ส่องร้านอาหารใต้ปีก 'ธุรกิจไทย’ บุกกัมพูชา หาโอกาสตลาด 17 ล้านคน
ตลาดกัมพูชามีประชากร 17 ล้านคน แต่วัย 20-27 ปี เป็นวัยทำงาน มีสัดส่วน 40% กลายเป็นขุมทรัพย์น่าสนใจ ชวนส่องตลาด สำรวจร้านอาหารภายใต้ทุนไทย เข้าไปทำธุรกิจ เปิดร้านกันคึกคัก แบรนด์ดังลุยเสิร์ฟความอร่อยทั้งบาร์บีคิวพลาซ่า ซานตาเฟ่ เอสแอนด์พี เปปเปอร์ลันซ์ ฯ
การจัดงาน “อินเตอร์เนชันแนล เมกะ แฟร์” (International Mega Fair 2024) ของ “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” ซึ่งจัดขึ้น ณ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 2-4 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา ไม่เพียงเห็น “ธุรกิจไทย” ยกทัพสินค้าและบริการเข้าไปหาโอกาสในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจธุรกิจไทยอื่นๆที่ปักหมุดขยายกิจการเรียบร้อยแล้ว
กัมพูชาพัฒนาประเทศ ตีคู่จีดีพีเติบโต
หากใครมีโอกาสได้ไปเยือนประเทศกัมพูชาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าประเทศมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง พฤติกรรมผู้บริโภค
เชิดเกียรติ อัตถากร
ในด้านเศรษฐกิจนั้น กรุงเทพธุรกิจ ได้พูดคุยกับ “เชิดเกียรติ อัตถากร” เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ที่ฉายภาพอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของกัมพูชาที่ยังคงโตวันโตคืน ปีนี้ขยายตัว 6% อีกด้านมีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน ระบบราง เช่น ทางด่วนสายพนมเปญ-สีหนุวิลล์ ที่สร้างเสร็จแล้ว ช่วยลดเวลาการเดินทางเหลือ 2 ชั่วโมง จาก 4 ชั่วโมง ยังมีการก่อสร้างเส้นทางจากพนมเปญ-บาเวต รวมถึงการพัฒนาโครงการระบบราง ที่จะรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต นอกเหนือจากขนส่งผู้โดยสาร
โอกาสของกัมพูชา ยังมีเรื่องของตลาดเป้าหมาย ที่กลุ่มประชากรศาสตร์น่าสนใจ วัย 20-27 ปี เป็นวัยทำงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 40% เทียบกับไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งท่านทูต “เชิดเกียรติ” บอกว่า หากธุรกิจไทยมองกลุ่มเป้าหมายนี้ หาสินค้า และบริการไปตอบสนองความต้องการได้ ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย
ทั้งนี้ นักลงทุนไทยไปลงทุนที่กัมพูชามานาน และ 7 เซ็กเตอร์ มีบทบาทสำคัญ เช่น พลังงาน โดยกลุ่มปตท. โรงแรม กลุ่มไทยนครพัฒนา ค้าปลีก มีกลุ่มซีพี เปิดทั้งแม็คโคร และเซเว่นอีเลฟเว่น รวมถึงกลุ่มของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดบิ๊กซี ธุรกิจเกษตร มีซีพี เบทาโกร เข้าไปปักหมุด ฯ ทว่า นอกเหนือจากธุรกิจเหล่านั้น “การท่องเที่ยว” เป็นอีกเซ็กเตอร์ที่น่าสนใจ และควร Explore หาโอกาส ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ รวมถึงทะเล ชายหาดต่างๆ
ร้านอาหารไทยบุกกัมพูชาพรึ่บ!
