คนรุ่นใหม่เน้นเช่า มากกว่าซื้อ ดันแอปฯ เรียกรถ ‘Bolt’ โตขึ้น 800%

คนรุ่นใหม่เน้นเช่า มากกว่าซื้อ  ดันแอปฯ เรียกรถ ‘Bolt’ โตขึ้น 800%

ซื้อรถ ซื้อบ้านไม่ใช่ประเด็นอีกแล้ว! “Bolt” เผย เศรษฐกิจกดดัน-ค่าครองชีพสูง ดันคนรุ่นใหม่เน้นเช่ามากกว่าซื้อเอง อานิสงส์แอปฯ เรียกรถเ ยอดผู้ใช้งานโตเพิ่ม 800% Gen Z มอง ยานพาหนะเป็นสาธารณูปโภคที่เข้าถึงได้ ไม่ใช่สินทรัพย์ในครอบครอง

บริการ “Subscription Model” กลายเป็นเทรนด์มาแรงแห่งยุคที่สอดคล้องไปกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ไม่เว้นแม้แต่ของชิ้นใหญ่ที่เคยถูกให้ความสำคัญในฐานะสินทรัพย์ที่ควรมีไว้ในครอบครอง งานศึกษาทั้งในและต่างประเทศต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คนรุ่นใหม่เน้นเช่ามากกว่าซื้อ ไม่ต้องการแบกภาระระยะยาว บวกกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ทำให้การใช้ชีวิตแบบปลอดหนี้เป็นคุณค่าที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมากขึ้น

สอดคล้องกับเทรนด์ที่ “โบลท์” (Bolt) แอปพลิเคชันเรียกรถเจ้าแรกในยุโรป ที่เข้ามาเปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่กลางปี 2566 เปิดเผยว่า ขณะนี้เทรนด์การไม่เป็นเจ้าของกำลังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จากผลสำรวจหลายแห่งพบว่า เหตุผลที่ผู้บริโภคหันมาใช้บริการแอปฯ เรียกรถมากขึ้น เกิดจากมุมมองเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของที่เปลี่ยนไป

จากเดิมที่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) มองว่า การเป็นเจ้าของสินทรัพย์อย่าง “บ้าน” หรือ “รถยนต์” เป็นสิ่งสำคัญ เปรียบเสมือนเครื่องยืนยันการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว ทว่า ปัจจุบันทัศนคติดังกล่าวเปลี่ยนไปแล้ว คนรุ่นใหม่ให้น้ำหนักกับการซื้อประสบการณ์มากกว่าสิ่งของ Gen Z มองว่า การใช้จ่ายเป็นการแสดงออกถึงตัวตน

“โบลต์” ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น หนี้สินที่ติดพันต่อเนื่องจากระบบการศึกษา ส่งผลให้เทรนด์การไม่เป็นเจ้าของเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ “Subscription Model” จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น หลายแบรนด์ที่หันมาทำการตลาดด้วยโมเดลดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพลง วิดีโอ ภาพยนตร์ หรือบริการในรูปแบบอื่นๆ ก็ด้วย

คนรุ่นใหม่เน้นเช่า มากกว่าซื้อ  ดันแอปฯ เรียกรถ ‘Bolt’ โตขึ้น 800%

“ณัฐดนย์ สุขศิริฐานนท์” ผู้จัดการประจำโบลท์ ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา “โบลท์” มีการขยายช่องทางในการวิ่งงานเพิ่มขึ้นราว 19% ขณะที่สถิติการเรียกใช้บริการผ่านแอปฯ โบลท์นับตั้งแต่ช่วงเวลาที่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เพิ่มขึ้นมากถึง 600% ยอดจำนวนผู้ใช้งานโตขึ้นอีก 800% จำนวนรถยนต์ 4 ล้อ ที่ให้บริการผ่านแอปฯ ก็เพิ่มมากขึ้น สอดรับไปกับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นราว 9.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

สำหรับรายได้ของ บริษัท โบลท์ ซัพพอร์ต เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2566 พบว่า เติบโตจากปี 2565 พุ่งกระฉูด โกยรายได้กว่า 540 ล้านบาท กำไรสุทธิ 11 ล้านบาท แม้ขณะนี้พื้นที่ให้บริการจะยังไม่ครอบคลุมเท่ากับแอปฯ เรียกรถเจ้าตลาด แต่ก็นับเป็นสัญญาณที่ดีของ “โบลท์” อยู่ไม่น้อย จับตาดูกันต่อไปว่า สมรภูมิที่ห้ำหั่นผ่านสงครามราคาเช่นนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป