‘ทุนจีน’ ถล่มไทยสิบทิศ ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’ ร้านอาหารเจอทุบราคาชิงลูกค้า
ธุรกิจ-ทุนไทย ยานยนต์ อีคอมเมิร์ซ ร้านอาหาร ฯ เผชิญโจทย์ท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อ "ทุนจีน" เดินหน้าเขมือบโลก ทำผู้ประกอบการท้องถิ่นสะเทือน "เอกชน" ชี้จีนบุกไทย "ได้ไม่คุ้มเสีย" เพราะ Take มากกว่า Give แนะรัฐหามาตรการป้องกัน สร้างกำแพงคุ้มครองการค้าการลงทุนในประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ทุนจีน” มีบทบาทต่อการค้า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลก เพื่อขยายความยิ่งใหญ่ก้าวสู่การเป็น “มหาอำนาจ” รอบด้าน
ย่อโลกมองภูมิภาค “อาเซียน” ทุนจีน เข้ามาปักหมุดทำธุรกิจอย่างคึกคักในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นลาว กัมพูชา เมียนมา อินโดนีเซีย รวมถึง “ประเทศไทย” โดยธุรกิจ และทุนที่เข้ามามีหลากหลาย โดยเฉพาะ “อสังหาริมทรัพย์” และ “ค้าขายสินค้าผ่านออนไลน์” หรือ E-commerce อุตสาหกรรม “ยานยนต์ไฟฟ้า” หรือรถอีวี รวมถึง “การท่องเที่ยว” ที่มีบรรดาทัวร์รูปแบบต่างๆ จากอดีตถึงปัจจุบันทั้งทัวร์ศูนย์เหรียญ ทัวร์ทุบตลาด ฯ สะท้อนภาพการรุกคืบถล่มการค้า การลงทุน ผู้ประกอบการไทยรอบทิศ
ประเทศไทย “แดนสวรรค์” การค้า-ลงทุน “ทุนจีน”
ทั้งนี้ ทุนจีนที่เข้ามา มักจะเป็นในรูปแบบการลงทุนโดยตรง และเต็มรูปแบบ ส่วนอาวุธสำคัญคือการมาด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ทำให้ใช้ “ราคา” ทุบตลาด จัดการทุนท้องถิ่นให้ราบคาบเป็นหน้ากลองก่อน เมื่อไร้ “เสี้ยนหนาม” ทางธุรกิจ ย่อมเป็นโอกาสทองการค้า
ธวัชชัย เศรษฐจินดา
นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานหอการค้าภาคกลาง เปิดเผยว่า หากมองภาพรวมการลงทุนของ “ทุนจีน” ไม่ได้เข้ามาบุกขยายธุรกิจในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพียงแต่ประเทศไทยคือ “สวรรค์” ของนักลงทุนจีน เนื่องจากไม่มีมาตรการรับมือเข้มข้นนัก เห็นได้จากธุรกิจ อุตสาหกรรมหลากหลายเซ็กเตอร์ ปักฐานทำตลาด เช่น ค้าปลีกประเภทซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ขายสินค้าไม่มีแบรนด์ไทย รวมถึงผ่านด่านคุณภาพต่างๆ เช่น มาตรฐานอย. ร้านขายสินค้าที่ระลึก เป็นต้น
“ความน่ากลัวของทุนจีนตอนนี้ คือธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนเองโดยตรง”
หนึ่งในตัวอย่างสำคัญของทุนจีนทุบ!ธุรกิจไทยอ่วม คืออุตสาหกรรมเหล็ก ที่จีนเข้ามาลงทุน จนทำให้โรงงานเหล็กเจ้าแรกในไทยต้อง “ปิดกิจการ” ล่าสุด รุกคืบของค้าปลีกออนไลน์ “TEMU” เพิ่มเติมจากที่เดิมมียักษ์อีคอมเมิร์ซรายอื่น สร้างฐานทัพธุรกิจมาก่อน ทำให้สินค้าจีนทะลักเมืองไทย และทุบผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ทุกคนอาจได้เห็นโฆษณาชิ้นนี้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เมื่อเพิ่งเข้ามาทำตลาด ก็จัดหนักไปเลยลดราคาสินค้า 90% ผู้บริโภคถูกใจ แต่ทุนไทยเหนื่อยแน่!
