุ่มทรัพยากรเต็มกำลัง อาทิ แพลตฟอร์ม “Temu” ที่กำลังเป็นประเด็นร้อน เปิดตัวมาได้เพียง 16 เดือน แต่กระจายไปแล้วเกือบๆ 70 ประเทศทั่วโลก หรือการเข้ามาของร้านอาหารจีนที่เต็มไปด้วยการสะกดคำแปลกๆ ถูกบ้างผิดบ้าง ก็เกิดจากวิธีคิดที่ต้องรีบบุก-ชิงตลาดก่อน ความสมบูรณ์แบบไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับคนจีน เพราะแม้จะดูแปลกตา แต่บุญชัยระบุว่า ก็ยังมีคนอุดหนุนร้านจีนเหล่านี้อยู่ดี

สืบสาแหรก ‘ทุนจีนในไทย’ ปีหน้าร้านอาหารจ่อบุกอีกเพียบ ระบุ อยู่ไทย ‘สบายที่สุด’ -ตัวอย่างร้านซูเปอร์มาร์เก็ตจีนในไทย-

ทั้งนี้ การเข้ามาของทุนจีนก็สร้างผลพลอยได้ให้ไทยในแง่หนึ่งเหมือนกัน โดยตอนนี้จีนกำลังเร่งหาทางเข้ามาตั้งโรงงานในไทยเยอะมาก จากการสกัดกั้นสินค้า “Made in China” ของสหรัฐ ซึ่งก็เป็นผลดีอยู่หลายด้าน เพราะได้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เกิดการจ้างงานคนไทย และอีกมุมหนึ่งสินค้าที่จีนเข้ามาตั้งฐานผลิตก็เป็นสินค้าที่ไทยผลิตเองไม่ได้อยู่แล้ว อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หากไม่ซื้อโดยตรงกับแบรนด์จีน ก็อาจเป็นการอุดหนุนสินค้าผ่านตัวแทน หรือเกิดจากการตีแบรนด์ในลักษณะอื่นๆ อยู่ดี

“จริงๆ ยุคที่ญี่ปุ่นมาเยอะๆ เขาก็ผ่านยุคนี้มาเหมือนกัน เพราะญี่ปุ่นเล็กเกินไป เขาต้องการการเติบโตจึงขยายมาที่ไทย โดยเฉพาะธุรกิจการเงินในเมืองไทยมีญี่ปุ่นเป็นเบื้องหลังเยอะมาก ธุรกิจใหญ่ๆ ทั้งนั้น อย่างที่เรารู้สึกว่า จีนดูกระโตกกระตาก เพราะว่าเรามองเห็น ยังมีอีกหลายอย่างที่เรามองไม่เห็น อย่าง “P&G” หรือ “Uniliver” ก็ไม่ใช่ของไทย แต่ทำไมเราไม่รู้สึกว่า เป็นทุนยุโรป ทุนอเมริกามา”

ส่วนประเด็นเรื่องการเข้ามาตั้งโรงงานพร้อมคนของตัวเอง โดยที่ไทยอาจไม่ได้ประโยชน์เลยนั้น “บุญชัย” ชี้ว่า เป็นเพียงส่วนน้อย เพราะการมาพร้อมกับคนจีนมีค่าใช้จ่ายตามมาเยอะมาก ไม่คุ้มค่า ค่าแรงที่จีนแพงกว่าที่ไทยอยู่แล้ว รวมถึงกฎหมายในบ้านเราก็ค่อนข้างชัดเจน การขอวีซ่าทำงาน และใบอนุญาตทำงานไม่ง่าย มีกฏเกณฑ์ยิบย่อยอีกมาก

อาทิ บริษัทต้องมีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท จึงจะได้โควตาคนจากประเทศตัวเอง 1 คน หรือการจดจัดตั้งบริษัทต้องมีพนักงานคนไทยกี่คน โดยมีเพียงบางกลุ่มธุรกิจเท่านั้นที่พาทีมงานคนจีนมาด้วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมาอยู่ไม่เกิน 3 เดือน เมื่อวีซ่าท่องเที่ยวหมดก็กลับออกไป ภาพรวมจึงต้องใช้คนทำงานสัญชาติไทย ซึ่งตนมองว่า เป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

สืบสาแหรก ‘ทุนจีนในไทย’ ปีหน้าร้านอาหารจ่อบุกอีกเพียบ ระบุ อยู่ไทย ‘สบายที่สุด’

หลังจากนี้ จะมีแบรนด์จีนเตรียมบุกไทยอีกมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจในจีนบอกว่า โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจเพื่อการอุปโภคบริโภค ธุรกิจความสวยความงาม จ่อขยายมาไทยภายในปีนี้ และปีหน้าหลายสิบแบรนด์ จริงอยู่ที่การแข่งขันเป็นเรื่องปกติสำหรับวงการธุรกิจ แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็น “ความเสี่ยง” และ “ความท้าทาย” ต่อแบรนด์ตัวเล็กตัวน้อยในบ้านเราเช่นกัน คงเป็นโจทย์ใหญ่ในเครื่องหมายคำถามที่ยังต้องรอคำตอบสุดท้ายจากภาครัฐกันต่อไป