จีดีพีไทยโตต่ำ พึ่งพา 'เศรษฐกิจหาเสียง' มุมมอง 'เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา'

จีดีพีไทยโตต่ำ พึ่งพา 'เศรษฐกิจหาเสียง' มุมมอง 'เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา'

“สหกรุ๊ป แฟร์” ถือเป็นมหกรรมลดราคาสินค้ากว่า 1,000 รายการ ของ “เครือสหพัฒน์” และเป็นประจำทุกปี งานแถลงข่าวจะมีแม่ทัพใหญ่ แม่ทัพน้อย ทายาท ผู้บริหารรุ่นใหม่ตบเท้าเข้าร่วมกิจกรรม

ที่สำคัญ สื่อจะได้สัมภาษณ์ “เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ถึงมุมมองเศรษฐกิจ กำลังซื้อประชาชนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง “ฐานราก” รวมถึงปัจจัยบวก-ลบ ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

ไทยพึ่งพา “เศรษฐกิจหาเสียง”

เสี่ยบุณยสิทธิ์ ให้นิยามเศรษฐกิจไทยปี 2567 ไม่ใช่ว่าอยู่ในภาวะที่ไม่ดี กลับกันมองเป็น “โอกาส” สำหรับผู้ที่ปรับตัวสอดรับความเปลี่ยนแปลงได้

นอกจากนี้ ยังมองภาพเศรษฐกิจไทยเวลานี้เป็น “เศรษฐกิจหาเสียง” ที่นโยบายการขับเคลื่อนต่างๆ ล้วนเป็นมาตรการกระตุ้นระยะสั้นไม่ใช่ระยะยาว ซึ่งอาจทำให้อนาคตไทยต้องสู้กับนานาประเทศไม่ได้

“ฉันมองเศรษฐกิจเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นเศรษฐกิจหาเสียง ที่พยายามเน้นการเติบโตระยะสั้น ไม่มองระยะยาว ดึงดูดการลงทุนใหญ่ๆ การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรืออินฟราสตรัคเจอร์ เราไม่กล้าทำตรงนี้ เพราะกลัวมีหนี้สูง”

ท่ามกลางสถานการณ์ค้าขายไม่ดี ผู้คนมีอำนาจซื้อน้อยลง หนี้ครัวเรือนสูง อาจเสี่ยงเข้าสู่ “วิกฤติเศรษฐกิจ” ซ้ำรอยอดีต เช่น วิกฤติต้มยำกุ้ง

ทว่า เสี่ยบุณยสิทธิ์ ยืนยันหนักแน่น “ไม่ถึงขนาดนั้น ไม่ต้องใช้คำนั้น..วิกฤติ..ไม่ถึงเลย” พร้อมขยายความ หากเทียบการเจริญเติบโต “จีดีพี” ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯ ไทยโตต่ำกว่า เพราะขยายตัวเพียงกว่า 1% เท่านั้น ยิ่งเทียบ “จีน” จีดีพีโตสูงถึ 5% เป็นต้น

“จีดีพีไทยสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ ของเราโตน้อย อย่างจีนโต 5% แต่ไทยโต 1% กว่าๆ ทั้งที่ประเทศเราเล็ก ถามว่าเศรษฐกิจดีไม่ดี แต่มุมประชาชนก็คงอึดอัด แต่ไม่ถึงขั้นไม่พอกินจนอดข้าว”

ฟื้นเศรษฐกิจ ผ่านตลาดทุน

ทั้งนี้ หากต้องการฟื้นเศรษฐกิจ แนวทางที่ทำได้คือทำให้ตลาดทุนขยายตัว ซึ่งมีส่วนผลักดันจีดีดีได้มาก และยังผันเงินไปสู่ฐานรากได้ด้วย

สำหรับภาพรวมตลาดทุนไทยเคยมีดัชนีซื้อขายอยู่ที่ระดับ 1,600 จุด ปัจจุบันลดเหลือระดับ 1,300 จุด (ณ วันที่ 30 พ.ค.67 ดัชนีอยู่ที่ 1,351.52 จุด) และหากมองช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า “คนรุ่นใหม่” สนใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนมาก ซื้อขายกันระดับ 1-2 แสนหุ้น จากอดีตล้วนเป็นบริษัท องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่

