เศรษฐกิจไทยน่าห่วง ออนไลน์กระชากเงินออก การเมืองไม่นิ่ง ธุรกิจใช้เอไอต่ำ

เศรษฐกิจไทยน่าห่วง ออนไลน์กระชากเงินออก การเมืองไม่นิ่ง ธุรกิจใช้เอไอต่ำ

มุมมอง "ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ" ต่อเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก และอนาคตที่กำลังมีความเปราะบาง เผชิญภัยคุกคาม บริการออนไลน์กระชากเงินในกระเป๋าคนไทย การเมืองไร้เสถียรภาพ องค์กรฉกฉวยโอกาสจากเอไอต่ำ หนุนเอกชนผนึกกำลังเสริมแกร่งเศรษฐกิจ

งานสัมมมาใหญ่ประจำปี ที่มุ่งยกระดับเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้หลากหลายด้านอย่าง “AP Thailand presents CREATIVE TALK CONFERENCE 2024” Creative Generation ไม่เพียงมีบรรดานักธุรกิจ นักการตลาด ผู้มีไอเดียสร้างสรรค์จากหลากวงการกว่า 100 ท่าน มาเป็นวิทยากร เพื่ออัปเดตหลากเทรนด์ให้ผู้ที่สนใจได้รับรู้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับธุรกิจ รองรับการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่โอกาสสร้างการเติบโต

เวทีมากมาย หลายหัวข้อสัมมนา พูดคุย ซึ่งล้วนมีความน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “เศรษฐกิจ-ปากท้อง” ที่หลายคนมีมุมมองทั้ง “ดี-ไม่ดี” แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม สิ่งที่ประสบพบเจอ

สำหรับเวที Half Year Trends: Business and Economy มีมุมมองจาก ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง Creden.co, PaySolutions และ Gash.ai เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยมิติต่างๆ โดยเฉพาะการค้าขายออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซที่กำลังเบ่งบานอย่างมาก

 

เศรษฐกิจไทยน่าห่วง ออนไลน์กระชากเงินออก การเมืองไม่นิ่ง ธุรกิจใช้เอไอต่ำ

เศรษฐกิจออนไลน์เป็นทางหลัก ไม่ใช่ทางเลือก

หลายปีที่ผ่านมา การค้าขายค่อยๆ ทรานส์ฟอร์มสู่ออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ และมียักษ์ใหญ่เจ้าของแพลตฟอร์มชอปปิงจากต่างประเทศมาให้บริการในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นลาซาด้า(Lazada) ช้อปปี้(Shopee) ฯลฯ ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมากไป “เผา” เพื่อแลกกับการดึงผู้บริโภคให้เข้ามาช้อปออนไลน์หรือสร้าง Traffic จำนวนมหาศาล

ผ่านจุดรากเลือดแล้ว ตอนนี้หลายบริษัทเริ่มสามารถ “ทำกำไร” ได้ อย่างช้อปปี้มีหลายบริษัทลูก ภาพรวมมีกำไรกว่า 2,500 ล้าน ตั้งแต่ปี 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2566 กำไรกว่า 2,900 ล้านบาท หรือลาซาด้าก็เช่นกัน กำไรปี 2565 ทะลุกว่า 3,200 ล้านบาท และปี 2566 กำไรกว่า 3,500 ล้านบาท

ทว่า ที่มาแรง และต้องตั้งข้อสังเกตคือ “ติ๊กต็อก”(TikTok)แพลตฟอร์มใหม่ที่เข้ามาบุกตลาดไทยไม่นาน “โกยกำไร” ตั้งแต่ปีแรกๆ ของการออกสตาร์ตธุรกิจซึ่งปี 2566 ทำเงินกว่า 52 ล้านบาท

เศรษฐกิจไทยน่าห่วง ออนไลน์กระชากเงินออก การเมืองไม่นิ่ง ธุรกิจใช้เอไอต่ำ

“เทรนด์ที่จะบอกในเชิงเศรษฐกิจคือ ออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือ ทางหลัก ซึ่งยักษ์ใหญ่ข้างต้นคุมช่องทางขายออนไลน์หมดแล้ว ที่น่าสนใจคือ ธุรกิจออนไลน์ใครมาทีหลังได้เปรียบ เพราะลาซาด้า ช้อปปี้ เจ้าแรกๆ ที่เข้ามาถางหญ้าไว้แล้ว จ่ายเงินหลายหมื่นล้านบาท                                                                                                                                                                                                           เพื่อทำให้ผู้บริโภคทั้งประเทศหันมาช้อปออนไลน์ คนมาทีหลังจึงค่อนข้างสบายอย่าง ติ๊กต็อกมาปีสองปีกำไรเลย แต่เจ้าอื่นที่ขาดทุนเป็นหมื่นล้านบาท คาดการณ์ไม่เกิน 3-4 น่าจะล้างขาดทุนได้”

ใครมีต้นน้ำ-ปลายน้ำได้เปรียบ ส่วนดิลิเวอรีเกมยังโหด!

ขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ จะเห็นว่าบิ๊กเพลย์เยอร์ และองค์กรร้อยปี “ไปรษณีย์ไทย” มีกำไรแล้ว หลังผ่านการ “ขาดทุน” ไม่แพ้กับผู้เล่นรายอื่นๆ นอกจากนี้ ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส ก็กำไรเช่นกัน

ส่วนผู้เล่นในสนามอีกหลายรายยังหืดจับ ไม่ว่าจะเป็น เอสซีจี โลจิสติกส์ แฟลช เอ็กซ์เพรส นินจาแวน ดีเอชแอล อี-คอมเมิร์ซ และหนักสุดคือ เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส ฯลฯ ที่ขาดทุนกว่า 7,000 ล้านบาท

“ผู้ประกอบการที่มีธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ขาย ส่งสินค้าได้จะกินกำไร ในขณะที่รายอื่นขาดทุนหมด”

ขณะที่ฟู้ด เดลิเวอรี ยังเป็น “เกมโหด” หลายค่ายอยู่ในโหมดขาดทุนซึ่งมีทั้งลดลง และเพิ่มขึ้น อย่าง แกร็บ กำไรแล้วกว่า 1,200 ล้านบาท ในปี 2566 ส่วนฟู้ดแพนด้า ขาดทุนลดลงเหลือกว่า 500 ล้านในปี 2566 จากปีก่อนหน้าขาดทุนกว่า 6,000 ล้านบาท ไลน์แมนขาดทุนกว่า 500 ล้านบาท ในปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ขาดทุนกว่า 3,900 ล้านบาท โรบินฮู้ดหนักเพราะขาดทุนเพิ่มเป็นกว่า 2,100 ล้านบาท ในปีที่แล้ว เทียบปี 2565 ขาดทุนกว่า 1,900 ล้านบาท

“นี่คือเกมของ Back Bone ธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทย 3 หมวดหมู่ อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ และฟู้ด เดลิเวอรี”

เศรษฐกิจไทยน่าห่วง ออนไลน์กระชากเงินออก การเมืองไม่นิ่ง ธุรกิจใช้เอไอต่ำ

บริการออนไลน์กระชากเงินในกระเป๋าคนไทย

มองอนาคตของเศรษฐกิจประเทศไทย ยังมีประเด็นเปราะบาง ภัยคุกคามนานัปการ หนึ่งในนั้นคือ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการออนไลน์ต่างๆ ที่เข้ามา “กระชากเงินในกระเป๋าคนไทย”

ภาวุธ ตั้งคำถามถึงบริการออนไลน์ เช่น Netflix VIU CLOUD Google Youtube พรีเมียม แม้กระทั่ง OnlyFans ซึ่งคนไทยล้วน “จ่ายเงินค่าสมาชิก” หรือ Subscribe เพื่อเสพเนื้อหารายการโปรดหรือคอนเทนต์

คำถามต่อมาคือ เคยนับหรือไม่ว่าแต่ละคนไทยจ่ายไปเท่าไร ซึ่งนี่เป็นเศรษฐกิจใหม่ ที่เข้ามาคุกคาม และกระชากเงินคนไทยออกไปนอกประเทศ โดยที่เงินเหล่านี้ไม่อยู่ในประเทศไทย

ทั้งนี้ กรมสรรพากร มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์ จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ(VAT for Electronic Service : VES)ตั้งแต่ 1 กันยายน 2564 ทว่า มีเพียง 188 บริษัทเท่านั้นที่จดทะเบียนในประเทศไทย เช่น Netflix OnlyFans Google Zoom Amazon Spotify Apple HubSpot DigitalOcean ฯลฯ รวมถึงแพลตฟอร์มสื่อโฆษณาต่างๆ ทั้ง Facebook Google Ads ฯลฯ

