โรงแรมไทย ‘ค้าน’ แก้ กม. ต่างชาติถือครองคอนโด 75% หวั่นปล่อยขายรายวันตัดราคา

โรงแรมไทย ‘ค้าน’ แก้ กม. ต่างชาติถือครองคอนโด 75% หวั่นปล่อยขายรายวันตัดราคา

กลายเป็นประเด็นฮอตทันที! หลังรัฐบาลมีแนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน 'ภาคอสังหาริมทรัพย์' หนึ่งในนั้นคือการปรับแก้กฎหมายให้ 'ชาวต่างชาติ' ถือกรรมสิทธิ์ 'คอนโดมิเนียม' เพิ่มสัดส่วนจากไม่เกิน 49% เป็น 75% โดยให้กระทรวงมหาดไทยเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้กฎหมายดังกล่าว

เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า สมาคมฯ “ไม่เห็นด้วย” กับที่รัฐบาลจะแก้กฎหมายให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมได้ถึง 75% เพราะจะเอื้อให้มีการปล่อยห้องเช่าขายรายวันแข่งกับโรงแรมมากขึ้น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน จนก่อให้เกิด “สงครามตัดราคา” (Price War) ที่มีอยู่แล้ว รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก!

“นอกเหนือจากโรงแรมในระบบที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจะมีต้นทุนในการบริหารจัดการสูงกว่าโรงแรมนอกระบบแล้ว เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และอื่นๆ โดยปัจจุบันมีโรงแรมที่พักในไทยเปิดขายห้องพักรายวันบนแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) รวมกว่า 40,000 แห่ง เฉพาะโรงแรมในระบบมีเพียง 15,000-16,000 แห่งเท่านั้น ที่เหลือราว 25,000 แห่งเป็นโรงแรมนอกระบบ หากการแก้กฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจาก ครม. จะทำให้มีคอนโดฯ มาปล่อยห้องขายรายวันแข่งกับโรงแรมมากขึ้น นอกจากนี้ยังกังวลว่าในสัดส่วน 25% ที่เหลือของคนไทย อาจมีนอมินีต่างชาติเข้ามาแทรกอีกด้วย”

วอนรัฐบาลแก้ภาษีที่ดินฯ อุ้มโรงแรมเล็ก

นอกจากนี้ สมาคมฯอยากให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขปัญหา “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ที่อยู่ระหว่างการทบทวน หลังส่งผลกระทบหลายอย่าง อาทิ “โรงแรมขนาดเล็ก” ที่ตั้งอยู่ในเขตสีลมและชิดลม ขายห้องพักได้ 1,000-2,000 บาทต่อคืน ไม่สามารถขยับราคาได้เหมือนโรงแรมที่ว่าจ้างเชนบริหาร แต่ต้องเสียภาษีที่ดินฯ ในอัตราสูงมากเพราะตั้งอยู่ในย่านที่มีราคาประเมินที่ดินสูง รวมถึงกรณีโรงแรมที่เปิดให้บริการบางส่วน เพราะลูกค้ายังกลับมาไม่เต็มที่จากผลกระทบโควิด-19 แต่ปัจจุบันต้องเสียภาษีที่ดินฯเต็มอัตรา ต่างจากในอดีตที่มีการเสียภาษีโรงเรือน พิจารณาจากรายได้ควบคู่ไปด้วย

โรงแรมไทย ‘ค้าน’ แก้ กม. ต่างชาติถือครองคอนโด 75% หวั่นปล่อยขายรายวันตัดราคา เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย

ยื่นหนังสือถึงรัฐ เยียวยาโรงแรมไทยกรณีบิ๊กทัวร์เยอรมันยื่นล้มละลาย

เทียนประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สมาคมฯ ได้ทำหนังสือยื่นถึงกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แล้ว เพื่อให้พิจารณาเยียวยาผลกระทบจากกรณีบริษัท FTI Touristik GmbH” ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มบริษัท FTI GROUP ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวสัญชาติเยอรมัน บริษัททัวร์รายใหญ่อันดับ 3 ในยุโรป ได้ยื่นล้มละลายต่อศาลแขวงนครมิวนิก ส่งผลให้บรรดาโรงแรมในไทยได้รับผลกระทบร่วม เนื่องจากกลุ่มบริษัทดังกล่าวยังมียอดค้างชำระเงินให้กับโรงแรมในไทยรวม 111 ล้านบาท ส่วนใหญ่ 90% เป็นโรงแรมในภาคใต้

เมื่อเร็วๆ นี้ มีบริษัทนำเที่ยวของยุโรปอีกรายอย่าง “ไอทราเวล” (ITravel) เพิ่งยื่นล้มละลายเช่นกัน เบื้องต้นประเมินว่าการล้มละลายของไอทราเวลคงไม่ส่งผลกระทบต่อโรงแรมในไทยหนักเท่ากรณี FTI Touristik GmbH เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลักชัวรี และโรงแรมไม่ได้ปล่อยห้องพักให้มากนัก โดยทาง ททท. ได้แจ้งเตือนผู้ประกอบการไทยเฝ้าระวังปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง เพราะหากเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเกิดความเสียหายตามมา

 

ททท. ช่วยติดตามใกล้ชิด ป้องกันปัญหาเกิดซ้ำ

ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ททท. กล่าวเสริมว่า ททท.ได้รับการร้องขอจากสมาคมโรงแรมไทยในการติดตามกรณี FTI Touristik GmbH ได้ยื่นล้มละลาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมในวงกว้างและประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น ว่าจากนี้จะมีบริษัททัวร์ต่างชาติขนาดใหญ่เกิดปัญหาแบบนี้อีกหรือไม่ ล่าสุด ITravel บริษัททัวร์ระดับลักชัวรีได้ยื่นล้มละลายไปอีกราย หลังพบว่าเริ่มมีปัญหาการเงินจ่ายล่าช้าในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเบื้องต้น ททท.ประเมินว่ากรณีนี้ความเสียหายมีไม่มากนัก เพราะมีการทำธุรกิจกับทัวร์ไทยและกลุ่มโรงแรมระดับบนของไทยไม่มาก

“ภาคเอกชนได้ขอให้ ททท.ช่วยติดตามว่ามีบริษัทใดเข้าข่ายมีปัญหาอีกบ้าง ซึ่งต้องบอกว่าการตรวจสอบลักษณะนี้ ต้องพึ่งเอกชนเป็นอันดับ 1 เพราะข้อมูลภายในของบริษัทเอกชนไม่ได้มีการเปิดเผยกันอยู่แล้ว หากผู้ประกอบการเอกชนพบปัญหาก็สามารถส่งข้อมูลมาให้ ททท.ได้ โดยจะมอบหมายให้ ททท.สำนักงานต่างประเทศที่มีอยู่ทั่วโลก ดำเนินการติดตามผลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดซ้ำในอนาคต”

โรงแรมไทย ‘ค้าน’ แก้ กม. ต่างชาติถือครองคอนโด 75% หวั่นปล่อยขายรายวันตัดราคา

ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรปฯ ททท.