จบยุคทอง ‘Pepsi’ ? ยอดขายตก จุดยืนหาย คนหันกินแบรนด์อื่นแทน

ปิดตำนานสงครามน้ำดำ? หลัง “Pepsi” พ่ายให้ “Dr Pepper” นักวิเคราะห์ชี้ แบรนด์เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อยู่หมัด บุก TikTok หนัก-รสชาติแปลกใหม่มากกว่า พบ “Pepsi” เสียส่วนแบ่งให้น้ำอัดลมสายสุขภาพอื้อ ส่วน “Coke” ลอยตัว รั้งอันดับ 1 ตลอดกาล
KEY
POINTS
- “เป๊ปซี่” และ “โค้ก” คือสองยักษ์น้ำดำที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดในตลาด แม้ระดับโลกจะยังไม่ตกชั้น แต่ตลาดบ้านเกิดอย่างสหรัฐกลับพบว่า ปีที่ผ่านมา “เป๊ปซี่” พลาดท่าให้ “Dr Pepper” ร่วงลงมาอยู่อันดับ 3 แทน
- ในอดีต “เป๊ปซี่” ครองภาพจำเครื่องดื่มของคนรุ่นใหม่จากสโลแกน “The Choice of A New Generations” แต่หลังจากไม่ต่ออายุลิขสิทธิ์สโลแกนดังกล่าวก็ถูกแบรนด์ข้าวโอ๊ตนำไปใช้ ทำให้ภาพจำเบาบางลง รวมถึงความนิยมในการบริโภคน้ำดำก็ลดลงด้วย
- มีแบรนด์น้องใหม่เกิดขึ้นมากมาย นำเสนอรสชาติหลากหลาย น้ำตาลน้อย มีไฟเบอร์ เน้นเรื่องสุขภาพมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สถานะเบอร์ 2 ของเป๊ปซี่เป็นเรื่องใหญ่ และการทวงเบอร์ 2 คืนก็คงจะทำให้เกิดแคมเปญอื่นๆ ตามมาอีกเร็วๆ นี้
ตลาดน้ำอัดลมทั้งในไทยและระดับโลกต่างมี “น้ำดำ” หรือ “โคล่า” ครองส่วนแบ่งอันดับ 1 มาโดยตลอด มี “โคคา-โคล่า” (Coca-Cola) หรือ “โค้ก” และ “เป๊ปซี่” (Pepsi) ขับเคี่ยวซึ่งกันและกัน ท่ามกลางศึก “Cola Wars” กว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แม้เป๊ปซี่จะสามารถเอาชนะแบรนด์เก่าแก่ได้ระยะหนึ่งแต่ไม่นานก็ถูกโค้กไล่บี้ กระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีคู่แข่งเจ้าไหนโค่นน้ำดำฉลากแดงได้
อย่างไรก็ตาม ปลายเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา มีรายงานจาก “Beverage Digest” สื่อที่นำเสนอข้อมูลอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในสหรัฐระบุว่า น้ำอัดลมขายดีอันดับ 1 ในสหรัฐยังตกเป็นของโค้กรสออริจินัลเช่นเคย ครองส่วนแบ่ง 19.2% ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ “Dr Pepper” ที่สามารถเอาชนะเป๊ปซี่ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ด้วยสัดส่วน 8.34% ขณะที่เป๊ปซี่มีส่วนแบ่งตามหลังเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 8.31% แม้ดูผิวเผินจะแซงหน้าไปอย่างฉิวเฉียด แต่สำหรับบิ๊กแบรนด์นี่ไม่ใช่ตัวเลขเพียง 0.03% เท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนว่า เป๊ปซี่กำลังถูกเขย่าบัลลังก์ในระยะประชิดมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับคนไทยอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อ “Dr Pepper” มากนัก แต่ที่สหรัฐนี่คือหนึ่งในแบรนด์เก่าแก่ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยมากับโค้กและเป๊ปซี่ ความน่าสนใจ คือการวางจุดยืนที่คาบเกี่ยวกันระหว่าง Dr Pepper และเป๊ปซี่ ทั้งคู่ต่างต้องการเป็นเครื่องดื่มของคนรุ่นใหม่ ขณะที่ “โค้ก” ใช้ความดั้งเดิม เก่าแก่ ต้นตำรับ ในการชิงเกม โดยจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Dr Pepper เอาชนะเป๊ปซี่ได้มาจากฐานผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ที่ชื่นชอบความแปลกใหม่ ทั้งในแง่รสชาติและการนำเสนอแบบที่เป๊ปซี่ให้พวกเขาไม่ได้
เคยเป็นทางเลือกของคนรุ่นใหม่ แต่กลับถูก “ข้าวโอ๊ต” ซิวจุดยืน
