‘ทีเส็บ’ ลุยประมูลสิทธิจัดเมกะอีเวนต์ หนุน ‘ไมซ์ไทย’ ฟื้นรายได้ 2 แสนล้าน

'ทีเส็บ' เร่งเครื่องปีงบ 2568 ทวงคืนรายได้ไมซ์ไทยแตะ 2 แสนล้าน กรณีดีที่สุดเทียบเท่าปี 2562 ก่อนโควิด เดินหน้าลุยประมูลสิทธิดึง 'เมกะอีเวนต์' บูสต์กระแสเดินทาง เพิ่มจับจ่าย หลังปีงบ 2567 ต่างประเทศหัวหอกโตเด่น 10 - 15% พยุงตลาดรวม
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE: การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และงานแสดงสินค้า) ของประเทศไทยในปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่เดือนต.ค.2566 - ก.ย.2567 มีแนวโน้มฟื้นตัวสดใสดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ ประเมินว่าปีงบประมาณ 2567 แนวโน้มรายได้รวมไมซ์ไทยจะเติบโต 5% เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 136,000 ล้านบาท จากประมาณการนักเดินทางไมซ์รวม 23,180,000 คน เร็วกว่าคาดการณ์ไว้ 1 ปี เป็นเป้ารายได้ตลาดต่างประเทศ 63,000 ล้านบาท จากนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ 950,000 คน และรายได้ตลาดในประเทศ 73,000 ล้านบาท จากนักเดินทางไมซ์ชาวไทย 22,230,000 คน
“ตลาดไมซ์ต่างประเทศจะเติบโตเกินเป้าหมายปีงบประมาณ 2567 มากถึง 10-15% เทียบปีงบก่อน ส่วนตลาดไมซ์ในประเทศปีงบนี้ยังไปไม่ถึงเป้า เหลือช่องว่างอีกเกือบ 10% ที่ต้องทำเพิ่ม เร่งกระตุ้นตลาดไมซ์ในประเทศช่วงไตรมาสสุดท้าย (ก.ค.- ก.ย.)”
ทั้งนี้ ไมซ์ไทย 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566 - มิ.ย.2567) คาดมีนักเดินทางไมซ์รวม 18,000,000 คน สร้างรายได้ 109,669 ล้านบาท เป็นนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ 894,000 คน สร้างรายได้ 52,980 ล้านบาท ส่วนนักเดินทางไมซ์ในประเทศมี 17,000,000 คน สร้างรายได้ 56,689 ล้านบาท
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ
สำหรับ 10 ประเทศที่มีนักเดินทางไมซ์เข้าไทยสูงสุด สะสมตั้งแต่ไตรมาส 1-2 ของปีงบประมาณ 2567 มีดังนี้
อันดับ 1 จีน 196,538 คน
อันดับ 2 อินเดีย 119,964 คน
อันดับ 3 มาเลเซีย 86,945 คน
อันดับ 4 สิงคโปร์ 24,998 คน
อันดับ 5 เยอรมนี 22,294 คน
อันดับ 6 เกาหลีใต้ 20,772 คน
อันดับ 7 เวียดนาม 20,446 คน
อันดับ 8 สหรัฐ 18,321 คน
อันดับ 9 ฮ่องกง 15,095 คน
อันดับ 10 ญี่ปุ่น 13,374 คน
อัดแผนกระตุ้นไมซ์ “จีน-อินเดีย-อินโดฯ”
โดยการกระตุ้นตลาดไมซ์ต่างประเทศไตรมาส 4 ปีงบประมาณ 2567 (ก.ค.- ก.ย.) ทีเส็บเตรียมจัดโรดโชว์ และเข้าร่วมงานเทรดโชว์ต่างประเทศ เจาะกลุ่ม 3 ประเทศเป้าหมายหลัก เริ่มจากอินเดีย ปลายเดือนก.ค. ที่เมืองกัลกัตตา และเมืองมุมไบ คาดมีงานมาจัดในไทยไม่ต่ำกว่า 40 งาน ดึงนักเดินทางไมซ์ 8,000 คน สร้างรายได้ 528 ล้านบาท
ต่อด้วยจีน เดือนส.ค. ที่นครเซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว คาดมีงานมาจัดในไทยไม่ต่ำกว่า 45 งาน ดึงนักเดินทางไมซ์ 9,000 คน สร้างรายได้ 594 ล้านบาท ปิดท้ายด้วย อินโดนีเซีย เดือนก.ย. คาดมีงานจัดในไทยไม่ต่ำกว่า 25 งาน ดึงนักเดินทางไมซ์ 5,000 คน สร้างรายได้ 300 ล้านบาท รวมถึงเตรียมนำผู้ประกอบการไมซ์ไทยเข้าร่วมงานเทรดโชว์ IMEX America 2024 เพื่อเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อในตลาดอเมริกาตุลาคมนี้ด้วย
