‘สมาคมนักบินไทย’ ชงรัฐ แก้วิกฤติ ‘นักบิน’ ล้นตลาด
'นักบิน' หนึ่งในอาชีพ (เคย) ร้อนแรงแห่งยุค! โดยเฉพาะช่วง 10 ปีก่อนโควิด-19 บรรดาสายการบินต่างแย่งชิงตัวด้วยการอัปรายได้ บ้างไหลไปสายการบินตะวันออกกลางที่ขณะนั้นเฟื่องฟูในฐานะฮับการบินของโลก จนเกิดภาวะขาดแคลนนักบิน โรงเรียนการบินต่างเร่งผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก
พอมหาวิกฤติโควิดทุบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการเดินทางครั้งใหญ่ ส่งผลให้ “นักบินตกงาน” ไปตามๆ กัน เนื่องจากสายการบินจำเป็นต้องปรับลดขนาดธุรกิจ ลดจำนวนฝูงบินลงเพื่อประคองสถานการณ์ให้ไปรอด กระทั่งผ่านพ้นยุคมืดของอุตสาหกรรมฯ มาได้ แม้หลายๆ สายการบินต่างมีแผนฟื้นฟูขนาดฝูงบินสู่ภาวะปกติ ปูพรมสู่การเติบโตระยะยาว แต่ดูเหมือนว่าดีมานด์เครื่องบินกับซัพพลายนักบิน จะยังหาจุดสมดุลไม่เจอในปัจจุบัน!
กัปตันธีรวัจน์ อังคสกุลเกียรติ นายกสมาคมนักบินไทย ปัจจุบันมีสมาชิกนักบินกว่า 700 คน เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้มีสายการบินรายหนึ่งของไทย ได้ยื่นหนังสือไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อขอใช้ “นักบินต่างชาติ” ซึ่งมากับการเช่าเครื่องบินแบบ “Wet Lease” ที่มาทั้ง “ACMI” ได้แก่ Aircraft เครื่องบิน, Crew นักบินและลูกเรือ, Maintenance ช่างซ่อมบำรุง และ Insurance ประกัน เพื่อทำการบิน “เส้นทางในประเทศ” เป็นการชั่วคราว
ประเด็นนี้ไม่เพียงผิดกฎหมายแรงงานที่กำหนดว่า “นักบิน” เป็น “อาชีพสงวน” ของคนไทยเท่านั้น แต่ยัง “สุ่มเสี่ยง” ที่จะทำให้ประเทศไทยกลับมา “ติดธงแดง” จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพราะอนุสัญญาชิคาโก มาตรา 83 ที่ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในประเทศภาคีที่จะดำเนินการเรื่องนี้ได้
สมาคมฯ จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พิจารณาถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างถ้วนถี่ ว่าประชาชนได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เช่น ราคาตั๋วเครื่องบินถูกลงจากการนำเครื่องเช่าแบบ Wet Lease เข้ามาใช้งานหรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้วราคาตั๋วเครื่องบินย่อมเป็นไปตามกลไกตลาดอยู่ดี ไม่ใช่มาบอกว่าอยากส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้วมาปลดล็อกกฎหมายหรือยกเว้นให้ชั่วคราว ถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้านิดเดียวแต่สร้างผลกระทบระยะยาวตามมา เพราะถ้าสายการบินหนึ่งทำได้ สายการบินอื่นๆ ก็อาจทำได้เช่นกัน เพราะหน่วยงานราชการไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้
“แม้สถานการณ์ของสายการบินจะประสบปัญหาขาดแคลนเครื่องบินในตลาดโลกตอนนี้ แต่สมาคมฯ มองว่าการจัดหาเครื่องบินแบบ Dry Lease (เช่าเครื่องบินเปล่า) เป็นแบบที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย เหมาะสมมากกว่าการจัดหาแบบ Wet Lease โดยล่าสุดสมาคมฯ ทราบมาว่า สายการบินรายดังกล่าวได้ปรับแผนจะไม่เช่าเครื่องบินแบบ Wet Lease แล้ว และจะเปลี่ยนไปเช่าแบบ Dry Lease แทน”