เพราะถือกำเนิดขึ้นหลังโค้ก 14 ปี “เป๊ปซี่” จึงปักธงนำเสนอตัวเองในฐานะ “ทางเลือกของคนรุ่นใหม่” หรือ “The Choice of A New Generations” ผ่านแคมเปญโฆษณาที่ได้ “ไมเคิล แจ็กสัน” (Michael Jackson) ราชาเพลงป็อปชื่อก้องโลกมาร่วมแสดงด้วย ปรากฏว่า โฆษณาตัวนี้ทำงานได้ผลชะงัด ตลอดทศวรรษ 1980 เป๊ปซี่ถูกจดจำในฐานะเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายสดใหม่ พลังงานเหลือล้น ถูกยกให้เป็นสัญญะของคนรุ่นใหม่โดยไม่ทับทางกับโค้กที่วางจุดยืนแบบดั้งเดิม
ระหว่างนั้นทั้งโค้กและเป๊ปซี่ต่างก็ห้ำหั่นกันด้วยการอัดเม็ดเงินโหมทำแคมเปญอย่างดุเดือด โดยเฉพาะเป๊ปซี่ที่ดึงศิลปินตัวท็อป-ค่าตัวแพงระดับโลก ปั้นแบรนด์ผ่านกลยุทธ์ “Music Marketing” หลังจากไมเคิล แจ็กสัน “เป๊ปซี่” ปิดดีลกับ “บียอนเซ่” (Beyonce’) แทบจะทุกๆ 3 ปี ดึง “บริทนีย์ สเปียร์” (Britney Spear) และ “พิงก์” (Pink) สร้างอาณาจักร “Pepsi Gladiator” ในปี 2546 รวมถึงการเป็นสปอนเซอร์โชว์ “Super Bowl Halftime” กว่า 10 ปีเต็ม มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 71,235 ล้านบาท
กระทั่งปี 2549 ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น เมื่อสิทธิ์ในการใช้เครื่องหมายการค้าในฐานะทางเลือกของคนรุ่นใหม่หมดลง เป๊ปซี่ไม่ได้ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อกอดเก็บสโลแกนสร้างชื่อไว้กับตัว หลังจากนั้นเพียง 3 ปีให้หลัง “The Choice of A New Generation” ก็กลายเป็นแท็กไลน์ใหม่แกะกล่องของ “Better Oats” ผลิตภัณฑ์ข้าวโอ๊ตสำเร็จรูปจากบริษัทแม่ “MOM Brands” โดยมี “ลินดา ฟิชเชอร์” (Linda Fisher) ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรนำทัพในการกล่าวแถลงเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2553
ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือตั้งใจที่ผู้บริหาร “MOM Brands” คืออดีตรองประธานฝ่ายการตลาดของเป๊ปซี่ และ “FritoLay” แบรนด์ขนมขบเคี้ยวในเครือเป๊ปซี่โค (PepsiCo) สำนักข่าวบิซิเนส อินไซเดอร์ (Business Insider) มองว่า นี่เป็นความเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาดสำหรับแบรนด์น้องใหม่ แม้จะสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายไปบ้าง เพราะถึงเป๊ปซี่จะไม่ได้ถือลิขลิทธิ์ต่อแล้ว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็อาจถูกตีความเป็นผิดได้ เนื่องจากเป๊ปซี่อาจอ้างได้ว่า ผู้บริโภคยังคงเชื่อมโยง-ผูกติดสโลแกนกับแบรนด์ตนเอง
แต่ในความเป็นจริงเหตุการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะหลังจาก “Better Oats” เปิดตัว แบรนด์ก็ยื่นจดเครื่องหมายการค้าในปี 2552 และหากเทียงเคียงกันในตลาดเดียวกัน “Better Oats” ก็ยังไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัวนัก เพราะ “Quaker Oats” แบรนด์ข้าวโอ๊ตในเครือเป๊ปซี่โคมีส่วนแบ่งตลาดนำหน้าอยู่หลายเท่าตัว
ด้านหนึ่งก็สะท้อนว่า มูฟเมนต์ของ Better Oats ไม่ได้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ แต่ระหว่างบรรทัดของเรื่องนี้ได้นำไปสู่ข้อสังเกตที่เป็น “Big Issued” มากกว่า คือการวางจุดยืนและตำแหน่งแห่งที่ของเป๊ปซี่ที่เคยท็อปฟอร์มในอดีต ถึงขนาดที่โค้กยังเคยงัด “New Coke” ออกมาสู้ เพราะหวังจะได้รับส่วนแบ่งจากตลาดคนรุ่นใหม่บ้าง
เวลาผ่านไป “โค้ก” กลับเข้าร่องเข้ารอยสู่จุดยืนความดั้งเดิม ส่วน “เป๊ปซี่” ถูกมรสุมคลื่นลูกใหม่เข้ามาท้าทาย ไม่ใช่แค่ “Dr Pepper” แต่พบว่า ตลาดน้ำอัดลมในสหรัฐยังรายล้อมไปด้วยการมาถึงของตัวเลือกใหม่ๆ และน้ำดำก็อาจไม่ใช่ความหวือหวาในตลาดที่เป๊ปซี่เคยเอาอยู่อีกแล้ว
คนสนใจน้ำอัดลมน้อยลง จะกินทั้งทีต้องดีกับสุขภาพด้วย
หลังจากรายงานการจัดอันดับเผยแพร่ออกไป สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) ระบุว่า ทีมผู้บริหาร Dr Pepper มีความยินดีอย่างยิ่งที่รสชาติเผ็ดร้อนอันเป็นเอกลักษณ์ได้รับฟีดแบ็กที่ดีจากผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่ชอบความแตกต่างแปลกใหม่ ขณะที่ผู้บริหารเป๊ปซี่ปฏิเสธที่จะออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการจัดอันดับของ Beverage Digest
