‘ตั้งชื่อทารก’ ธุรกิจสุดบูม บางชื่อแพงกว่า 3 แสนบาท

‘ตั้งชื่อทารก’ ธุรกิจสุดบูม บางชื่อแพงกว่า 3 แสนบาท

การตั้งชื่อลูกจะไม่ได้มีแค่เปิดหาจากตำราอีกต่อไป เพราะทุกวันนี้มีธุรกิจตั้งชื่อลูกเกิดขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งเพราะพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกชื่อซ้ำใครแต่ยังมีความหมายที่ดี ถึงขั้นยอมจ่ายกว่า 300,000 บาทต่อหนึ่งชื่อ

KEY

POINTS

  • ปัจจุบันการตั้งชื่อลูกกลายเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมากในฝั่งตะวันตก เพราะพ่อแม่อยากให้ลูกมีชื่อที่โดดเด่นและความหมายดี ที่สำคัญต้องไม่ซ้ำใคร
  • บรรดาที่ปรึกษาการตั้งชื่อลูกหลายคนเล่าว่าพวกเขาสามารถคิดค่าบริการได้ถึง 10,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 362,125 บาท จากอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 23 ก.ค. 2024)
  • ในอดีตการจ้างที่ปรึกษาตั้งชื่อลูกมักเป็นเรื่องของคนดังและคนรวย แต่ปัจจุบันพ่อแม่ส่วนมากก็อยากให้ลูกตัวเองมีความโดดเด่นเช่นกัน

ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่พ่อแม่นิยมตั้งชื่อลูกตามความเชื่อและความเป็นมงคล ไม่ว่าจะเป็นการขอให้พระตั้งให้ เปิดตำราตั้งชื่อลูก หรือพึ่งพาเทคนิคทางโหราศาสตร์ แต่ฝั่งตะวันตกเองก็เริ่มให้ความสำคัญในการตั้งชื่อลูกเช่นกัน และที่สำคัญยังกลายเป็นธุรกิจทำรายได้ดีอีกด้วย เมื่อเหล่าผู้ให้คำปรึกษาด้านการตั้งชื่อลูกสามารถหาเงินได้ถึงหลักแสนบาทต่อการตั้งชื่อให้เด็กหนึ่งคน

การตั้งชื่อลูกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเมื่อทุกวันนี้มีที่ปรึกษาด้านการตั้งชื่อทารกเป็นจำนวนมาก โดยสิ่งที่พวกเขาทำก็คือค้นหารายชื่อยอดนิยม วิเคราะห์แนวโน้มหรือความเหมาะสมกับตัวเด็ก และให้คำแนะนำแก่ครอบครัว ซึ่งพวกเขาสามารถคิดค่าบริการได้ถึง 10,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 362,125 บาท จากอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 23 ก.ค. 2024)

ที่ผ่านมาธุรกิจการตั้งชื่อลูกมักมีลูกค้าเป็นคนรวยหรือคนมีชื่อเสียง แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว เพราะพ่อแม่ส่วนมากก็อยากให้ลูกมีชื่อที่โดดเด่น ทันสมัย ไม่ซ้ำใคร ซึ่งการตั้งชื่อให้ทารกและเด็กที่กำลังจะเกิดก็มีความสร้างสรรค์มากขึ้น เช่น การทำเรื่องแปลก ให้กลายเป็นเรื่องปกติ

ตัวอย่างเช่น อินฟลูเอนเซอร์ชาวแคนาดา ฟรานเชสกา ฟาราโก ก็ออกมาเปิดเผยว่า เธอและคนรักกำลังพิจารณาชื่อของลูกแฝดที่กำลังจะเกิดตามที่ได้รับคำแนะนำมา เช่น Heart, Orca, Afternoon, Lyrics และ Baby ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละชื่อนั้นอาจดูแปลกตาไปสักนิดสำหรับคนตะวันตก และยังมีหลายคนมองว่าดูนอกกรอบมากเกินไป