นอกจากนี้ มีงานไมซ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นในไทยช่วงไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2567 อาทิ งาน The 27th IUPAC International Conference on Chemistry Education หรืองานประชุมวิชาการนานาชาติด้านงานเคมีศึกษาในระดับสากล วันที่ 15-19 ก.ค.2567 ณ เมืองพัทยา ชลบุรี, งาน Bangkok International Digital Content Festival 2024 หรืองานเทศกาลด้านดิจิทัลคอนเทนต์ใหญ่สุดของไทย วันที่ 5-8 ส.ค.2567 กรุงเทพฯ และงาน Thailand International LGBTQ + Film & TV Festival 2024 หรืองานเทศกาลเฉลิมฉลองความหลากหลาย และความเท่าเทียมทางเพศในสังคม ผ่านผลงานศิลปะในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ วันที่ 20-24 ก.ย.2567 กรุงเทพฯ เป็นต้น
ทวงคืนรายได้ไมซ์ไทย 2 แสนล้านในปีงบ 68
ทีเส็บประมาณการนักเดินทาง และรายได้จากตลาดไมซ์ในปีงบประมาณ 2568 เดือนต.ค.2567- ก.ย.2568 กรณีดีที่สุด (Best Case) คือ ทำรายได้รวม 200,000 ล้านบาท ฟื้นตัว 100% เท่ากับปี 2562 ก่อนโควิดระบาด จากนักเดินทางไมซ์ 34,000,000 คน เป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ รายได้ 92,000 ล้านบาท จาก 1,400,000 คน ส่วนรายได้จากตลาดในประเทศ 108,000 ล้านบาท จาก 32,000,000 คน
ทีเส็บ เสนอของบประมาณปี 2568 วงเงิน 888 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2567 ซึ่งได้มา 840 ล้านบาท โดยจะนำไปจัดเทรดโชว์ และโรดโชว์ส่งเสริมการขาย พัฒนาแฟลกชิป และโปรดักต์ใหม่ๆ ด้านไมซ์ พร้อมผลักดันไปสู่ภูมิภาคจากการกระจายงานไปจัดที่ไมซ์ซิตี้ 10 เมือง และเมืองที่มีศักยภาพอีก 9 เมือง
ยังมีงานพัฒนาดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันองค์กรเพื่อให้ทันท่วงทีกับการเปลี่ยนแปลง และนำไปพัฒนาไมซ์ไทยสู่ความยั่งยืนตามเป้าหมายปี 2573 เป็นภาพใหญ่ที่ทีเส็บทำมาเป็น 10 ปี ต้องจัดทำมาตรฐานนี้ให้เสร็จภายในปี 2571 ตามหมุดหมาย เช่น การพัฒนาสถานที่จัดประชุมและงานด้านไมซ์ให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอนมากที่สุด
ประมูลสิทธิดึง 'เมกะอีเวนต์' จัดไทย
ขณะเดียวกัน มีงบด้านเมกะอีเวนต์ เพื่อนำไปประมูลสิทธิ (Bidding) ดึงงานใหญ่ๆ มาจัดในเมืองไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะงานอีเวนต์กีฬาขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีอีกหลายโครงการที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้เดินหน้า เช่น งาน World Pride 2030 ที่ทีเส็บกำลังประมูลสิทธิให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้ ส่วนการประมูลสิทธิงานใหม่อื่นๆ ชนิดเรียกเสียงฮือฮาได้นั้น มีหลายงานที่ยังเปิดเผยไม่ได้ ซึ่งมองว่าประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับการจัดงานใหญ่ๆ เหล่านี้
โดยรัฐบาลได้สนับสนุนให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางงานแสดงสินค้า และเทศกาลระดับนานาชาติ หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนคือ การร่วมกับทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า และงานเทศกาลระดับโลก อีกตัวอย่างโครงการสำคัญร่วมกับกระทรวงเจ้าภาพในการดึงงานร่วมกันคือ โครงการประมูลสิทธิงานประชุมนานาชาติ One Ministry, One Convention (หนึ่งกระทรวง หนึ่งงานประชุมนานาชาติ) เพื่อยกระดับไทยให้เป็นสถานที่จัดงานสำคัญของภูมิภาค ผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ไทยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการใช้จ่ายของนักเดินทางธุรกิจคุณภาพสูงจากทั่วโลก
“ยังไม่รวมงบกลางที่ทีเส็บมีแผนจะเสนอขอในปีงบประมาณ 2568 อีกต่างหาก วงเงินราว 323 ล้านบาท เพื่อนำไปส่งเสริมด้านซอฟต์พาวเวอร์”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์