ปัญหาเหมือนข้าว 3 มื้อ! เปิดคำสอน ‘เจ้าสัวธนินท์’ ถึงเขยเล็ก ‘ดร.ชวัลวัฒน์’
"เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์" เป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางธุรกิจ สร้างอาณาจักรยิ่งใหญ่มูลค่าล้านล้านบาท จากอาหาร โทรคมนาคม ค้าปลีก ฯ อีกด้านยังเป็น "วีรบุรุษนักธุรกิจ" ในใจของทายาท "เจียรวนนท์" รวมถึงเขยเล็ก "ดร.ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์” หยิบคำสอนพ่อตามาแบ่งปัน
ในวงการความคิดสร้างสรรค์ ธุรกิจบันเทิงครบวงจร ชื่อของ “ดร.ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์” ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท ที แอนด์ บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ย่อมเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งมีภารกิจไม่เพียงผลิตคอนเทนต์ต่างๆ ป้อนคนดู แต่ยังมุ่งมั่นผลักดัน “ซอฟต์พาวเวอร์”(Soft Power) ของไทยให้ก้าวปรากฏในตลาดโลกด้วย
หนึ่งในคอนเทนต์สร้างชื่อให้ ที แอนด์ บี มีเดีย โกลบอลฯ ต้องยกให้ “เชลล์ดอน”(Shelldon) ซึ่งเป็นผลงานที่ “ดร.ชวัลวัฒน์” ผนึกพันธมิตรระดับโลกทั้งฮอลลีวู้ด(Hollywood)และจีน สร้างการ์ตูนแอนิเมชั่นสัญชาติไทยให้เป็นที่รู้จักระดับสากล ด้วยผลงานที่ถูกนำไปออกอากาศกว่า 180 ประเทศทั่วโลก
ทว่า ยิ่งกว่านั้น “ดร.ชวัลวัฒน์” ยังเป็น “เขยเล็ก” ของ “ตระกูลเจียรวนนท์” อีกด้วย ที่การทำธุรกิจไม่เพียงเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยตัวเองแต่ยังได้ “คัมภีร์” จากพ่อตาถ่ายทอดให้ด้วย
จากนักเศรษฐศาสตร์ การเงิน สู่ธุรกิจบันเทิง
กรุงเทพธุรกิจ ได้พูดคุยกับ “ดร.ชวัลวัฒน์” เมื่อเข้ามาเป็นผู้ลงทุนรายการประกวดร้องเพลงฟอร์แมทระดับโลก “เดอะวอยซ์ไทยแลนด์”(The Voice Thailand 2024) เพื่อต่อยอดธุรกิจบันเทิงให้ครบวงจรตั้งแต่ “ต้นน้ำ-ปลายน้ำ”
นอกเหนือจากแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจ “ดร.ชวัลวัฒน์” ยังบอกเล่าเส้นทางธุรกิจคร่าวๆ โดยเฉพาะการรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมบันเทิงที่ถือว่าแข่งขันสูง และท้าทาย ทั้งที่ตัวเองจบการเงิน เศรษฐศาสตร์ แต่ด้วย Passion ที่มีกับธุรกิจบันเทิง จึงเข้ามาปลุกปั้นบริษัทเป็นของตนเองเพื่อขับเคลื่อน และสร้างการเติบโต
“ผมจบการเงิน เศรษฐศาสตร์ แต่ใจชอบธุรกิจบันเทิง ทำทั้งการ์ตูน ภาพยนตร์ ทาเลนต์แมเนจเมนต์ วิชั่นของเราต้องการกระจายความสุขไปทั่วโลกให้ได้”
เทคโนโลยีเชื่อมธุรกิจ สูตรเสริมแกร่งจาก “พ่อตา-ภรรยา”
ปัจจุบันการผลิตคอนเทนต์มีล้นหลามให้ผู้บริโภคเลือกเสพ ทว่า ที แอนด์ บี มีเดีย โกลบอลฯ ไม่ได้มีอาวุธแค่ความคิดสร้างสรรค์มาดึงคนดูให้อยู่หมัด แต่ยุคนี้ต้องนำ “เทคโนโลยี” มาผสมผสานให้ลงตัวและสร้างความแข็งแกร่งด้วย