แต่ในปัจจุบันก็มีเด็กหลายคนที่มีชื่อเป็น “คำนาม” หรือ “คำวิเศษณ์” และบางคนก็มีชื่อที่เป็นเพียงแค่คำคำเดียวเท่านั้น ย้อนกลับไปในปี 2004 “​​กวินเน็ธ พัลโทรว์” ตั้งชื่อลูกสาวของเธอว่า “Apple” และหลายคนก็มองว่ามันคือชื่อที่แปลกประหลาด แต่หากมองในมุมปัจจุบันก็ถือว่าเป็นชื่อที่ค่อนข้างธรรมดา

ข้อมูลจาก Business Insider ระบุว่าบรรดาผู้ให้คำปรึกษาด้านการตั้งชื่อเห็นพ้องว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมมากมาย ทำให้เกณฑ์ในการตั้งชื่อกว้างขึ้นพวกเขาจึงต้องมองหาความโดดเด่นหรือลูกเล่นใหม่ๆ มาช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด

หนึ่งในคนที่ออกมาให้ความเห็นก็คือ “สเตฟ คอฟฟิลด์” เจ้าของบัญชีอินสตาแกรมและติ๊กต่อก “Names With Steph” ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการทำธุรกิจของเธอเล่าว่า แม้มีการขอชื่อลูกแบบแปลกสุดขั้วจากลูกค้า แต่ก็เธอก็รับฟังพวกเขา เช่น หากพวกเขาอยากได้ชื่อที่มีแรงบันดาลใจจากนิยายกรีกโบราณ เธอก็จะไปตามหาคำหรือชื่อที่แปลกสุดๆ ซึ่งมันคือสิ่งที่ทำให้เธอตื่นเต้นมาก

ทางด้าน “มอร์แกน ทิมม์” ผู้เริ่มต้นให้คำปรึกษาด้านการตั้งชื่อในปี 2022 ระบุว่าเธอเริ่มหาข้อมูลจากหนังสือรุ่นยุคเก่า ประกอบกับรายชื่อเด็กทารกแรกเกิดในอดีตเพื่อเป็นแนวทางในการให้ข้อมูลกับลูกค้า นอกจากนี้เธอยังเล่าว่าลูกค้าหลายคนของเธอที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในยุค 80 หรือ 90 ไม่ต้องการให้ลูกของพวกเขามีตัวอักษรย่อต่อท้าย เช่น Jessica L. หรือ Hannah S. เพราะพวกเขาต้องการชื่อที่มีความแปลกใหม่เท่านั้น

อีกคนหนึ่งที่ออกมาแบ่งปันเรื่องราวของธุรกิจนี้ก็คือ “เจสซี ปาแกตต์” โดยเธอเล่าว่ารู้สึกทึ่งกับชื่อแปลกๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะชื่อของเหล่ายูทูเบอร์ แต่หากย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน ชื่อที่มีความแปลกใหม่ไม่ธรรมดามักจะเป็นชื่อที่ “หรูหรา” เพราะจะมีแค่คนรวยและคนดังเท่านั้นที่สนใจภาพลักษณ์ภายนอกและสถานะทางสังคม แต่เมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การพยายามสรรหาชื่อแปลกๆ มาตั้งให้ลูกก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปในที่สุด

สำหรับ “คอลลีน สลาเกน” ที่ปรึกษาด้านการตั้งชื่อลูกอีกคนหนึ่งเล่าว่า ปัจจุบันนี้คนต้องการเป็นที่ยอมรับในฐานะปัจเจกบุคคล และนอกจากชื่อที่ไม่ธรรมดาแล้ว เธอยังสังเกตว่าพ่อแม่มักหันไปใช้ “ชื่อแบบดั้งเดิมที่ไม่ธรรมดา” เช่น Margaret, Ingrid, Eugene และ Bernard ขณะเดียวกันเธอก็ต้องนำชื่อและนามสกุลของเด็กคนอื่นๆ มาพิจารณาร่วมกันด้วยเพื่อไม่ให้คล้ายหรือใกล้เคียงกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากเกินไป และลูกค้าบางส่วนยังมีความชื่อว่าชื่อที่พิเศษจะช่วยให้ลูกของพวกเขาประสบความสำเร็จไปตลอดชีวิต

จากตัวอย่างผู้ให้คำปรึกษาการตั้งชื่อลูกที่ยกมาเบื้องต้นจะเห็นได้ว่าเป็น “ธุรกิจ” ที่ทำเงินได้อย่างมหาศาล เพราะพ่อแม่สมัยนี้ต้องการให้ลูกมีชื่อที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร แต่ก็ยังต้องมีความหมายที่ดีด้วย แต่ เจสซี ก็อธิบายเพิ่มเติมว่าแม้อาชีพนี้จะทำเงินได้เยอะมาก แต่ถ้าตั้งใจทำเพื่อหาเงินอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้มีใจรักมากนักก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญจะต้องขยันสร้างเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียด้วย เพราะนั่นก็ถือว่าเป็นแหล่งรายได้ที่ดีอีกช่องทางหนึ่ง โดยเธอเองก็มีผู้ติดตามบนติ๊กต่อกมากกว่า 100,000 คน และเพื่อนร่วมอาชีพบางคนของเธอมีผู้ติดตามมากกว่า 300,0000 คน

“เจ้าของบัญชีบางคนในกลุ่มนี้ทำเงินได้มากกว่าหลายพันดอลลาร์ต่อเดือนจากการที่มีผู้ติดตามเข้าไปรับชมคลิป” เจสซี่กล่าว

ทางด้านคอลลีนระบุว่าค่าปรึกษาตั้งชื่อลูกกับเธอนั้นเริ่มต้นที่ 250 ดอลลาร์ (ประมาณ 9,000 บาท) โดยเธอจะให้คู่รักกรอกแบบสอบถามที่เป็นรายละเอียดของชื่อประเภทต่างๆ ที่พวกเขาชอบและอยากให้ชื่อลูกของพวกเขามีจุดเด่นไม่ซ้ำใคร รวมถึงมีความหมายที่ดีและล้ำลึก

นอกจากนี้ที่ปรึกษาตั้งชื่อเด็กทารกบางคนสามารถคิดค่าบริการเป็นเงินจำนวนมากได้มากกว่าที่หลายคนคิดอีก หนึ่งในนั้นก็คือ “เทย์เลอร์ เอ. ฮัมฟรีย์” ซึ่งคิดราคาตั้งแต่ 1,500-10,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 54,000-360,000 บาท) ซึ่งเธอยังมีบริการบางอย่างที่ช่วยให้พ่อแม่ได้ชื่อลูกที่ตรงตามความต้องการมากขึ้นด้วย (อ้างอิงจาก The New Yorker)

ไม่ใช่แค่นั้นแต่ยังมีบริษัทรับตั้งชื่อลูกแบบจริงจังด้วย เช่น “Nameberry” ที่มีที่ปรึกษาในการตั้งชื่อคือ “โซฟี คิม” คิดราคาเริ่มต้น 350 ดอลลาร์ และยังมีการให้บริการในรูปแบบแพคเกจอีกด้วย ซึ่งจะมาพร้อมเจ้าหน้าที่คอยแนะนำการตั้งชื่อตลอด 9 เดือน และยังสามารถเข้าประชุมเพื่อคัดเลือกชื่อได้อย่างไม่จำกัด

ด้านสเตฟก็ระบุว่าเธอรู้ว่าสามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วยการตั้งชื่อทารก เมื่อเธอเริ่มพูดถึงเรื่องนี้ในติ๊กต่อกของเธอ ซึ่งก่อนหน้านี้เธอมักจะแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการคลอดลูกเป็นหลักและสอดแทรกการชื่อลูกเข้าไปบ้าง นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นช่องทางการทำเงินจากการตั้งชื่อลูก เพราะมีคนมากมายส่งข้อความมาขอคำปรึกษาเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก

“วิธีที่สำคัญที่สุดของความสำเร็จในธุรกิจตั้งชื่อเด็ก คือการทำให้คนเห็นว่าเราน่าเชื่อถือ ต่างจากการใช้ AI” สเตฟกล่าว แต่ถึงอย่างไรที่ปรึกษานั้นก็ไม่ใช่อัลกอริทึมจึงทำให้รับลูกค้าได้อย่างจำกัด

อ้างอิงข้อมูล : Business Insider และ The New Yorker