‘เนสท์เล่’ สานต่อลงทุน 8,000 ล้านบาท ยืนหนึ่งยักษ์ใหญ่อาหาร-เครื่องดื่มโลก

‘เนสท์เล่’ สานต่อลงทุน 8,000 ล้านบาท ยืนหนึ่งยักษ์ใหญ่อาหาร-เครื่องดื่มโลก

“เนสท์เล่” ไม่เพียงเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอาหารและเครื่องดื่มระดับโลก ทว่า ในประเทศไทย ยังยืนหยัดทำตลาดยาวนานถึง 130 ปี มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองผู้บริโภคชาวไทยหลากหลาย ทั้งกาแฟ นม ซอสปรุงรส น้ำดื่ม น้ำแร่ เป็นต้น

 ปี 2567 ภารกิจสำคัญของ “เนสท์เล่” ยังมุ่งรักษาการเป็นผู้นำธุรกิจ ควบคู่กับการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมชูกลยุทธ์ “ขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค” หรือ Good for You และ "ขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อโลกของเรา" หรือ Good for the Planet

  • เนสท์เล่ ย้ำแผนลงทุน 8,000 ล้านบาท

วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า ฉายภาพใหญ่การขับเคลื่อนธุรกิจ ยังคงจัดสรรงบลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท เพื่อขยายสายการผลิตสินค้าที่มีศักยภภาพการเติบโตสูง ซึ่งเป็นการลงทุนต่อเนื่องจากปี 2565-2571 โดยแบ่งเป็น 6,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตอาหารสัตว์อย่างน้องแมว เกรดซูเปอร์พรีเมียมชนิดเปียกและแห้งที่โรงงานเนส์เล่ เพียวริน่า เพ็ทแคร์ 2 แห่ง ตอบสนองตลาดในประเทศและการส่งออก

ส่วนงบประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อขยายสายการผลิตที่โรงงานยูเอชที เพื่อเสริมแกร่งให้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มยูเอชทีทั้งหมด ภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ เช่น ไมโล ตราหมี S-26 และคาร์เนชั่น โดยงบลงทุนดังกล่าวใช้ไปแล้วราว 4,000 ล้านบาท เหลืออีก 4,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในอนาคตตามแผนที่วางไว้

‘เนสท์เล่’ สานต่อลงทุน 8,000 ล้านบาท ยืนหนึ่งยักษ์ใหญ่อาหาร-เครื่องดื่มโลก

“เนสท์เล่ เรามีการลงทุนมาโดยตลอด เพื่อขยายการผลิตสินค้าตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค ซึ่งทิศทางตลาดผลิตภัณฑ์ยูเอชที ถือว่ามีการเติบโตอย่างมาก ส่วนตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวจากเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เกิดขึ้นทั่วโลก”

 

  • จัดพอร์ตโฟลิโอสินค้ารับเทรนด์ผู้บริโภค

ด้านเทรนด์ผู้บริโภคที่มาแรง เกิดแนวคิดการกินอยู่อย่างสมดุลหรือ Balanced Diet มากขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจผู้บริโภคทั่วโลกจัดทำโดยเนสท์เล่และคันทาร์ในปีที่ผ่านมา พบว่า 91%ของผู้บริโภคชาวไทยต้องการรับประทานอาหารที่ดี และต้องการให้คนในครอบครัวมีการกินอยู่อย่างสมดุล ทว่ามีเพียง 42% ที่สามารถใช้ชีวิตด้วยการกินอยู่อย่างสมดุล ปัจจัยที่ทำให้คนไทยไม่สามารถกินอยู่สมดุลได้ โดย 44% เกิดจากปม “ราคา” เพราะอาหารเพื่อสุขภาพมักมีราคาสูง 40% เป็นเรื่องความสุขเล็กๆน้อยๆ เช่น ทานหวาน ขนม และ40% มาจากเวลา ชีวิตเร่งรีบ ไม่มีเวลาปรุงหรือเตรียมอาหารที่ดี

ปี 2567 เนสท์เล่ จึงจัดพอร์ตโฟลิโอสินค้า 3 กลุ่ม รองรับเทรนด์ข้างต้น ประกอบด้วย 1.กลุ่มสินค้าเพื่อการบริโภคทุกวัน(Everyday Goodness) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของเนสท์เล่ ประเทศไทย เช่น เนสกาแฟ ไมโล นมตราหมี เนสวีต้า น้ำดื่มเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ 2.ผลิตภัณฑ์ด้านโภชนาการเฉพาะกลุ่ม (Tailored Nutrition) ตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อโภชนาการเด็ก แบรนด์ เอส 26 ตราหมี คาร์เนชั่น และ 3.กลุ่มผลิตภัณฑ์ของว่าง (Mindful Indulgence) เช่น ไอศกรีมเนสท์เล่ คิทแคท เนสท์เล่ เป็นต้น