นอกจากข้อมูลที่ “ท่านทูตเชิดเกียรติ” ฉายภาพ การลงพื้นที่สำรวจธุรกิจไทย ได้ขยับขยายกิจการกันอย่างคึกคัก ยกให้ธุรกิจบริการ โดยเฉพาะ “ร้านอาหารแบรนด์ดัง”
ทั้งนี้ ทุนญี่ปุ่น “อิออน” ซึ่งไปปักฐานทัพธุรกิจค้าปลีก เปิดห้างอิออนมานานแล้วในกัมพูชา ปัจจุบันศูนย์การค้ามีถึง 3 สาขาแล้วาภายใต้ “อิออน มอลล์ มีน เชย์” กรุงพนมเปญ ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่มาก 1.8 แสนตารางเมตร(ตร.ม.) ภายในศูนย์มีแบรนด์ดังตบเท้าเปิดร้าน
ทว่า ที่น่าสนใจคือกลุ่มธุรกิจร้านอาหารไทยจำนวนมาก เปิดให้บริการแก่ลูกค้าท้องถิ่นด้วย อย่างร้านอาหารไทยเก่าแก่ 5 ทศวรรษ “เอสแอนด์พี” มีร้านขนาดใหญ่ให้บริการลูกค้า ร้านซานตาเฟ่ ของกลุ่มฟู้ด แฟ็คเตอร์ภายใต้อาณาจักรบุญรอดบริวเวอรี่
ร้านปิ้งย่าง 37 ปีตำนานน้ำจิ้มที่แตกต่างอย่าง “บาร์บีคิว พลาซ่า” พาน้องก้อนไปยืนรับลูกค้าหน้าร้าน กลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด พาแบรนด์ร้าน เดอะ พิซซ่า คัมปะนี ที่เพิ่งเปิดร้านหมาดๆ และยังมีร้านไอศกรีม “สเวนเซ่นส์” ไปด้วย กลุ่มเซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือซีอาร์จี มีร้านเป๊ปเปอร์ลันซ์เสิร์ฟอาหารให้ลูกค้า
ยังมีร้านออน เดอะ เทเบิล ของกลุ่มเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ร้านชา “คามุ คามุ” ของกลุ่มโออาร์ นอกจากนี้ ยังธุรกิจบริการอื่นๆอย่างเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ที่เปิดโรงหนังถึง 7 โรง เพื่อรองรับคนดู 1,500 ที่นั่ง แบรนด์ที่คุ้นเคยของคนไทย เช่น ร้านชานมโคอิเตะ ร้านชาบูโมโม พาราไดซ์ เป็นต้น
ลุยต่างแดนต้องศึกษา-เข้าใจตลาด
พื้นฐานการทำธุรกิจ เมื่อศึกษาความเป็นไปได้ต่างๆแล้ว การสำรวจตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อให้เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่เสมอ เพราะการเปลี่ยนแปลง เทรนด์ต่างๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา
ทั้งนี้ จากการไปสำรวจตลาดในวันธรรมดา และเป็นช่วงเวลาทำงาน จะเห็นว่าผู้คนมีไปชอปปิง รับประทานอาหารที่ศูนย์การค้าบางตา แต่การที่ห้างค้าปลีก “อิออน” กล้าเปิดถึง 3 สาขา เพราะมองเห็นโอกาสอย่างแน่นอน ยิ่งกว่านั้น การพัฒนาประเทศ ความเจริญ มักมาพร้อมกับการเปิดห้างค้าปลีกรูปแบบต่างๆ ที่จะรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ทุกพื้นที่การค้าย่อมมีการ “แข่งขัน” ตามมา นอกจากผู้ประกอบการท้องถิ่นในกัมพูชา “ทุนต่างชาติ” อื่นๆ ก็เห็นโอกาสเช่นกัน จึงมีการเข้าไปแสวงหาน่านน้ำใหม่ ซึ่งมิติการลงทุน “ท่านทูตเชิดเกียรติ” ระบุว่าไทยรั้งอันดับ 6 จากมี “จีน” นำโด่งเข้าไปลงทุน ทำมาค้าขาย ตามด้วยเกาหลี สหราชอาณาจักร เวียดนาม และมาเลเซีย ส่วนการค้าขาย
ดึงสติคนไทยไม่ควรบูลลี่เพื่อนบ้าน หวั่นกระทบธุรกิจไทยในท้องที่
การเข้าไปทำธุรกิจในประเทศใด สิ่งสำคัญคือการ “สร้างการมีส่วนร่วม” ให้เกิดขึ้นแก่คนในพื้นที่ นอกจาก Take แล้วควร Give ประโยชน์ให้แก่ผู้คนในสังคม ชุมชนด้วย
อย่างไรก็ตาม มิติหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือความเปราะบางทางความสัมพันธ์ที่ควรตระหนักให้รอบคอบทุกมิติ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ อย่าง กรณีพิธีเปิดมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ “โอลิมปิก2024” กัมพูชาส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันโดยมีนักกีฬาอยู่บนเรือลำเล็กล่องในแม่น้ำแซน กลายเป็นภาพที่คนไทยนำมาแชร์ต่อและขยายประเด็นบนโลกออนไลน์ในเชิงบูลลี่ ในทางการฑูตนั้น ประเด็นเหล่านี้อาจนำไปสู่การสร้างผลกระทบต่อธุรกิจของไทยในประเทศนั้นๆได้
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะไม่เพียงมุ่งสร้างสานมิตรไมตรีกับผู้คน แต่มีผลต่อการค้าการลงทุนอย่างมาก และการบูลลี่สนุกปากเพียงเล็กน้อย อาจเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวเหมือนในอดีตได้ ดังนั้น คนไทยควรปฏิบัติ แสดงความเห็นต่างๆอย่างมีวิจารณญาณและมีขอบเขต