ถึงเวลา “รัฐ” ฟังเสียง-ทำงานร่วม “ภาคเอกชน”
อย่างไรก็ตาม ไม่ง่ายที่ปฏิเสธทุนจีน เนื่องจากประเทศไทย และธุรกิจค่อนข้างเปิด และเราไม่สามารถปิดกั้นการค้าการลงทุนได้ เนื่องจากเครื่องยนต์เคลื่อนเศรษฐกิจหรือจีดีพี พึ่งพาท่องเที่ยวและการส่งออกสูงถึง 80% แต่การที่ทุนจีนเข้ามา ภาครัฐควรมีมาตรการ และการแอ๊คชันที่รวดเร็ว อย่างกรณีของ TEMU ถือว่าการขยับตัวของภาครัฐมีความล่าช้า
ดังนั้น เวลานี้ต้องการให้ภาครัฐรับฟังเสียงของภาคเอกชนมากขึ้น ที่สำคัญควรมีการผนึกกำลังทำงานร่วมกัน เพื่อหาแนวทางป้องกัน รับมือทุนจีน อย่างประเทศอินโดนีเซียบางเซ็กเตอร์ธุรกิจมีการจัดหมวดชัดเจน เป็นโซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ แยกการค้าขายสินค้า และเมื่อผู้ประกอบการท้องถิ่นต่อกรในตลาดไม่ได้ รัฐบาลใช้มาตรการขึ้นภาษีนำ เข้าสินค้าจีน 200% เป็นต้น
ท่ามกลางการแข่งขันการค้าขาย ทำธุรกิจสู้ “ทุนจีน” นักธุรกิจ ทุนไทย “โวย” อย่างเดียวไม่ได้ เพราะโลกยุคนี้เปลี่ยนไปแล้ว อดีตผู้ประกอบการไทยอาจทำมาค้าขาย ลงทุนในท้องถิ่น เติบโตมั่งคั่งเพียงพอ แต่ปัจจุบัน “รุ่นลูก” ต้องค้าขาย ขับเคี่ยวแข่งกับ “คนที่ไม่พูดภาษาไทย” หรือหมายถึงนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้การ “ปรับตัวตลอดเวลา” เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
ร้าน MIXUE ขยายสาขาอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงอยู่ในห้างค้าปลีก แต่ลุยตามถนน ซอยต่างๆ เช่น ย่านอาหารอร่อยอย่างถนนบรรทัดทอง
ร้านอาหารอาศัยจังหวะปรับตัวสู้ศึก
ธุรกิจร้านอาหารเป็นอีกหมวดที่ “ทุนจีน” กำลังเข้ามารุกคืบ มีสารพัดแบรนดและหมวดหมู่อาหารเข้ามาชิงขุมทรัพย์กว่า 4 แสนล้านบาท ในประเทศไทย ไม่ว้าจะเป็น “MIXUE” ร้านชานมและไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ “WEDRINK” ร้านแฟรนไชส์ชานมและไอศกรีมจากจีน “Zhengxin Chicken” แฟรนไชส์ไก่ทอดจากจีน ราคาเริ่มต้นชิ้นละ 15 บาท ซึ่งมีอาหารเมนูอื่นๆ ทั้งไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ แฮมเบอร์เกอร์ ฯ ร้านกาแฟ “Cotti Cofee” ชูราคา 55 บาท เป็นต้น
จากก่อนหน้านี้ “ร้านหมาล่า” ได้ยกทัพมาถล่มไทยแล้ว จนทำให้บรรดาร้านอาหารประเภทหม้อร้อนของไทย ต้องปรับตัวเสิร์ฟเมนู “หมาล่า” กลายเป็นเทรนด์ฮิตมาพักใหญ่
นายรัฐ ตระกูลไทย ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ให้มุมมองการเข้ามาของทุนจีนอีกมิติ นี่เป็นจังหวะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยต้อง “ปรับตัว” และพัฒนาธุรกิจของตนเอง เพื่อยกระดับทั้งเมนูความอร่อยของอาหาร และบริการ มุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
