โลกเครียด! สวนสนุกโต ชงรัฐรื้อข้อจำกัดเอื้อไทยดึงลงทุน ‘ธีมพาร์ค’ ระดับโลก
ด้วยเทคโนโลยีเกิดใหม่มากมายหลังหมดยุคโควิด เดิมผู้ประกอบการ 'สวนสนุก สวนน้ำ และสถานที่ท่องเที่ยว' กังวลว่าคนจะไม่ออกมาเที่ยวเหมือนเดิม แต่ผลคือกลับมาเดินทางดีอีกครั้ง ทว่าอุปสรรคสำคัญ 'ตั๋วบินแพง' รวมถึง 'ปัญหาเศรษฐกิจ' ของแต่ละประเทศ กดดันการจับจ่ายท่องเที่ยว!
วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ ประธานสมาคมผู้ประกอบการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสวนสนุกและสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก (IAAPA) ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 6,000 รายในกว่า 100 ประเทศ กล่าวว่า อุปสรรคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ “สวนสนุกธีมพาร์ค” ระดับท้องถิ่น (Local) สวนทางกับสวนสนุกธีมพาร์คแบรนด์ดังระดับโลก เช่น ดิสนีย์แลนด์ และยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ ที่มีแม่เหล็กดึงดูดคน เห็นได้จากตลาดคนไทยกำลังซื้อสูง นิยมออกเที่ยวต่างประเทศก็จะเลือกไปธีมพาร์คดังในญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์อยู่แล้ว
“ภาพรวมธุรกิจสวนสนุก สวนน้ำ และสถานที่ท่องเที่ยว (Attraction) ของโลกปี 2567 มีแนวโน้มยังเติบโต แม้จะไม่เท่าปีก่อนซึ่งเป็นปีที่ฟื้นตัวมามากแล้ว แต่ก็ถือว่าเติบโตต่อเนื่อง”
โดยในงานแสดงสินค้า “IAAPA Expo Asia 2024” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 พ.ค. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือเป็นมหกรรมธุรกิจแห่งความบันเทิงระดับโลกที่ผู้ประกอบการจะได้มาอัปเดตเทรนด์การลงทุนและเทคโนโลยีที่จะช่วยสร้างโอกาสใหม่ในการพลิกโฉมธุรกิจ มีผู้ผลิตและผู้ให้บริการชั้นนำกว่า 350 ราย ร่วมจัดแสดงสินค้าบนพื้นที่ 7,800 ตารางเมตร
“เทรนด์การลงทุนสถานที่ท่องเที่ยวจะเป็นแนวไฮบริด (Hybrid) มากขึ้น เพื่อให้คนอยู่ในพื้นที่นานขึ้น มีประสบการณ์ที่ดีในการใช้บริการมากขึ้น เช่น มีสวนน้ำในโรงแรม หรือมีสถานที่ท่องเที่ยวและเครื่องเล่นในศูนย์การค้า ให้คนใช้เวลาข้ามพ้นมื้ออาหาร ช่วยเพิ่มการใช้จ่าย แต่ถ้าเป็นการลงทุนสร้างสวนน้ำล้วนๆ จะเริ่มไม่เห็นแล้ว เพราะปัจจุบันศูนย์การค้านับเป็นคู่แข่งโดยตรงของธุรกิจสถานที่ท่องเที่ยวไปแล้ว เช่น อีเกีย (IKEA) จับตลาดกลุ่มครอบครัวออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้านในวันหยุดเหมือนกัน”
ด้านภาพรวมอุตสาหกรรมสถานที่ท่องเที่ยวของ “เอเชีย” พบว่ารุดหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งสวนสนุกไปจนถึงสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาค สร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
“เอเชียถือเป็นตลาดสำหรับสวนสนุกและสวนน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก สวนสนุกในประเทศจีนเพียงประเทศเดียวคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเปิดสวนสนุกใหม่ทั่วโลก คาดการณ์ว่าในปีนี้การใช้จ่ายกับสวนสนุกในเอเชียจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.5% และคาดการณ์การเติบโตของการใช้จ่ายเป็นเลข 2 หลักไปถึงปี 2570”
วุฒิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตลาดในประเทศไทย มองว่าควรมี “แหล่งท่องเที่ยวแบบมนุษย์สร้าง” (Man-made Attraction) มากขึ้นเพื่อเติมมิติความหลากหลาย! ส่วนประเด็นดึงการลงทุนของ “ธีมพาร์คดังระดับโลก” เช่น “ดิสนีย์แลนด์” เข้ามาในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดด้าน “โครงสร้างพื้นฐาน” และกฎหมาย เช่น กฎหมายภาษีที่เกี่ยวข้อง จึงอยากให้ภาครัฐเร่งปลดล็อกเพื่อเอื้อต่อนักลงทุนมากกว่านี้
“คำถามคือภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนอะไรแก่ภาคเอกชนบ้าง รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานจำเป็น อย่างเช่น ดิสนีย์แลนด์ ในฮ่องกงมีการถมทะเล ส่วนที่จีนมีการพัฒนารถไฟใต้ดินไปรอเลย 1 ปีเต็มก่อนเปิดสวนสนุก แต่ถ้าเป็นในประเทศไทย อาจถูกมองว่าเอื้อภาคเอกชนมากเกินไป”
เจคอบ วาห์ล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธาน IAAPA กล่าวเสริมว่า การพัฒนาดิสนีย์แลนด์ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เป็นโครงการที่ใช้เวลาพัฒนานานถึง 15-20 ปีนับตั้งแต่วันแรกที่คุยดีลจนถึงวันที่เปิดให้บริการ
“เทรนด์การลงทุนธุรกิจสวนสนุกในเอเชียตอนนี้ มีในจีนมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือเวียดนาม ด้านตะวันออกกลางเติบโตโดดเด่น เช่น ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนในไทยยังไม่เห็นการลงทุนขนาดใหญ่ ส่วนมากจะเป็นการลงทุนเพิ่มองค์ประกอบสวนน้ำและสวนสนุกในโรงแรมและศูนย์การค้ามากกว่า”
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ “ภูมิรัฐศาสตร์” เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้คนมองหา “ความสนุก” ออกไปใช้ชีวิตแบบ Have Fun! มากยิ่งขึ้น สมาคมฯ ประเมินแนวโน้มภาพรวมสถานการณ์ระดับโลกของธุรกิจสวนสนุก สวนน้ำ และสถานที่ท่องเที่ยว พบ 4 เทรนด์หลัก ดังนี้
เทรนด์ที่ 1 การสัมผัส “ประสบการณ์เสมือนจริง” (Immersive Experience) เพื่อลืม “ความเครียด” ในชีวิตประจำวัน
เทรนด์ที่ 2 การออกแบบโรงแรมและศูนย์การค้า ภายใต้แนวคิด “มิกซ์ยูส” (Mixed-Use) ผสมผสานกับองค์ประกอบสวนน้ำ สวนสนุก หรือสถานที่ท่องเที่ยว สร้างเอกลักษณ์เสริมจุดขายใหม่ๆ เพื่อดึงดูดคนเข้าพักนานขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น ยกตัวอย่าง ดูไบมอลล์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีทั้งน้ำพุและสกีโดม
เทรนด์ที่ 3 การต่อยอด “ทรัพย์สินทางปัญญา” (Intellectual Property) เช่น แบรนด์ดัง คาแรกเตอร์ดังต่างๆ มาพัฒนาเป็นสวนน้ำ สวนสนุก สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงการจัดอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น
เทรนด์ที่ 4 การนำ “เทคโนโลยี” มาเพิ่มความสนุก เช่น AR กับ VR และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้บริการ เช่น มีแอปพลิเคชันเตือนเมื่อถึงคิว ไม่ต้องต่อแถวรอนาน