11 ปี ‘ลอว์สัน108’ มี 300 สาขา วางกลยุทธ์ใหม่โฟกัส 'กำไร' มากกว่าจำนวนร้าน
ปี 2566 ครบ 1 ทศวรรษ "ลอว์สัน108" ร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่น บุกตลาดในประเทศไทยพร้อม "ทำกำไร" ได้เป็นปีแรก และปี 2567 ยังกำไรต่อเนื่อง การทำเงินตั้งแต่เปิดร้าน เป็นโจทย์ "สห ลอว์สัน" จะเดินไปข้างหน้า ไม่เน้นสาขามากๆ แต่ขอเปิดแล้ว "กำไร" ทันที
“ค้าปลีก” ถือเป็นอีกสังเวียนธุรกิจที่การแข่งขันสูง เพราะเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าถึงมือผู้บริโภคโดยตรง หากดูสนามแยกย่อยไปยัง “ร้านสะดวกซื้อ” เป็นการต่อกรของ 3 ยักษ์ใหญ่ “เซเว่นอีเลฟเว่น-ท็อปส์ เดลี่-ลอว์สัน 108” จาก 3 ทุนใหญ่และตระกูลดังของเมืองไทยอย่าง “เจียรวนนท์-จิราธิวัฒน์-โชควัฒนา”
ผู้นำตลาดเป็นที่ประจักษ์คือเซเว่นอีเลฟเว่นมีกว่า 1.48 หมื่นสาขา(ข้อมูล ณ ไตรมาส 2 ปี 2567) ส่วนท็อปส์ เดลี่ มุ่งเป้าแตะ 520 สาขาในสิ้นปีนี้ ขณะที่ “ลอว์สัน108”(LAWSON108) ซึ่งธุรกิจปักหมุดในไทย 11 ปีมีประมาณ 300 สาขา
แผนการเติบโตของ “ลอว์สัน108” จากนี้ไป เวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC และกรรมการบริษัท สห ลอว์สัน จำกัด เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงการเปิดร้านสะดวกซื้อของบริษัทจะโฟกัสความสามารถในการ “ทำกำไร” มากกว่าจำนวนร้าน
“ปี 2566 เป็นปีแรกที่ลอว์สัน108 มีกำไร และการขยายธุรกิจร้านสะดวกซื้อของเราจะโฟกัสที่การทำกำไร หรือเรียกว่าเปิดร้านแล้วต้องกำไรทันที”
อดีตการขยายธุรกิจร้านสะดวกซื้อวิธีคิด ตลอดจนแนวทางสร้างการเติบโต คือเร่งเปิดสาขาให้ได้จำนวนมากๆ เพื่อจะมีเป็น “พันสาขา” ให้เข้าถึงและครอบคลุมลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ทว่า เกมกลยุทธ์ต้อง “คิดใหม่” และปรับโมเดลการทำค้าปลีกเพื่อให้มีศักยภาพ ตอบโจทย์ผู้บริโภคและการแข่งขันในสมรภูมิ
“การทำธุรกิจต้องคำนึงถึงกำไร ซึ่งการทำรีเทลแบบเดิมจะเติบโต ต้องเพิ่มจำนวนสาขาให้ได้มาก แต่วันนี้ลอว์สัน เราสามารถมีกำไรได้จากจำนวนร้าน 300 สาขา ทำให้พลิกมุมคิดไม่จำเป็นต้องมีสาขามาก แต่ขอให้ร้านรองรับบริการลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอีกกลุ่มหนึ่งให้ได้”
ย้อนไปช่วงลงสนามค้าปลีกที่มี “ลอว์สัน” เป็นพันธมิตรสำคัญ สหพัฒนพิบูล เคยมองตัวเลขการเปิดร้านต้องทะยานสู่หลัก “พันสาขา” ให้ได้เช่นกัน แต่หากเปิดแล้วไม่สามารถทำกำไรได้ จำนวนย่อมไม่ใช่คำตอบของธุรกิจ
ปัจจุบันร้านลอว์สัน108 มี 300 สาขา ล่าสุด เพิ่งเปิดแฟล็กชิปสโตร์ต้นแบบ “สาขาแรก” ที่อาคารยูไนเต็ดเซ็นเตอร์ สีลม การรอคอยกว่าทศวรรษเพื่อปั้นโมเดลดังกล่าว ส่วนหนึ่งเพราะมี “กำไร” มาต่อยอดการเติบโตนั่นเอง