ลูกสาว-เขยเล็ก-เจ้าสัวธนินท์
ที แอนด์ บี มีเดีย โกลบอล ฯ มีหลากเสาหลักทั้งผลิตซีรีส์ ค่ายเพลง ทำการ์ตูน ฯ ซึ่งการลุยตลาดสร้างการเติบโต ไม่ได้มีแค่ตนเอง แต่ควงภรรยา “ทิพพาภรณ์ (เจียรวนนท์) อริยวรารมย์” ที่ดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มาร่วมด้วยช่วยกันหรือซีนเนอร์ยี ทำให้ 1+1 ต้องไม่ใช่แค่ 2 แต่ต้องกลายเป็น 5 6 หรือ 7 โดยมีเครื่องมือทางการเงิน (Financial Instruments) เป็นตัวช่วยสำคัญ
“เป็นสิ่งที่ผมและภรรยาตั้งใจทำ เรามี 4 แกน ภายใต้ธุรกิจของเรา คือเอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยีหรือ EntTech ภรรยาทำอสังหาฯผสานเทคโนโลยีหรือPropTech เชื่อมต่อกันได้ ซึ่งคุณพ่อคุณบีเอง(เจ้าสัวธนินท์) ก็ทำเทคโนโลยีอาหารหรือ FoodTech ปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต เพราะยุคนี้เราทำแค่ธุรกิจบันเทิงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีเทคโนโลยีมาเมิร์ซกัน เพื่อสร้างประสบการณ์เหมือนจริงหรืออิมเมอร์ซีฟให้ผู้บริโภค”
เส้นทางกว่าจะสำเร็จ เคยลำบากมาก่อน
ในการทำธุรกิจ ผู้คนมักสนใจ “สูตรสำเร็จ” และบรรดา “ทางลัด” ต่างๆ จากผู้มากประสบการณ์ หรืออาจน้อยประสบการณ์แต่ “โค้ชเก่ง” กว่าลงมือทำให้สัมฤทธิ์ผล
ขณะที่ “ดร.ชวัลวัฒน์” แม้จะสร้างเชลล์ดอนให้โด่งดัง หรือมีความร่วมมือกับพันธมิตรมากมาย ผลิตคอนเทนต์ปัง!อื่นๆ เช่น การทำงานร่วมกับ “เฉินหลง” และ “หยางหยาง” รวมถึงผู้กำกับชื่อดัง “สแตนลี่ ตง” ผลิตหนัง “แวนการ์ด” ยังมีการร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีนหรือ CCTV สร้างสรรค์ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ One Belt, One Road ตลอดจนร่วมกับ “อาลีบาบาพิคเจอร์" ร่วมมือเชิงกลยุทธ์ครั้งใหญ่ ผลักดัน Thai-Chinese Soft Power สู่ตลาดโลก ทั้งวิจัย พัฒนา จัดจำหน่ายความบันเทิง และพัฒนาสินทรัพย์ทางปัญญา(IP)ใหม่ มอบประสบการณ์ให้คนดูทั้งไทยและจีน เป็นต้น
ก่อนประสบความสำเร็จ เส้นทางทำงาน “เคยลำบาก” มาก่อน โดยเฉพาะช่วงสร้างสรรค์ “เชลล์ดอน” ที่ต้องหาเงินหรือระดมทุน เมื่อผ่านบททดสอบดังกล่าวมาก่อน ทำให้เป็น “บทเรียน” ในการปรับใช้ธุรกิจ ด้านการเป็น “ผู้สนับสนุนคนเก่ง” หรือทาเลนต์ หนึ่งในนั้นคือการเข้าลงทุนในรายการเดอะวอยซ์ไทยแลนด์2567 นั่นเอง
“ผมเคยลำบากมาก่อน ตอนทำเชลล์ดอน ผ่านช่วง 8 ปี ต้องไปหา Funding หาอะไร เดินหาเองเลย ทุกคนที่ได้เจอบอกว่า..โอ๊ว! ไม่เหมือนกับเป็นดร.เลย เพราะไปถึงหัวเปียกเลย ซึ่งไปพรีเซนต์งาน 200 กว่าแห่ง เพื่อหานักลงทุน เราจึงรู้สึกว่า จริงๆไม่อยากให้คนมีทาเลนต์ ต้องผ่านขั้นตอนแบบเรา ตอนนี้เรามีโอกาส มีพลัง(เงินทุน) จึงหยิบยื่นโอกาสและพลังให้คนเก่งๆ เพื่อสนับสนุนให้เขาเติบโต”