เดอะการ์เดียนยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ผู้บริหารที่รับผิดชอบเรื่องการรีแบรนด์เป๊ปซี่ได้ประกาศลาออกเมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากทำงานกับเป๊ปซี่มายาวนาน 17 ปีเต็ม ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้อาจเชื่อมโยงกลับไปถึงประเด็นยอดขายที่พ่ายแพ้ให้กับมวยรองในตลาดด้วยหรือไม่
ชัยชนะของ Dr Pepper มีฐานที่มั่นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะไวรัลวิดีโอบน TikTok ที่เชิญชวนให้เกิดการทดลองสารพัดเมนูที่จะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะเทรนด์ “Dirty Dr Pepper” นำครีมเทียม นม มะนาว มาผสมกับเครื่องดื่ม และ “Pickle Dr Pepper” หั่นผักดองผสมกินคู่กัน ซึ่งชาเลนจ์ดังกล่าวทำให้นึกย้อนไปถึงโฆษณาตัวดังของเป๊ปซี่ในทศวรรษ 1980 จากการให้คนตาบอดทดลองชิมน้ำอัดลมแบบไม่ระบุยี่ห้อ ปรากฏว่า พวกเขาชื่นชอบรสชาติของเป๊ปซี่มากกว่า
หลังจากนั้นจึงเกิดกรณีศึกษาอันโด่งดัง ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในความผิดพลาดครั้งใหญ่ นั่นคือการออกโปรดักต์ “New Coke” เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปภายในเวลาไม่กี่เดือน แต่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเป๊ปซี่ในเวลานั้นที่ทำให้โค้กยอมปรับรสชาติกระทั่งโดนกระแสตีกลับ ความเคลื่อนไหวของ “Dr Pepper” ครั้งนี้เป็นเหมือนเงาสะท้อนความสดใหม่ของเป๊ปซี่ในอดีต กล้าทำในสิ่งที่แบรนด์เจ้าตลาดคิดไม่ถึง นำไปสู่การเติบโตในเชิงยอดขายที่มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ
“เบิร์นด์ ชมิตต์” (Bernd Schmitt) ศาสตราจารย์จาก “Columbia Business School” วิเคราะห์ว่า ความน่าสนใจของ Dr Pepper คือการมาถึงของนักสู้หน้าใหม่ท่ามกลางสงครามโคล่าระหว่างสองยักษ์ที่ต่อสู้กันมาร่วมครึ่งศตวรรษ ตำแหน่งแห่งที่ของ Dr Pepper ขณะนี้ไม่เพียงแต่เป็น “ม้าตีนปลาย” แต่ผลสำรวจจาก “Mintel” บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลกยังระบุด้วยว่า ระหว่างปี 2565 ถึง 2566 ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มประเภทโคล่าลดลงจาก 47% เป็น 43%
บวกกับราคาน้ำอัดลมที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ แม้ยอดขายเพิ่มขึ้นจากการปรับราคา แต่ปริมาณการขายกลับลดลง 1.7% โดย Mintel คาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 ความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจะยิ่งส่งผลกระทบต่อตลาดโซดามากขึ้นด้วย
ตรงกับความเห็นของ “ชมิตต์” ที่ระบุว่า การแข่งขันในตลาดน้ำอัดลมหรือน้ำโซดาจะดุเดือดขึ้นไปอีก ผู้คนเริ่มมองหาทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจกว่า เท่กว่า ในที่นี้รวมไปถึงรสชาติที่แตกต่างจากโคล่าแบบเดิมๆ ด้วย ซึ่ง “Dr Pepper” ได้ใช้ประโยชน์จากช่องว่างดังกล่าวในการปรับแต่งโปรดักต์ตามความต้องการของผู้บริโภค
นอกจาก Dr Pepper ในสหรัฐยังมีแบรนด์น้องใหม่ที่มาพร้อมภาพลักษณ์สดใสหวือหวาอีกหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น “Poppi” “Olipop” “Culture Pop” ฯลฯ แต่ละแบรนด์นำเสนอตัวเองผ่านจุดยืนของการเป็นทางเลือกใหม่ๆ อย่าง “Olipop” มีรสชาติแปลกใหม่น่าสนใจ อาทิ Banana Cream, Strawberry Vanilla, Ginger Ale เป็นต้น พร้อมยังระบุข้างกระป๋องว่า ใส่น้ำตาลเพียง 2.5 กรัม รวมถึงมีไฟเบอร์ผสมลงไปด้วย
“เป๊ปซี่” ไม่ใช่สินค้าหลัก ยอดขายตกก็ไม่กระทบภาพรวมธุรกิจ?