“แต่ตอนนี้คนรุ่นใหม่ที่เคยลงทุนในหุ้น ก็เจ็บตัว ทำให้การใช้จ่ายต้องอึดอัดบ้าง”

อย่างไรก็ตาม มิติการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย “เสี่ยบุณยสิทธิ์” ยังมีความหวังอยู่มาก เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนการคิด เพราะโอกาสมีอยู่ ส่วน “รัฐบาล” ก็มีความตั้งใจในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งหากแก้ได้ตรงจุด จะทำให้การฟื้นตัวเร็ว ไม่ตรงจุดอาจล่าช้า

“สหพัฒน์” ไตรมาสแรกยอดขายดีและไม่ดี

เครือสหพัฒน์เป็นอาณาจักร “แสนล้านบาท” มีสินค้าในพอร์ตโฟลิโอมากมายกว่า 1,000 รายการ ทว่า ไตรมาสแรกยอดขายมีทั้ง “ดีและไม่ดี” เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่ายอดขายโตน้อย แต่กำไรดี ส่วนสิ่งทอแฟชั่น มีบางบริษัทที่กำไรลดลง ผลประกอบการเหล่านั้นสะท้อน “เศรษฐกิจไม่ดีหรือไม่” เพราะขนาดสินค้าจำเป็นยังโตต่ำ

“เสี่ยบุณยสิทธิ์” บอกว่า เป็นเรื่องธรรมดา ที่สินค้าจะมีเติบโตและหดตัว หากเทียบกับการค้าขายที่ผ่านมา อาจไม่ดี แต่ถ้าเทียบภาพรวมทั้งโลก ยังยืนยันว่าไทยดีกว่า และยังมีโอกาสของสินค้าไทยในการขยายตลาดโลกด้วย เพราะปัจจุบันทั้งยุโรป สหรัฐฯ เผชิญ “เงินเฟ้อสูงมาก” จึงไม่มองแค่การขายในประเทศ แต่แบรนด์ไทยไปลุยต่างแดนได้ด้วย

ปี 67 MOU พันธมิตรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดึง “ทุนจีน”

ปี 2567 เครือสหพัฒน์ ประกาศจัด “สหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 28” มาพร้อมโฉมใหม่ในคอนเซปต์ ‘Fair & Fest’ ยังคงยกทัพสินค้ามาลดราคาเอาใจนักช้อป ทว่า ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการผนึกพันธมิตร ขยายธุรกิจสร้างการเติบโต ซึ่งปีนี้จะเห็นการลงนามความร่วมมือหรือเซ็นเอ็มโอยูกับพันธมิตร 16 ฉบับ มากสุดเป็นประวัติการณ์

พันธมิตรยังเป็นนักลงทุนจากหลากหลายประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น 4 ราย จีน 3 ราย และเกาหลีใต้ 1 ราย โดยจีนจะเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ส่วนเกาหลีใต้เป็น “ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ” ที่จะมาช่วยยกระดับ เสริมแกร่งให้เครือสหพัฒน์

“ตอนโควิด-19 ระบาด ต่างชาติเข้ามาลงทุนน้อย เมื่อประเทศเปิด นักลงทุนจึงเฮโลเข้ามา ส่วนการที่สหพัฒน์มองโอกาสดึงนักลงทุนจีน เพราะมีศักยภาพด้านการใช้ข้อมูลหรือบิ๊กดาต้า ดิจิทัลขับเคลื่อนธุรกิจอย่างรวดเร็ว ขณะที่ทุนญี่ปุ่นเดิมยังคงอยู่ แต่นักลงทุนญี่ปุ่นจะมีความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน..ยุคนี้ยังถือเป็นยุคของจีนด้วย”

อีกปัจจัยคือสงครามการค้า มหาอำนาจ “จีนVSสหรัฐ” ทำให้นักลงทุนชาติอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ที่เคยไปสร้างฐานผลิตที่จีน ปัจจุบันเริ่มกระจายความเสี่ยง ย้ายไปประเทศอื่นๆมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือกลับมาซบลงทุนในไทย จึงเป็นโอกาสของเครือ