“มองในฐานะผู้ประกอบการรายย่อย เราต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาตัวเอง เพราะแน่นอนว่าร้านอาหารของทุนจีนที่เข้ามา จะทำให้เกิดการแข่งขัน สร้างกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ดีมานด์ลูกค้าขยับด้วย เมื่อผู้ประกอบการพัฒนาตัวเอง ในส่วนของภาครัฐ อยากให้มีการกำกับดูแล ซึ่งเป็นมาตรฐานการทำงานของรัฐ อีกด้านอยากให้มีการสนับสนุนทุนท้องถิ่นด้วย”
นอกจากเปิดตัวด้วยไก่ทอดราคา 15 บาท โปรโมชั่นเปิดตัวก็โหดเอาเรื่องแจกทองคำ มือถือกันไปเลย
แบรนด์ใหญ่-ทุนไทย มีหนาว!
แหล่งข่าวจากแวดวงธุรกิจร้านอาหาร กล่าวว่า การเข้ามาของร้านไอศกรีม ร้านไก่ทอดของจีน ที่มีกลยุทธ์ “ราคาขายต่ำ” เช่น เริ่มต้น 15 บาท ในมิติของผู้ประกอบการ ยอมรับว่า “มีหนาว” อย่างไก่ทอด มองว่าแบรนด์ใหญ่ระดับโลกอย่าง “เคเอฟซี” ก็ต้องจับตา ขณะที่ตนเองทำธุรกิจร้านอาหาร แรกๆช่วงที่ร้านหมาล่าเข้ามารุกคืบสิบทิศ ก็มีความกังวล หากทุนจีนมาทำธุรกิจร้านอาหารหมวดเดียวกับตนเอง ทำร้านอาหารเป็นโมเดล “อาณาจักรใหญ่” เปิดแบบไม่สนใจ “ทำกำไร” จะรับมืออย่างไร
แม้ว่า อีกด้านจะมองว่าศักยภาพ ความได้เปรียบของบริษัท คือการเข้าใจพฤติกรรม ความต้องการของ “ผู้บริโภคชาวไทย” มากกว่าก็ตาม
“ทุนจีนที่เข้ามาทำร้านอาหารในไทย ทั้งไอศกรีม ไก่ทอด ทุกอย่างมาจากจีน ต้นทุนต่ำสุดๆ อย่างเคเอฟซีเข้ามา มองว่าเคเอฟซี ก็ต้องมีหนาว”
เชื่อ ได้ไม่คุ้มเสีย!
อย่างไรก็ตาม การหลั่งไหลเข้ามาของ “ทุนจีน” มองว่าเป็นสิ่งที่ประเทศไทย “ได้ไม่คุ้มเสีย” หากมองผลกระทบของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งโรงงานที่ปิดตัวของแบรนด์ใหญ่ญี่ปุ่น ทั้งฮอนด้า ยุติการผลิตที่โรงงานอยุธยา หรือซูซูกิ หยุดสายการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ปลายปี 2568 การท่องเที่ยวที่เจอทัวร์ทุบตลาด ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และเศรษฐกิจ
“ประเทศไทยต้องการเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศจนบางครั้งอาจไม่พิจารณาอะไรเลย ซึ่งส่วนตัวมองว่าได้ไม่คุ้มเสีย ภาครัฐควรมีมาตรการป้องกัน หรือกำแพงบ้าง ซึ่งของไทยแค่มีแนวโน้มทุนจีนจะเข้ามาลงทุน ตั้งโรงงานก็พร้อมให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แล้วเขา(จีน)มาก็ Take มากกว่า Give หากเป็นประเทศอื่นจะมี Barrier กับทุนจีน"