จับตา แบรนด์ยักษ์ใหญ่อาหารเครื่องดื่มจากจีนโหมรุกหนัก กระเทือนธุรกิจไทย
สมรภูมิอาหารไทยระอุ! แบรนด์ยักษ์ใหญ่อาหารเครื่องดื่มจากจีน รุกหนัก หวั่นแบรนด์ไทยกระทบหนัก เหตุใช้ราคาเป็นตัวดึงดูดลูกค้า
เป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิดในกลุ่มผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มของประเทศไทย ภายหลังการมีแบรนด์ใหม่จากประเทศจีนจำนวนมาก ประกาศแผนเข้ามารุกขยายสาขาใหม่ในประเทศไทย โดยการรุกตลาดหนักของแบรนด์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มจากประเทศจีน ได้ใช้โมเดลที่คล้ายกันคือ การเข้ามาขยายตามทำเลชุมชน สถานีรถไฟฟ้า และไม่ได้จำกัดเฉพาะในศูนย์การค้าเท่านั้น พร้อมนำเสนอราคาที่ถูก เริ่มต้นที่ 15 บาท
ทั้งแบรนด์ MIXUE ที่มีชานมและไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ, แบรนด์ WEDRINK แบรนด์แฟรนไชส์ชานมและไอศกรีมจากจีน, แบรนด์ Zhengxin Chicken แฟรนไชส์ไก่ทอดจากจีน ราคาเริ่มต้นชิ้นละ 15 บาท และ แบรนด์ Cotti Coffee แฟรนไชส์กาแฟจีน มาราคาประมาณ 55 บาท รวมถึงมีแบรนด์ Ai-cha ไอศกรีม จากประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น
จึงต้องติดตามว่า แบรนด์ไทยจะปรับตัวอย่างไรกับการแข่งขันในครั้งนี้ เนื่องจากสมรภูมิการแข่งขัน ไม่ได้มีผลต่อรายใหญ่เท่านั้น แต่การขายในราคาถูก 15 บาท เทียบเท่ากับ ร้านไอศกรีมเล็กๆ ในตลาด หรือ ไอศกรีมรถเข็น
ทั้งนี้ จากเวทีสัมมนาของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มีการเปิดตัวหลักสูตร RMBA หลักสูตรปริญญาโทด้านการจัดการร้านอาหารที่แรกของไทย โดยมีผู้ประกอบการไทยแบรนด์ดัง และกูรูในแวดวงร้านอาหารต่างหยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุยเช่นกัน กับทิศทางร้านอาหารและเครื่องดื่มไทย ที่ต้องเตรียมแผนรับมือผลกระทบ สิ่งสำคัญคือ การเร่งสร้างแบรนด์ร้านอาหารไทยไปสู่ตลาดโลก !!!
ต้องเร่งสร้างแบรนด์ร้านอาหารไทยสู่โกลบอล
จุลเกียรติ สินชัยชูเกียรติ Founder & CEO of บารามีซี่ กรุ๊ป (Baramizi Group) กล่าวว่า หากประเมินภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในประเทศ จะมีแบรนด์จีนกลุ่มอาหารเตรียมเข้ามาอีกจำนวนมหาศาล โดยมีจุดแข็งที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทย และมีเงินทุนสูงมาก แต่เมื่อประเมินทำไมแบรนด์ไทยจะสู้ไม่ได้ สิ่งสำคัญคือ การเติมองค์ความรู้จำนวนมาก
พร้อมกับมุ่งสร้างแบรนด์อาหารไทย เพราะแบรนด์คือ การสร้างสินทรัพย์ทางธุรกิจ โดยสร้างแบรนด์อาหารไทย ต้องเป็นการทานอาหารไทยจากแบรนด์ไทย แต่ไม่ใช่ทานอาหารจากประเทศไทย ยกตัวอย่าง การสร้างแบรนด์ไก่ทอดไทย ที่สามารถสร้างสรรค์และเติบโตไปสู่ระดับโลกได้ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องผนึกกำลังร่วมสร้างโกลบอลแบรนด์ และเพิ่มมูลค่าเพื่อให้เกิด Brand value ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การสร้างแบรนด์ให้เติบโตได้อย่างมั่นคง จำเป็นต้องใช้โนว์ฮาวอีกมหาศาล เนื่องจากแบรนด์คือ Intangible asset สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนแต่สามารถสร้างมูลค่าได้สูงมาก เช่น มูลค่าแบรนด์ สำหรับแบรนด์ร้านอาหารสามารถทำ ไลเซนซิง เพื่อเกิดการสร้างมูลค่าแบรนด์ และทำให้ธุรกิจเติบโตจากการขายไลไซนส์ไปในทั่วโลก ช่วยสร้างมูลค่าธุรกิจได้หลายแสนล้านบาท ทั้งหมดจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
"แบรนด์ร้านอาหาร ต้องทำระบบและออกแบบ พร้อมมุ่งสร้างแบรนด์ แต่หากมองเพียงการทำให้มีรสชาติอร่อย และการจัดร้านได้ดี อาจจะไม่ใช่แนวทางที่เพียงพอแล้วในยุคนี้แล้ว"
ธุรกิจร้านอาหารแข่งรุนแรง-แบรนด์จีนรุกหนัก
ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพนกวินเอ็กซ์ จำกัด ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจร้านอาหาร “เพนกวิน อีท ชาบู” (Penguin Eat Shabu) และเจ้าของเพจ Torpenguin กล่าวว่า ในปัจจุบันตลาดร้านอาหารในประเทศไทยมีการแข่งขันรุนแรงมาก และมีแบรนด์จีนจำนวนมากที่เข้ามาขยายตลาดในไทยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด อีกทั้งต่างเน้นราคาต่ำ จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย
อีกทั้งเมื่อประเมินภาพรวม แบรนด์ร้านอาหารไทยในตลาดโลก มีมุมมองที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยมีเมนูอาหารไทยที่คนทั่วโลกต่างชาติรู้จัก แต่ไม่มีแบรนด์อาหารไทยที่ทุกคนต่างรู้จักในระดับโลก หรือเป็นโกลบอลแบรนด์ สิ่งสำคัญ คือการเร่งสร้างโกลบอลแบรนด์ ที่เป็นของผู้ประกอบการจากประเทศไทยออกสู่ตลาดโลก
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาต่างมีแบรนด์ร้านอาหารไทย ส่วนใหญ่มีการนำเข้าพืชผักต่างๆ และเห็ดจากจีนจำนวนมาก
"เป็นเรื่อง ตลกร้าย ที่เราบอกว่าประเทศไทยเป็นครัวของโลก มีการส่งวัตถุดิบอาหารไปทั่วโลก แต่เราไม่มีแบรนด์ร้านอาหาร แม้แต่แบรนด์เดียว ที่เป็นโกลบอลแบรนด์เลย ทั้งที่อาหารไทยคูซีน (Thai Cuisine) ติดอันดับหนึ่งในห้าของประเภทอาหารจากทั่วโลก"
เซี่ยงไฮ้มีร้านอาหารไทย 160 ร้านแต่มีเจ้าของไทย 1-2 ร้าน
เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด กล่าวว่า จากการเดินทางไปในเซี่ยงไฮ้ เพื่อนำแบรนด์ไทยไปขยายธุรกิจในประเทศจีน ท่ามกลางแบรนด์จีนเข้ามารุกในประเทศไทย มีข้อมูลจากหอการค้าไทย-จีน ระบุว่าในเซี่ยงไฮ้ มีจำนวนร้านอาหารไทยประมาณ 160 ร้านค้า แต่แทบไม่ได้มีเจ้าของเป็นคนไทยเลย มีแบรนด์ไทยที่เป็นเจ้าของเพียง 1-2 ร้านค้าเท่านั้น ซึ่งการนำแบรนด์ไทยไปขยายคือ ต้องมีโกลบอลแบรนด์ แต่ในประเทศไทยยังไม่มี
อีกทั้งจากการประเมินเบื้องต้น ร้านอาหารที่เปิดในประเทศจีน พบว่า มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเพียง 2 อย่างคือ ขิงกับพริกไทย แต่ไม่มีกะเพรา เนื่องจากในประเทศจีนสามารถปลูกเองทั้งหมด แต่หากมาดูร้านอาหารในประเทศไทย ต่างเปิดรับผักนำเข้าจากประเทศจีนทั้งหมด
“อย่างร้านอาหารไทยที่เปิดในประเทศจีน ไม่ธรรมดาเลย เวลาเข้าไปทานจะมีกระดาษ เขียนบอกวิธีทานอย่างไร เช่น เมี่ยงคำ มีคนมาทำให้ทาน เพื่อบอกว่าทานอย่างไร อีกทั้งในร้านส่วนใหญ่ จะเริ่มต้นเสิร์ฟด้วยข้าวเกรียบ จบท้ายด้วย ขนมตะโก้ ตามคอนเซ็ปต์ร้านอาหารไทย เขาเก่งมาก และทุกร้านเหมือนกันหมด"
ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งทำแบรนด์ดิ้ง และวางแผนทำการตลาด โดยการเปิดธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องมีการทำแบรนด์คอร์ปอเรท เพื่อดูแลแฟรนไชส์ซี ควบคุมคุณภาพและการให้บริการเหมือนกันทั้งหมด
"แบรนด์ไทย ต้องสร้างแบรนด์ดิ้ง โดยแบรนด์ดิ้งที่ดีคือ การสร้างมูลค่าและสามารถต่อยอดได้ ร่วมสร้างอะไรต่อไปให้ได้ ร่วมเพิ่มมูลค่าธุรกิจได้ การมีนวัตกรรมและมีความคิดสร้างสรรค์ จำเป็นต้องมี"
เศรษฐกิจไม่ดีต้องเร่งสร้างแบรนด์-ชูมาตรฐาน
กิตติเดช วิมลรัตน์ iTAN นักวิจารณ์อาหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และเจ้าของร้านเผ็ดมาร์ค กล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีในแบบนี้ การสร้างแบรนด์ดิ้งยิ่งสำคัญสำหรับทุกผู้ประกอบการ เพื่อให้ลูกค้าทุกคนคนจดจำได้ โดยการทำให้แบรนด์คงมาตรฐานเดิมที่มีไว้ ร่วมรักษาความประทับใจให้แก่ลูกค้า ซึ่งในปัจจุบันยังมีหลายองค์ความรู้และหลักสูตรต่างๆ ในการร่วมส่งเสริมการสร้างแบรนด์ไทย
สำหรับแบรนด์ ร้านเผ็ดมาร์ค ได้นำเสนอในรูปแบบการเป็น "แฟชั่นแบรนด์ที่ขายอาหาร" วางคอนเซ็ปต์ แตกต่างจากร้านอาหารทั่วไป แต่คงรักษามาตรฐานร้านอาหารไว้ เพื่อทำให้ลูกค้าที่เข้ามาได้รับความรู้สึกเหมือนมาทานครั้งแรกเสมอ ทั้งรสชาติ บริการ และพนักงานต่างๆ