มิติ “ภัยคุกคาม” จากบริการออนไลน์ดูดเงินออกไปนอกประเทศ หากคาดการณ์ตัวเลขอาจมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับการส่งออกข้าวไทยปี 2564 มีมูลค่ากว่า 1.07 แสนล้านบาท เทียบปริมาณการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปปี 2564 มูลค่ากว่า 1.72 แสนล้านบาท สะท้อนภาพดุลการค้าที่ไทยสูญเสีย และรัฐควรมีการพิจารณานำเศรษฐกิจดิจิทัลเหล่านี้มาคำนวณด้วย

“คนไทยจ่ายเงินค่าสมาชิกแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เคยนับไหมว่าเท่าไร นี่คือ เศรษฐกิจใหม่ที่เข้ามาคุกคาม ดูดีนะ..ที่เราเติบโตในการใช้เทคโนโลยี แต่คนไทยกำลังถูกกระชากเงินออกไปนอกประเทศ โดยที่เงินเหล่านี้ไม่อยู่ในไทยเลย วันนี้เศรษฐกิจดิจิทัลโตขึ้นเรื่อยๆ แต่เงินก็ออกไปนอกประเทศเรื่อยๆ เช่นกัน”

เศรษฐกิจไทยน่าห่วง ออนไลน์กระชากเงินออก การเมืองไม่นิ่ง ธุรกิจใช้เอไอต่ำ

องค์กรฉกฉวยโอกาสจาก “เอไอ” ต่ำ

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยพึ่งพา “การท่องเที่ยว” มากสุด 60% ภาคอุตสาหกรรม 30% ภาคการเกษตร 10% แต่กลับใช้แรงงานคนมากถึง 30% ของประเทศ ทั้งที่โลกดิจิทัล เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ได้ทรงอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนอย่างมาก

ภาคเกษตรยังใช้แรงงานคน ส่วนองค์กรที่มีศักยภาพในการโอบรับ และใช้ความสามารถของ “เอไอ” ก็ต่ำ มีเพียง 3-4% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงการรองรับการเปลี่ยนแปลงได้น้อย ประเทศชาติไม่สามารถใช้ประโยชน์จากความก้าวล้ำของเทคโนโลยีได้เลย

“เทรนด์ตรงนี้น่ากังวลมาก”

ทั้งนี้ “ภาวุธ” มีหลักสูตรยกระดับการใช้เทคโนโลยี จึงมีเป้าหมายผลักดันองค์กรให้หันมาใช้เทคโนโลยีเอไอในการทำงานทุกฝ่าย ทุกวัน กระตุ้นให้องค์กรมีการโยกงบมาเสริมแกร่งมากขึ้น การใช้ CDP หรือ Customer Data Platform มาเพิ่มประสิทธิผล รวมถึงการผลักดันการค้าขายออนไลน์ให้แข็งแรง ไม่แค่อยู่บนแพลตฟอร์มเจาะตลาดในไทย แต่ควรข้ามไปขายข้ามประเทศเพื่อนบ้านไปเลยหรือ Cross-border E-commerce

เศรษฐกิจไทยน่าห่วง ออนไลน์กระชากเงินออก การเมืองไม่นิ่ง ธุรกิจใช้เอไอต่ำ

นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมโลกที่แข่งขันเป็นเจ้าแห่งเซมิคอนดักเตอร์ แต่ประเทศไทยยังย่ำอยู่กับการผลิตฮาร์ดดิสก์ ..ทำไมไม่มีการปรับตัว..ยิ่งดูประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ได้ยกระดับไปอีกขั้นสู่การผลิต Solid State Drive แซงหน้าเรียบร้อยแล้ว

การเมืองไร้เสถียรภาพ ฉุดเชื่อมั่น-ลงทุน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุผลสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติจะขนเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยคือ “เสถียรภาพทางการเมือง” และยังเป็นตัวบ่งชี้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยด้วย

“นายกฯ เราจะไปอีกแล้วเหรอ..โค*รไม่มีความ Stable เลย พอการเมืองไม่นิ่ง นักลงทุนต่างชาติมองเปลี่ยน ก็ไม่อยากเข้ามาลงทุน อยากให้การเมืองไทยมีความมั่นคงกว่านี้ แต่เมื่อเรารอการเมืองไม่ได้ เอกชนควรรวมตัวกัน เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจดีกว่า เพราะรัฐไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไร”

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์