เปิดรายได้อินฟลูเอนเซอร์ไทยต่อการโพสต์ ตั้งแต่ไมโคร-แม็คโคร อู้ฟู่!

เปิดรายได้อินฟลูเอนเซอร์ไทยต่อการโพสต์ ตั้งแต่ไมโคร-แม็คโคร อู้ฟู่!

เจาะรายได้อินฟลูเอนเซอร์ไทย แบ่งเป็น 4 กลุ่ม นาโน-ไมโคร-มิดเทียร์-แม็คโคร รับรายได้เท่าใดต่อการโพสต์หนึ่งครั้ง! 'เทลสกอร์' ชี้เทรนด์มาแรง

“สุวิตา จรัญวงศ์” ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด (Tellscore) ฉายภาพตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ของประเทศไทยในปี 2567 ยังมีทิศทางขยายตัวและไม่เห็นสัญญาณชะลอตัวลง เนื่องจากภาคธุรกิจต่างเลือกทำตลาดผ่านคอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ

อีกทั้งพฤติกรรมของคนไทยให้ความสำคัญกับการใช้เวลาในโลกออนไลน์สูงอันดับต้นๆ ในโลก และจากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) พบว่าคนไทยมีการอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอยู่ที่ประมาณ 89.5% และมีช่องทางโซเชียลมีเดียมากถึง 50 ล้านคน คิดเป็น 71.5% ของประชากรทั้งหมด

“ยังไม่เห็นสัญญาณการอิ่มตัวของตลาดอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ของประเทศไทย เพราะการสื่อสารด้วยการพูดยังมีอิทธิพลสูง แต่เห็นการปรับตัวของตลาด ทั้งกลุ่มที่ทำผ่านติ๊กต๊อกได้ปรับไปสู่การทำ อีคอมเมิร์ซมากขึ้น หรือ มุ่งเลือกทำเฉพาะคอนเทนต์อย่างเดียว” 

สำหรับการจัดกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในประเทศไทย แบ่งเป็น

  • นาโน-อินฟลูเอนเซอร์ (Nano-influencer) ที่มียอดผู้ติดตาม ประมาณ 1,000- 1 หมื่นคน มีเรทรายได้ประมาณ 3,000-5,000 บาท ต่อการโพสต์
  • ไมโคร-อินฟลูเอนเซอร์ (Micro-influencer)  มีจำนวนผู้ติดตาม 1-5 หมื่นคน มีเรทรายได้ประมาณ 5,000-10,000 บาทต่อโพสต์
  • มิดเทียร์-อินฟลูเอนเซอร์ (Mid-tier influencer)   มีจำนวนผู้ติดตาม 5 หมื่นคน จนถึง 5 แสนคน มีเรทรายได้ประมาณ 1-3 หมื่นบาทต่อโพสต์
  • แม็คโคร-อินฟลูเอนเซอร์ (Macro-influencer) มีผู้ติดตามประมาณ 5 แสนจนถึง 1 ล้านคน มีเรทรายได้ประมาณ 3 หมื่นบาท จนถึง 1 แสนบาทต่อโพสต์ 

ช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงในการนำเสนอ

  • ติ๊กต๊อก (TikTok)
  • ยูทูบ (YouTube)
  • เฟซบุ๊ก (Facebook)

วีดีโอสั้นที่ได้รับความนิยมสูง มีระยะเวลาประมาณ 1.50-2 นาที เนื่องจากแต่ละแพลตฟอร์มเป็นช่องทางที่เข้าถึงลูกค้าได้จำนวนมหาศาล ทำให้ยอดการใช้จ่ายของภาคธุรกิจผ่านกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ยังไม่ลดลง 

กลุ่มผู้ผลิตที่มาแรงในประเทศไทย เป็น 3 กลุ่ม

  1. นิวครีเอเตอร์ (News creator) ที่มีผู้สื่อข่าวไปจัดทำช่องเพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากกลุ่มลูกค้าอยู่ในระดับสูง
  2. การทำคอนเทนต์ด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ (Education-science) จากความสนใจที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  3. การทำคอนเทนต์สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ (Family) ที่มีเทรนด์กลุ่มครอบครัวมาเปิดช่องร่วมกัน จึงได้รับความสนใจมีกลุ่มลูกค้าติดตามและเลือกซื้อสินค้า