‘Starbucks’ ตามใจ CEO ใหม่ อัดฉีด ‘เครื่องบินเจ็ท’ นั่งไปกลับออฟฟิศ

ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ แต่ถ้าจำเป็นก็แล่นเจ็ทมาได้เลย! “Starbucks” เล่นใหญ่ อัดฉีดเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวให้ผู้บริหารบินนั่งไปกลับออฟฟิศได้ เหตุต้องเดินทางบ่อยขึ้น จากจำนวนสาขามากกว่า 39,000 แห่งทั่วโลก ด้าน “Greenpeace” ระบุ ดีลดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้
กระแสข่าวการเปลี่ยนตัวผู้บริหารสตาร์บัคส์ (Starbucks) เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเป็นที่จับตามองในแวดวงธุรกิจอย่างกว้างขวาง จากผลประกอบการของกาแฟเงือกเขียวที่ลดลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี นำมาสู่การปลด “ลักซ์แมน นาราซิมฮาน” (Laxman Narasimhan) ที่เข้ามานั่งเก้าอี้ผู้บริหารได้เพียงปีเศษๆ สู่ความหวังในการพลิกฟื้นเชนระดับโลกกลับสู่ยุคทองอีกครั้ง ด้วยการดึงตัว “ไบรอัน นิคโคล” (Brian Niccol) ผู้บริหารที่คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมอาหารมาแล้วมากมาย นั่งประจำการตำแหน่งหัวเรือใหญ่อย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้
หากจะบอกว่า เดิมพันครั้งนี้เป็นการเปิดหน้าไพ่-เทหน้าตักครั้งใหญ่ของสตาร์บัคส์ก็คงไม่ผิดนัก เพราะบริษัททุ่มให้เงินเดือนซีอีโอคนใหม่มากถึง 56 ล้านบาท โบนัสอีก 350 ล้านบาท หุ้นมูลค่า 800 ล้านบาท เงินรางวัลจากหุ้นอีก 2,600 ล้านบาท รวมๆ แล้ว “นิคโคล” ได้รับผลตอบแทนมูลค่ารวมกว่า 3,000 ล้านบาท แถมยังได้รับสิทธิพิเศษด้วยการทำงานจากทางไกล ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ แม้ว่าขณะนี้สตาร์บัคส์จะดำเนินนโยบายเรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 3 วันแล้วก็ตาม
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) รายงานว่า “นิคโคล” จะประจำการอยู่ในออฟฟิศเล็กๆ ที่บ้านพักส่วนตัว ย่านนิวพอร์ตบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ห่างจากเมืองซีแอตเทิลซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทแม่กว่า 1,600 กิโลเมตร โดยสตาร์บัคส์ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า หากมีประชุมด่วนหรือมีเหตุให้นิคโคลต้องเข้าออฟฟิศ บริษัทก็มีสวัสดิการเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวให้เขาใช้เดินทางไปกลับได้
ด้านโฆษกของสตาร์บัคส์ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า “ไบรอัน นิคโคล” ได้พิสูจน์แล้วว่า เขาเป็นผู้นำที่มีศักยภาพมากที่สุดคนหนึ่งในอุตสาหกรรมอาหาร จากผลงานที่สามารถสร้างผลประกอบการให้กับแบรนด์ที่เคยบริหารมาตลอดหลายปี สตาร์บัคส์เชื่อมั่นในประสบการณ์และความสามารถของนิคโคลว่า จะสามารถพลิกฟื้น-เรียกความเชื่อมั่นให้กับพาร์ทเนอร์ ลูกค้า และผู้ถือหุ้นได้
อย่างไรก็ตาม สิทธิพิเศษเรื่องเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวอาจสร้างผลกระทบเชิงลบให้แบรนด์ จากข้อถกเถียงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก เพราะที่ผ่านมาสตาร์บัคส์เองก็ยึดมั่นนโยบายเรื่อง “Eco-friendly” เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำมาปรับใช้กับการบริหารหลายภาคส่วน ตั้งแต่การสนับสนุนให้ลูกค้าพกแก้วน้ำมาเอง และล่าสุดก็เพิ่งเปิดตัวแก้วที่ใช้พลาสติกน้อยลง รวมถึงความพยายามในการใช้หลอดพลาสติกให้น้อยลงด้วย
การเดินทางด้วยเครื่องบินทั้งเครื่องบินเชิงพาณิชย์และเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว มาพร้อมกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาล ข้อมูลจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ระบุว่า มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการบินเฉลี่ยปีละ 800 ล้านตัน หรือคิดเป็นราวๆ 2% ของการปล่อยก๊าซที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลก
หลังจากรายงานเรื่องสวัสดิการเครื่องบินเจ็ทของซีอีโอสตาร์บัคส์เผยแพร่ออกไป “กรีนพีซ” (Greenpeace) องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า สิทธิประโยชน์นั้นเป็นเรื่องที่ “ไม่สามารถยอมรับได้” เพราะแม้ว่าเครื่องบินเจ็ทจะใช้เชื้อเพลิงเพียงเสี้ยวเดียวเมื่อเทียบกับเครื่องบินพาณิชย์ แต่สำหรับการเดินทางส่วนบุคคลเช่นนี้ เมื่อนำไปเทียบเคียงกับวิธีการโดยสารในรูปแบบอื่นๆ ก็พบว่า เชื้อเพลิงที่เครื่องบินเจ็ทใช้มีปริมาณมากกว่าการโดยสารทั่วไปถึง 10 เท่าต่อหลักไมล์
ทั้งนี้ คาดว่า “นิคโคล” ต้องเดินทางบ่อยขึ้นเพื่อลงไปตรวจสอบพื้นที่หน้าร้านและทำความรู้จักกับพนักงาน เนื่องจากสตาร์บัคส์มีร้านค้าทั่วโลกกว่า 39,000 แห่ง และพนักงานอีก 450,000 คน โดยหลังจากได้รับข้อตกลงพิเศษอย่างท่วมท้น “นิคโคล” คงต้องเตรียมรับมือกับศึกหนัก และความคาดหวังที่จะมากอบกู้ยอดขายให้สตาร์บัคส์อีกครั้ง
อ้างอิง: Bangkokbiznews, CNN