สำหรับภาพรวมตลาดนักบินในประเทศไทย ปัจจุบันมี “นักบินตกงาน” อยู่กว่า 1,736 คน จากผลกระทบของโควิด และนักเรียนที่จบใหม่ และยังว่างงานอยู่ จากการผลิตนักบินใหม่ของโรงเรียนการบินที่เกินความต้องการของตลาดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมกันแล้วมากกว่า 2,000 คน สมาคมฯ จึงมองว่าสายการบินสามารถดึงนักบินจบใหม่ และนักบินว่างงานมาปฏิบัติการบินได้
“ตอนนี้มีนักบินในไทยที่ทำการบินจริง 3,000 คน ถือว่าเพียงพอกับปริมาณเครื่องบินที่มีอยู่ แต่จากการพยากรณ์ของหลายสำนัก มองว่าโอกาสที่ประเทศไทยจะขาดแคลนนักบินอยู่ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า”
กัปตันธีรวัจน์ เล่าเพิ่มเติมว่า อีกประเด็นสำคัญที่สมาคมฯ ให้ความสำคัญ และอยากเห็นรัฐบาลสนใจ เข้ามาแก้ปัญหาโมเดลการผลิตนักบินแบบ “Pay to Fly” อย่างจริงจัง หลังจากบางสายการบินได้เริ่มเปิดรับสมัครนักบินด้วยโมเดลนี้ แต่ผู้สมัครต้องจ่ายเองรวมกว่า 6 ล้านบาทต่อคน แบ่งเป็นค่าเรียนนักบินพาณิชย์ตรี 3 ล้านบาท และค่า Type Rating (สอบการฝึกบินในเครื่องบินในแบบที่จะทำการบิน) อีก 3 ล้านบาท ถือเป็น “กำแพง” กีดกันคนที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินได้
ที่สำคัญ...เรื่องนี้อาจส่งผลต่อคุณภาพของนักบิน เกิดการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม และส่งผลต่อมาตรฐาน “ความปลอดภัยสาธารณะ” ด้านการบินลดลงแบบทีละเล็กทีละน้อย สาเหตุหลักเกิดจากความไม่สมดุลของดีมานด์ซัพพลายตลาดนักบิน และเมื่อนักบินต้องเป็นหนี้กว่า 6 ล้านบาทด้วยการยอมจ่ายเงินเองไปก่อน อาจทำให้นักบินเกิดความเครียดได้ หากไม่มีเงินเพียงพอต่อค่าครองชีพ
“บางสายการบินอาจไปรับโมเดลการผลิตนักบินแบบ Pay to Fly จากต่างประเทศมาใช้ ซึ่งรัฐบาลในหลายประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญว่าจะกระทบต่อความปลอดภัยสาธารณะในอนาคต จึงทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจ้างงานในลักษณะนี้”
สมาคมฯ จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาโมเดลการผลิตนักบินแบบ Pay to Fly เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหานี้ลุกลามบานปลาย โดยในอดีตยังมีบางโมเดลที่พอรับได้ เช่น บางสายการบินจัดหาแหล่งเงินทุนให้นักบิน มาฝึกบิน แล้วไปผ่อนจ่ายกับสถาบันการเงิน ซึ่งเรื่องนี้สมาคมฯเข้าใจได้ เพราะสายการบินคงไม่สามารถให้ทุนนักบินทุกคนได้ ท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังต้องการให้หน่วยงานรัฐยกเว้นประเด็นในบางเรื่องของการผลิตบุคลากรด้านการบิน ตามกฎระเบียบใหม่ Thailand Civil Aviation Regulation ด้าน Personnel Licensing (TCAR)ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAATโดยสมาคมฯ อยากขอให้พิจารณายกเว้นข้อกำหนดที่ต้องใช้ใบสำคัญทางการแพทย์ ในการต่อใบอนุญาตนักบิน ให้กับกลุ่มนักบินที่เกษียณแล้วแต่มาทำหน้าที่สอนบิน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้ขึ้นบินจริง อย่างมากก็คือ สอนในเครื่องฝึกบินจำลองเท่านั้น ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนครูผู้สอนได้มากขึ้น
ทั้งหมดนี้คือ “3 ข้อเสนอ” จากสมาคมนักบินไทย ที่ต้องการเห็นรัฐบาล และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” พิจารณาเร่งดำเนินการ เพื่อพัฒนาธุรกิจการบินของไทย และเร่งแก้ปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินในระยะยาว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์