สำหรับการลงทุนรายการเดอะวอยซ์ไทยแลนด์ 2567 ใช้เงินสร้างสรรค์เกือบ 60 ล้านบาท ซึ่ง “ดร.ชวัลวัฒน์” ย้ำว่าตนเป็นเพียงคนต่อจิ๊กซอว์หรือ Composer ให้คนเก่งได้ปล่อยของเต็มที่ตามความสามารถของตนเอง
Break the Ice พาคอนเทนต์ Soft Power ไทยไปทั่วโลก
จากนักการเงิน สู่ผู้กุมบังเหียนธุรกิจบันเทิง เป้าหมายของ “ดร.ชวัลวัฒน์” คือการนำพาคอนเทนต์ และซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปขจรไกลทั่วโลก เหมือนกับการ์ตูนแอนิเมชั่น “เชลล์ดอน” สามารถทำได้สำเร็จ
อย่างการลงทุนเดอะวอยซ์ไทยแลนด์ บริษัทต้องการเฟ้นหาทาเลนต์เก่งร้องเต้น ไปปั้นเป็นศิลปินภายใต้ค่ายเพลง “YouSayWatt” ที่เจาะแนวเพลงป็อป ยังมีค่ายใหม่เสริมแกร่งอย่าง “DekWatt” รองรับแนวเพลงลูกทุ่ง เพื่อชีวิต และลูกกรุง ที่เชื่อว่าจะมาแรง
มีต้นน้ำดี กลางน้ำต้องแกร่ง ซึ่งบริษัทมีการปั้น Channel เพื่อให้ทาเลนต์ได้เสิร์ฟคอนเทนต์ให้คนดูทั่วโลก และเห็นในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือปี 2569 คือแพลตฟอร์มเมตาเวิร์ส “Translucia” จะเป็นอาวุธสำคัญสานเป้าหมายใหญ่
“การแข่งขันยุคนี้ Content is King แต่ Platform is a God คอนเทนต์ดีเดินต่อไป ต้องมีช่องทางทำให้ทราเวลทั่วโลก ไม่แค่ไทย” เขาเล่าและขยายความว่าจะทำคอนเทนต์ระดับโลก ต้องไม่คิดแบบโลคัล ดังนั้นต้องหาเงินลงทุน ขยายตลาด เพื่อให้มีงบก้อนโต สร้างสรรค์ผลงานต่อไป
“ผมเชื่อว่าเรา(คนไทย)ช่วยกันทำให้เป้าหมายเกิดขึ้นได้ อาจจะใช้เวลานิดหนึ่งในการ Break the ice ของแต่ละคน แต่ยังเชื่อมัน และมั่นใจศักยภาพ ของทุกคน สามารถไปได้ ถ้าผมมีส่วนช่วยผลักดันวงการนี้ได้ ยินดีเต็มที่”
“ปัญหา” เหมือนข้าว 3 มื้อ คำสอนพ่อตา “เจ้าสัวธนินท์” ถึงเขยเล็ก
เพราะเป็น “เขยเล็ก” ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งอาณาจักรใหญ่เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ทำให้เขยเล็กได้ศึกษา “คัมภีร์ธุรกิจ" จากพ่อตา ทั้งการนำเทคโนโลยีมาผสานกับทุกเสาหลัก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบันเทิง อสังหาริมทรัพย์ ทาเลนต์แมเนจเมนต์ ฯ
แม้แต่ช่วงเผชิญวิกฤติโควิด-19 ระบาด ซึ่งมีเกือบ 30 โปรเจคที่ต้องทำ เช่น หนังสเกลใหญ่ที่ร่วมงานกับเฉินหลง ตอนนั้นนึกว่าไวรัสร้ายจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว กลับตรงข้าม เพราะผลกระทบลากยาวหลายปี นั่นกลายเป็นช่วงเวลาเรียนรู้ในทุกวิกฤติมีโอกาสซ่อนแทรกตัวอยู่เสมอ แต่ในฐานะนักธุรกิจต้องไม่ติดแหง็กกับวิกฤติ
