‘Tops Daily’ สู้ศึกสมรภูมิ ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ตั้งเป้าเปิดให้ครบ 520 สาขา
สะดวกซื้อยังแข่งเดือด! “เซ็นทรัล รีเทล” เผยทิศทางธุรกิจปีนี้ ดัน “Tops Daily” ขยายมากสุด 520 แห่ง เน้นเจาะย่านชุมชน-ลุยแหล่งท่องเที่ยว หวังเก็บกำลังซื้อทัวร์ริสต์เพิ่ม ตั้งเป้าเชื่อมต่อเครือข่ายทั้งอาณาจักร แม้ซื้อของที่ “Tops Daily” ก็สั่งสินค้าจาก “บ้านใหญ่” ได้
หลังเสร็จสิ้นภารกิจรีแบรนด์-ปรับโฉม จาก “แฟมิลี่มาร์ท” (Family Mart) สู่ “ท็อปส์ เดลี่” (Tops Daily) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 “เซ็นทรัล รีเทล” ก็เดินเกมลุยตลาดสะดวกซื้อเต็มกำลัง นอกจากการรีโนเวทสาขาใหม่ ยังสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการประกาศขายแฟรนไชส์ “ท็อปส์ เดลี่” เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ด้วยมูลค่าตลาดสะดวกซื้อที่มีตัวเลขสูงถึง 6.38 แสนล้านบาท (อ้างอิงจากวิจัยธุรกิจธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์) กลยุทธ์เคลื่อนทัพของบ้านท็อปส์จึงมีคอนวีเนียนสโตร์เป็นพระเอกคนสำคัญ โดยตั้งเป้าขยายให้ได้มากถึง 520 แห่งในปีนี้
“สเตฟาน คูม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฟู้ด เซ็นทรัล รีเทล เล่าย้อนว่า ปี 2562 “ท็อปส์” ต้องเจอกับความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะเหตุการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ จากนั้นก็มีเรื่องภาวะเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับตอนนี้สถานการณ์เริ่มเป็นบวกมากขึ้น โดยครึ่งปีแรกพบว่า มีสัญญาณที่ดีหลายอย่างทำให้มีการเปิดสาขาใหม่ๆ ตามมา เนื่องจากสัดส่วนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการหน้าร้านเพิ่มมากขึ้น
-“สเตฟาน คูม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฟู้ด เซ็นทรัล รีเทล-
ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีปริมาณการเข้าใช้บริการที่ร้านเพิ่มขึ้น 11% และมีจำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นราว 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนตัวเชื่อว่า หน้าร้านยังไปต่อได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมที่จะเพิ่มช่องทางใหม่ๆ ให้ลูกค้าเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย “Omni-channel” เป็นอีกช่องทางที่จะเข้ามาตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค ตามยุคสมัยที่ไม่ได้ซื้อหน้าร้านหรือซื้อช่องทางออนไลน์เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
ด้าน “เมทินี พิศุทธิ์สินธพ” รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หลังจากมีการปรับโฉมจาก “แฟมิลี่มาร์ท” สู่ “ท็อปส์ เดลี่” พบว่า ภาพรวมผลประกอบการดีขึ้น เพราะผู้บริโภครู้จักคุ้นเคยกับชื่อแบรนด์ท็อปส์อยู่แล้ว ฟีดแบ็กที่ได้รับมีลูกค้าบอกว่า ที่ร้านมีสินค้าที่หลากหลายโดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่มีมากกว่าคู่แข่ง การจัดโซนสินค้าในร้านก็สะดวกต่อการซื้อหา รวมถึงการบริการ โปรโมชัน และบริการหลังการขายก็เป็นไปในทิศทางบวกด้วย
และแม้ว่า “ท็อปส์ เดลี่” จะวางจุดยืนตัวเองเป็นร้านสะดวกซื้อ ทว่า ด้วยอีโคซิสเทมทั้งระบบของท็อปส์ ตั้งแต่ “ท็อปส์ ฟู้ดฮอลล์” (Tops Food Hall) “ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต” (Tops Supermarket) “ท็อปส์ เดลี่” (Tops Daily) “ท็อปส์ ไวน์ เซลล่าร์” (Tops Wine Cellar) และ “มัทสึคิโยะ” (Matsukiyo) ทำให้เป้าหมายของสะดวกซื้อแห่งนี้คิดข้ามช็อตไปไกลกว่านั้น “เมทินี” ระบุว่า เครือท็อปส์ต้องการทำให้เห็นว่า ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถซื้อสินค้าตามต้องการได้ แม้สินค้าชิ้นนั้นจะไม่มีวางขายที่ร้านท็อปส์ เดลี่ ก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการซื้อสินค้าที่มีขายในท็อป ซูเปอร์มาร์เก็ต ก็สามารถสั่งที่ท็อปส์ เดลี่ ได้เลย
ส่วนเป้าหมายระยะยาวหลังจากนี้ คือการเปิดให้ครบ 520 แห่ง ในปี 2567 ต้องการทำเลที่มีโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น เน้นไปที่ย่านชุมชนกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีทัวร์ริสต์มากก็จะเป็นโอกาสในการเข้าใกล้ลูกค้า โดย “ท็อปส์ เดลี่” ต้องการเป็นฮับให้ร้านในเครือท็อปส์ทั้งหมด ด้วยขนาดร้านค้าที่กะทัดรัดกว่าสเกลอื่นๆ ในเครือ เชื่อว่า “ท็อปส์ เดลี่” จะทำหน้าที่เป็นหัวหอกให้บ้านท็อปส์ทั้งหมดได้
สำหรับเม็ดเงินการลงทุนในปีนี้อยู่ที่ 1,600 ล้านบาท โดยไม่ได้ลงรายละเอียดว่า สัดส่วนของท็อปส์ เดลี่ มีมูลค่าเท่าไหร่ เปิดเผยเพียงว่า ปีต่อไปหลังจากนี้จะมีการลงทุนมากกว่างบลงทุนปีนี้ วางเป้าหมายใหญ่ภายใน 4 ปี ต้องเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อเนื่องทุกปี เพื่อเป็นเชนซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในไทย ด้วยสาขารวมกันทั้งเครือมากกว่า 1,000 แห่ง ภายในปี 2570