ททท. ปั๊มยอด ‘อินเดียเที่ยวไทย’ นิวไฮ 2 ล้านปี 67 แอร์ไลน์รุกเปิดเส้นทางใหม่

ททท. ปั๊มยอด ‘อินเดียเที่ยวไทย’ นิวไฮ 2 ล้านปี 67 แอร์ไลน์รุกเปิดเส้นทางใหม่

หลังจากรัฐบาลไทยออกมาตรการ 'ยกเว้นวีซ่า' (Visa-Free) สำหรับนักท่องเที่ยวที่ถือหนังสือเดินทางสัญชาติอินเดียและไต้หวัน เฟสแรกตั้งแต่ 10 พ.ย. 2566 - 10 พ.ค. 2567 ส่งผลให้มีการเดินทางของ 'นักท่องเที่ยวอินเดีย' เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี 2565

KEY

POINTS

  • ตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทยปี 2567 มีแนวโน้มทำนิวไฮ ทะลุ “2 ล้านคน” หลังสถิติ 6 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนสะสมแล้ว 1.04 ล้านคน มากเป็นอันดับ 3 รองจากจีน และมาเลเซีย
  • ปัจจัยสนับสนุนคือฐานชาวอินเดีย “กลุ่มคนรุ่นใหม่” (Young Generation) มีความต้องการออกเดินทางท่องเที่ยวสูง ขณะเดียวกันพฤติกรรมการบริโภคยังเปลี่ยนไป จากเดิมเน้นออมเงิน เปลี่ยนเป็นใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อไลฟ์สไตล์และความพึงพอใจ ออกเดินทางต่างประเทศปีละหลายครั้ง
  • หลังการเจรจา “สิทธิการบิน” ระหว่างหน่วยงานรัฐไทย-อินเดีย เมื่อกลางเดือน มี.ค. 2567 เพิ่มเพดานจำนวนที่นั่งโดยสาร จากเดิม 29,759 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เป็นประมาณ 42,000 ที่นั่งต่อสัปดาห์ ส่งผลให้สายการบินต่างๆ มีความตื่นตัวมาก พร้อมเพิ่มเที่ยวบิน ปรับเปลี่ยนขนาดเครื่องรองรับดีมานด์

 

หลังจากรัฐบาลไทยออกมาตรการ “ยกเว้นวีซ่า” (Visa-Free) สำหรับนักท่องเที่ยวที่ถือหนังสือเดินทางสัญชาติอินเดียและไต้หวัน เฟสแรกตั้งแต่ 10 พ.ย. 2566 - 10 พ.ค. 2567 ส่งผลให้มีการเดินทางของ “นักท่องเที่ยวอินเดีย” เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี 2565 โดยมาตรการดังกล่าวกระตุ้นการเดินทาง ทำสถิติ “นิวไฮ” จากนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทยสูงสุด 7,005 คนต่อวัน เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2567

ล่าสุด รัฐบาลไทยได้ต่ออายุมาตรการยกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวอินเดียและไต้หวัน เฟส 2 มีผลตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.-11 พ.ย. 2567 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนช่วยเพิ่มการตัดสินใจในการเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวอินเดีย และลดผลกระทบจากนโยบายด้านภาษีที่รัฐบาลอินเดียเรียกเก็บภาษีสำหรับแพ็กเกจท่องเที่ยวขาออก เพิ่มจาก 5% เป็น 20% ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นมา ซึ่งอาจส่งผลต่อความต้องการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวอินเดีย

'อินเดียเที่ยวไทย' ปี 67 นิวไฮ 2 ล้านคน

พัฒน์สี เพิ่มวงศ์เสนีย์ ผู้อำนวยการภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทยปี 2567 น่าจะถึง “2 ล้านคน” สูงกว่าเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ 1.7 ล้านคน หลังจากสถิติช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียสะสมแล้ว 1.04 ล้านคน

นับเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2566 ที่มีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทย 1.62 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 14% เทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1.42 ล้านคน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 38,052 บาทต่อคนต่อทริป ก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศไทยเป็นเงิน 61,970 ล้านบาท ส่วนปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียเคยทำนิวไฮไว้ที่จำนวน 1.96 ล้านคน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 40,814 บาทต่อคนต่อทริป สร้างรายได้กว่า 80,039 ล้านบาท

ททท. ปั๊มยอด ‘อินเดียเที่ยวไทย’ นิวไฮ 2 ล้านปี 67 แอร์ไลน์รุกเปิดเส้นทางใหม่ พัฒน์สี เพิ่มวงศ์เสนีย์

ปัจจัยหนุน 'กลุ่มคนรุ่นใหม่' เน้นใช้จ่ายตอบสนองไลฟ์สไตล์

สำหรับ “ปัจจัยสนับสนุน” ที่ส่งผลต่อการเดินทางของตลาดอินเดีย มีทั้งนโยบาย “Connect India to The World” ของรัฐบาลอินเดีย ส่งเสริมให้พลเมืองออกเดินทางท่องเที่ยว โดยมีการเจรจากับหลายสายการบินให้เพิ่มขนาดตัวเครื่องบิน เพื่อเพิ่มการรองรับให้ได้มากขึ้น

รวมถึงประชากรอินเดียใน “กลุ่มคนรุ่นใหม่” (Young Generation) อายุเฉลี่ย 28 ปี และมีรายได้ระดับปานกลางมีจำนวนมากขึ้น มีความต้องการออกเดินทางท่องเที่ยวสูงเช่นเดียวกับกลุ่มผู้สูงวัย ขณะเดียวกันพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมชาวอินเดียเน้นเก็บออมเงิน เปลี่ยนเป็นใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อไลฟ์สไตล์และความพึงพอใจ! ออกเดินทางต่างประเทศปีละหลายครั้ง ไม่เฉพาะการพักผ่อนส่วนตัว แต่ยังนิยมไปจัดงานแต่งงาน เลี้ยงฉลอง เข้าร่วมงาน และชมการแข่งขันกีฬา

 

เทรนด์การบิน 'อินเดีย' ก้าวสู่ตลาดใหญ่ที่สุดในโลก

“โอกาสด้านการบิน อินเดียมีแนวโน้มจะเป็นหนึ่งในตลาดธุรกิจการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก! ในอนาคตอันใกล้นี้มีแผนเปิดตัวสายการบินใหม่ Akasa ซึ่งจะทำการบินระหว่างประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย”

โดยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีสายการบินเปิดเที่ยวบินใหม่จำนวน 3 สายการบิน ได้แก่ สายการบินอินดิโก (Indigo) เส้นทาง ไฮเดอราบัด-กรุงเทพฯ ทำการบิน 1 เที่ยวบินต่อวัน เริ่ม 26 ก.พ. การบินไทย เส้นทาง โกชิ-กรุงเทพฯ ทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่ม 2 เม.ย. และไทยแอร์เอเชีย เส้นทาง วิศาขาปัตตนัม-กรุงเทพฯ ทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่ม 9 เม.ย. ด้านสายการบินแอร์อินเดีย (Air India) เพิ่มเที่ยวบิน เส้นทาง เดลี-ภูเก็ต จาก 1 เที่ยวต่อวัน เป็น 2 เที่ยวบินต่อวัน เริ่ม 1 มิ.ย. เพื่อรองรับความต้องการบินไปยังภูเก็ตมากขึ้น

 