“โชคดีผมได้พ่อตาสอนตลอด เวลามานั่งทานข้าว จะสอนสิ่งต่างๆ อย่างตอนนั้นช่วงโควิด สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ได้ทำเมตาเวิร์ส มีการนำEntTech มาผสมผสาน มองย้อนไปหากไม่เกิดวิกฤติ อาจไม่ได้คิดถึงเทคโนโลยีมากเท่าไหร่ เพราะขณะนั้นผมโฟกัสเรื่องคอนเทนต์ คอนเทนต์ คอนเทนต์ แต่เมื่อเรามองวิกฤติ หาแนวทางแก้ไขสถานการณ์ จะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทันที”
ขึ้นชื่อวิกฤติย่อมหมายถึง “ปัญหาใหญ่” ที่ต้องฝ่าไปให้ได้ “ดร.ชวัลวัฒน์” ยังหยิบอีกคำสอนของพ่อตามาเล่าด้วย
“ท่าน(เจ้าสัวธนินท์)บอกเลยว่า เวลาปัญหามา ไม่ต้องไปกลัวอะไรทั้งสิ้น ปัญหาเหมือนข้าว 3 มื้อที่เราทาน ยิ่งทำงานใหญ่ๆ ย่อมเหมือนกินข้าว 3 มื้อที่ต้องเจอ ถ้าคุณไม่ทำธุรกิจ ก็ไม่มีปัญหา.. อันนี้เหมือนข้าว 3 มื้อ คิดไปได้เลย เราเจอทุกวันแน่นอน”
หากความสำเร็จดีใจได้วันเดียว เป็นหนังสือที่บอกเล่าวิธีคิด การสร้างอาณาจักรธุรกิจของ “เจ้าสัวธนินท์” ย่อมไม่พลาดที่เขยเล็กจะยึดปฏิบัติด้วย
“การดีใจ ก็ดีใจได้แค่วันเดียว วันรุ่งขึ้นเราต้องหาวิธีการ กลยุทธ์ใหม่ เดินต่อยังไง คำสอนเหล่านี้เลยทำให้ผมและคุณบี(ภรรยา)นำมาใช้ในการทำธุกิจ”
ดร.ชวัลวัฒน์ ให้โอกาสสนับสนุนคนเก่งได้ปล่อยของโชว์ฝีมือ ขณะที่ “ทิพพาภรณ์” ภรรยาก็เป็นผู้ชื่นชอบงานช่วยเหลือสังคม ทำมูลนิธิ ปัจจุบันช่วยเด็กกำพร้า ผู้ด้อยโอกาสร่วม 3 หมื่นชีวิตแล้ว การทำ 2 สิ่งเหมือนกันคือเป็น “ผู้ให้” แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดไม่ได้ หากไม่วางรากฐานธุรกิจให้แกร่ง มีเงินเพื่อสานภารกิจดังกล่าว
“คุณพ่อ(เจ้าสัวธนินท์)บอกว่า ถ้าคุณบีไม่หาเงิน คุณบีไม่มีทางจะช่วยคนได้ อยู่ๆจะไปเอาเงินคนนั้น ช่วยคนนี้ ไม่มีใครให้เราได้ตลอด จึงต้องทำธุรกิจขึ้นมา นี่คือสาเหตุของการทำธุรกิจด้วย”
กุญแจความสำเร็จธุรกิจ เงินทุนสำคัญ เพื่อมาต่อยอดไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ ทว่า “สายสัมพันธ์” หรือ Connection เป็นอีกศาสตร์ที่นักธุรกิจต้องมี ซึ่ง “ดร.ชวัลวัฒน์” ทิ้งท้ายว่า สมัยเรียนที่สหรัฐฯ เป็นคนชอบ “สร้างมิตรภาพ” ด้วยการ Say Hello ไปทั่วจนอาจถูกมองติ๊งต๊องหรือเปล่าด้วยซ้ำ
“มิตรภาพ เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อน Passion สร้างสรรค์สิ่งดีๆขึ้นมา และผมเป็นคนที่มาจากภาคการเงิน ผมเป็นอาจารย์ ไม่ได้มาสายเอ็นเตอร์เทนเมนต์ แต่เข้ามาในธุรกิจนี้เพราะใจรัก ครอบครัวผมทำของขวัญ ของชำร่วย จึงอยากส่งข้อคิดดีๆ ด้วยการเริ่มทำเชลล์ดอนออกมา และรู้ตัวอีกที เกิดมาชีวิตนึงก่อนจะจากไป ต้องสร้าง Legend ทิ้งไว้”