ภายใต้อาณาจักร “เป๊ปซี่โค” ไม่ได้มีแค่น้ำดำเป็นสินค้าเรือธงเท่านั้น “แมทธิว ควินท์” (Matthew Quint) ผู้อำนวยการ “The Center Global Brand of Leadership” สังกัดมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ระบุว่า ขณะนี้เป๊ปซี่ไม่ได้นิ่งเฉยกับเทรนด์ที่กำลังตีโอบเข้ามา บริษัทปรับเกมหันไปผลิตเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล เกลือแร่ และเครื่องดื่มชูกำลังมากขึ้น รวมทั้งยังโฟกัสสินค้าอื่นๆ ในเครือประเภทขนมขบเคี้ยวอย่าง “เลย์” (Lay) “ชีโตส” (Cheetos) “โดริโทส” (Doritos) และโปรดักต์ในกลุ่มข้าวโอ๊ตอย่าง “Quaker Oats” ด้วย
หากกางดูพอร์ตโฟลิโอของเป๊ปซี่โคจะพบว่า กลุ่มเครื่องดื่มมีสัดส่วนน้อยกว่า 50% ของสินค้าทั้งเครือด้วยซ้ำไป อีกทั้งในบรรดายักษ์น้ำอัดลมทั้งตลาด “เป๊ปซี่โค” ก็เป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวที่มีส่วนแบ่งจากสินค้าประเภทน้ำอัดลมโซดาเป็นส่วนน้อย กำไรมากกว่าครึ่งของบริษัทมาจาก “FritoLay” กลุ่มขนมขบเคี้ยวมากกว่า นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เป๊ปซี่เลือกจะนิ่งเฉย ไม่ออกแถลงการณ์ ไม่ยี่หระกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ในอนาคตถ้าแนวโน้มตลาดเป็นไปตามคาดจริง ความนิยมและเทรนด์ของผู้บริโภคหันหน้าเข้าสู่ความแปลกใหม่แบบที่เป๊ปซี่ให้ไม่ได้ ในฐานะแบรนด์ใหญ่ก็คงต้องวางแผนออกอาวุธสู้ศึกกันบ้าง แต่ขณะเดียวกันภายใต้ร่มธุรกิจในเครือกว่า 63 แบรนด์ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เป๊ปซี่โคจะหันไปทุ่มเงินกับกลุ่มขนมขบเคี้ยวที่เป็นสินค้าทำเงินมากกว่าอยู่ดี
แม้ว่าโซดารสเผ็ดร้อนจัดจ้านกำลังเป็นที่สนใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่อย่างไรเสีย “โคล่า” ก็ยังเป็นรสดั้งเดิมที่ผู้คนคุ้นเคยเสมอ การเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มน้ำอัดลมยังเป็นหมุดหมายสำคัญของเป๊ปซี่ ไม่เพียงเรื่องตัวเลขผลประกอบการ แต่การทวงคืนตำแหน่งน้ำอัดลมเบอร์ 2 เป็นหัวโขนที่เป๊ปซี่พึงรักษาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการโบกสะบัดประกาศศักดาผ่านแคมเปญหรือ “บิ๊กมูฟ” อื่นๆ
จับตาดูกันต่อไปว่า เป๊ปซี่จะใช้กลวิธีใดเพื่อทวงคืนบัลลังก์กลับคืนมาได้สำเร็จ
อ้างอิง: Business Insider 1, Business Insider 2, Coca-Cola Company, Dallas News, Independent, Innis Maggiore, PepsiCo, Pitchfork, Retail Wire, The Guardian, Visual Capitalist