โอเด้ง เมนูยืนหนึ่งร้านลอว์สัน108
สำหรับแผนปี 2568 “เวทิต” บอกว่า การเปิดร้านลอว์สัน108 มองไว้ประมาณ 50 สาขาเท่านั้น และมีหลายโมเดลทั้งร้านเล็ก ใหญ่ หรือแบบช็อปบนสถานีรถไฟฟ้า ขณะที่สินค้าภายในร้านจะต้องคงอัตลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่น รวมถึง “ความพรีเมียม” เพื่อสร้างความแตกต่าง และดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้มาใช้บริการที่ลอว์สัน108 เท่านั้น เช่น โอเด้ง, ข้าวกล่องปรุงสดในร้าน, ข้าวปั้น, ขนมหวาน และเพิ่มสินค้า “เอ็กซ์คลูสีฟ” อย่างแฟล็กชิปสโตร์ที่เพิ่งเปิด ได้เสิร์ฟ “L chiki” ไก่ทอดสูตรเดียวกับที่ขายที่ร้าน LAWSON ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อขายในไทยเป็นครั้งแรก
“การเปิดร้านไม่ว่าโมเดลแบบไหน แต่ภาพพจน์ของลอว์สันต้องเหมือนเดิม อย่างมีโอเด้ง สินค้าอื่นๆยังต้องตรงกับที่ลูกค้ากำลังมองหา อย่างลอว์สัน108บนสถานีรถไฟฟ้าสินค้าเหมาะกับลูกค้าหยิบแล้วออกไปจากสถานี เป็นต้น”
สำหรับการเติบโตของลอว์สัน108 ตลอด 11 ปี ภาพจำกับผู้บริโภคคือ “ร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่น” ที่ชาวไทยกลุ่มชื่นชอบการไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นนิยมเข้ามาซื้อสินค้า สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่บริษัทต้องจับให้มั่น เพราะกลุ่มนี้ “ใช้จ่ายสูง” และซื้อสินค้าพรีเมียมมากกว่า ปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อ “กำไรขั้นต้น”(Gross Profit : GP) ด้วย
“11ปี ของลอว์สัน108 สิ่งหนึ่งที่เรามองว่าดีคือ เราทำกำไรได้ใน 300 สาขา จากอดีตต้องมองมีร้านสเกลหลักพันสาขา ส่วนแบรนด์สามารถครองใจกลุ่มเป้าหมายได้ เพราะร้านมีสินค้า โดยเฉพาะของกินตอบสนองความต้องการ ซึ่งที่อื่นไม่มี ก้าวต่อไปการเปิดสาขาของเราอาจไม่มาก และไม่วางแผนว่าเดินไปกี่ปีจะมีกี่สาขา แต่ต้องการเปิดแล้วกำไร เราอยู่ได้เลย เพราะตอนนี้เรารู้จักลูกค้า รู้ว่าลูกค้าอยู่ไหน ลูกค้าตรงนั้นต้องการอะไร ส่วนการเปิดแฟล็กชิปสโตร์สาขาแรก เรามีการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ และดูผลตอบรับ เพื่อปรับปรุงให้โดนใจต่อเนื่อง”
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงานผลประกอบการของบริษัท สห ลอว์สัน ในปี 2566 มีรายได้รวมกว่า 2,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% และมีกำไรสุทธิกว่า 8.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 247% จากปีก่อนหน้าเผชิญภาวะขาดทุน ซึ่งเป็นการขาดทุนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การทำกำไรนั่นเอง