‘เนสท์เล่’ สานต่อลงทุน 8,000 ล้านบาท ยืนหนึ่งยักษ์ใหญ่อาหาร-เครื่องดื่มโลก

 

  • ส่งต่อสินค้า “ราคา” เข้าถึงได้ตอบโจทย์คนไทย

เนสท์เล่ระดับโลก มีการทุ่มงบวิจัยและพัฒนาสินค้ามหาศาลราว 1,700 ฟรังก์สวิส หรือมูลค่าราว 7 หมื่นล้านบาท เพื่อเสิร์ฟสินค้าคุณภาพ มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคทั่วโลก รวมถึงไทย

โดยกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ จะเห็นการขยายสินค้าเพื่อสุขภาพ ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มสินค้าที่ได้รับสัญลักษณ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ นำเสนอสินค้าที่มีคุณประโยชน์ทั้งวิตามิน แร่ธาตุ อีกด้านจะเห็นการส่งต่อสินค้าที่ราคาเข้าถึงผู้บริโภคชาวไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีราคาขายระดับ 5 บาท 10 บาทต่อหนึ่งหน่วยบริโภค หรือโดยรวมสินค้าราคาต่ำกว่า 10 บาท มีสัดส่วน 40% ของพอร์ตฯด้วย

 

  • ต้นทุนสูง! โจทย์ท้าทายปี 67

วิคเตอร์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมธุรกิจของเนสท์เล่ไตรมาส 1 ยังคงความเป็น “ผู้นำตลาด” จากหลากหลายแบรนด์ และเป็นเบอร์ 1 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยด้วย แนวโน้มปี 2567 บริษัทประเมินตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คน และยังมีแรงหนุนด้านอื่นๆ ทั้งการท่องเที่ยวคึกคักจากนักท่องเที่ยวจำนวนเพิ่มขึ้น การส่งออกขยายตัว ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และมีแรงหนุนจากนโยบายภาครัฐ ในการออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

ทว่า โจทย์ท้าทายปี 2567 คือสถานการณ์ “ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น” จากสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาพลังงาน รวมถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจโลก ปีนี้ปัจจัยในประเทศยังมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท การสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ แต่บริษัทจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อไม่ผลักภาระไปยังผู้บริโภค เพราะการขึ้นราคาเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะทำ

‘เนสท์เล่’ สานต่อลงทุน 8,000 ล้านบาท ยืนหนึ่งยักษ์ใหญ่อาหาร-เครื่องดื่มโลก

ตัวอย่างสินค้าราคา 5 บาท

“ต้นทุนสินค้าเป็นแรงกดดันที่เกิดขึ้นทุกที่ทั่วโลก ขณะที่เนสท์เล่มีฐานลูกค้าชาวไทยในพื้นที่ต่างจังหวัดสัดส่วน 50% ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจเรา การผลิตสินค้าจึงต้องมองตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า เช่นการทำดีอีเอ็ม ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มาก ทำให้บริษัทยังผลิตสินค้าราคาเหมาะสม หรือพอร์ต 5 บาท 10 บาท ขณะที่การขึ้นราคาสินค้าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะพิจารณา”

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนธุรกิจ “เนสท์เล่” ต้องสร้างความคล่องตัวเพื่อรับความท้าทายที่เกิดขึ้น และทำความเข้าใจผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการ ขณะที่กลยุทธ์การทำตลาดขับเคลื่อนสิ่งดีๆเพื่อผู้บริโภคหรือ Good for You จะทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

 

  • สานต่อภารกิจรักษ์โลก

วิคเตอร์ กล่าวอีกว่า เนสท์เล่ยังมุ่งมั่นดูแลและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ผ่านกลยุทธ์ในการ “ขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อโลกของเรา” หรือ Good for the Planet โดยได้ดำเนินงานตามแผนงานด้านความยั่งยืนตลอดหลายปีที่ผ่านมาและมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก เช่น 96% ของบรรจุภัณฑ์เนสท์เล่ประเทศไทย ได้รับการออกแบบให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ การจัดหาเมล็ดกาแฟและน้ำนมดิบอย่างยั่งยืน 100% รวมถึงให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้เพาะปลูกกาแฟและเลี้ยงโคนม อีกทั้งยังมีโครงการดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ปัจจุบันโรงงานผลิตน้ำดื่มของเนสท์เล่ที่อยุธยาสามารถชดเชยน้ำกลับคืนสู่ชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้ 100% และมีการลดการปล่อยคาร์บอนตามแผนงานที่ตั้งไว้

“ด้วยกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภคและเพื่อโลกของเรา เนสท์เล่จะเดินหน้านำเสนอผลิตภัณฑ์ที่อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อคนไทยในทุกช่วงวัย ควบคู่กับการให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ในปี 2050 พร้อมทั้งดำเนินงานภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือหลัก ESG ทั้งดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีธรรมาภิบาล เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่สังคมไทยและผู้บริโภคชาวไทยวันนี้และอนาคต”