ขยายสิทธิการบิน 'ไทย-อินเดีย' หนุนแอร์ไลน์เปิดเส้นทาง-เพิ่มเที่ยวบิน

และจากการหารือร่วมกันระหว่างสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และกระทรวงการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ 14-15 มี.ค. 2567 ได้มีความตกลงเพิ่มเพดานจำนวนที่นั่งโดยสารระหว่างประเทศไทยและอินเดีย จากเดิม 29,759 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เป็นประมาณ 42,000 ที่นั่งต่อสัปดาห์ ซึ่งสายการบินต่างๆ มีความตื่นตัวมาก คาดว่าจะเริ่มมีการปรับเปลี่ยนขนาดเครื่องบินโดยสาร และเพิ่มเที่ยวบินในบางเส้นทาง

“บางสายการบินยังเตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ อาทิ การบินไทย มีแผนเปิดบินเส้นทาง อมฤตสาร์-กรุงเทพฯ สายการบินอินดิโก มีแผนเปิดเส้นทาง นิวเดลี-เชียงใหม่ หรือ กระบี่ เป็นต้น คาดว่าจะมีความเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้นอีกใน 2 เดือนข้างหน้าในช่วงไฮซีซันที่จะมาถึง”

สำหรับภาพรวม “ตารางการบินฤดูร้อน” ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. - 26 ต.ค. 2567 เส้นทางระหว่าง “ไทย-อินเดีย” ปัจจุบันมีสายการบินให้บริการรวม 8 สายการบิน ได้แก่ การบินไทย 8 เส้นทาง จำนวน 71 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, ไทยแอร์เอเชีย 9 เส้นทาง จำนวน 44 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, นกแอร์ 1 เส้นทาง จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, ไทยไลอ้อนแอร์ 3 เส้นทาง จำนวน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, อินดิโก แอร์ไลน์ส 9 เส้นทาง จำนวน 58 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, แอร์อินเดีย 3 เส้นทาง จำนวน 29 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, สไปซ์ เจ็ต 3 เส้นทาง จำนวน 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และวิสตารา แอร์ไลน์ส 2 เส้นทาง จำนวน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

 

เปิด TOP 5 ชาวอินเดียนิยมไปเที่ยวเมืองไหนในไทยมากที่สุด

ด้าน “แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม” ในประเทศไทย 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวอินเดียคือ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต กระบี่ และพังงา ส่วนเมืองรองที่มีศักยภาพคือ พังงา กระบี่ ภูเก็ต (พื้นที่ใหม่นอกจากหาดป่าตอง) สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพะงัน) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และกาญจนบุรี

โครงสร้างตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มจัดการเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) มากถึง 76% และกรุ๊ปทัวร์ 24% โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยครั้งแรก 62% และเดินทางซ้ำ 38% กิจกรรมยอดนิยม ได้แก่ กินอาหารไทย ชมแสงสียามค่ำคืน เที่ยวชายหาด นวดและสปา และชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ตามลำดับ

ปัจจัยหลักที่ทำให้เลือกเดินทางมาไทยคือ “ความหลากหลาย” ของแหล่งท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่ม และอัธยาศัยไมตรีของคนท้องถิ่น โดยรูปแบบการท่องเที่ยวของชาวอินเดียในปัจจุบัน เน้นการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ การเดินทางเพื่อธุรกิจ และการเดินทางมาเพื่อฉลองการแต่งงานและครบรอบวันแต่งงานเพิ่มมากขึ้น

“กลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดียที่มีศักยภาพในการออกเดินทาง แต่ละกลุ่มมีขนาดตลาด (Market Size) ใหญ่ ทั้งกลุ่มครอบครัว กลุ่มมิลเลนเนียลส์ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มคู่แต่งงานและฮันนีมูน และกลุ่มผู้เล่นกอล์ฟ ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ (New Segment) มีทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มจัดงานเลี้ยงฉลอง (Celebrations) กลุ่มขับรถเที่ยวเอง กลุ่มฟื้นฟูสุขภาพและชะลอวัย และกลุ่มท่องเที่ยวเชิงผจญภัย”

ททท. ปั๊มยอด ‘อินเดียเที่ยวไทย’ นิวไฮ 2 ล้านปี 67 แอร์ไลน์รุกเปิดเส้นทางใหม่