‘ไทยเที่ยวไทย’ ยุคหนี้ท่วม! สะเทือนเป้า 200 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 1.2 ล้านล้าน

‘ไทยเที่ยวไทย’ ยุคหนี้ท่วม! สะเทือนเป้า 200 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 1.2 ล้านล้าน

'หนี้ครัวเรือน' คือปัจจัยที่ผู้ประกอบการมี 'ความกังวล' ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในปี 2567 มากที่สุด! ตามรายงาน 'ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 1/2567'

จัดทำโดย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลรองลงมา คือต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และรายได้ของประชาชนที่ไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพ ล้วนเกี่ยวพันกับ “กำลังซื้อด้านท่องเที่ยว” ของคนไทยทั้งสิ้น

รายงานดัชนีความเชื่อมั่นฯ ระบุถึงปัญหา “หนี้เสีย” (NPL) ว่าเป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในไตรมาส 2/2567 หลังปัญหาหนี้เสียมีสัญญาณเร่งตัว!

จากข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ปี 2566 มีหนี้เสียในระบบถึง 1.05 ล้านล้านบาท สูงขึ้น 6.6% เทียบกับปี 2565 โดยหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ กลุ่มหนี้เสียสินเชื่อยานยนต์ ขยายตัวถึง 28% บัตรเครดิตขยายตัว 11.9% และสินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัว 12%

นอกจากนี้ ยังมีหนี้ที่กำลังจะกลายเป็น NPL สูงถึง 6.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 17.8% จากปี 2565 และจากรายงานของกรมบังคับคดี ประเมินว่าจะมีลูกหนี้ถูกพิพากษาให้ชำระหนี้และถูกบังคับคดีราว 1.05 ล้านคดี ทุนทรัพย์รวมกว่า 15 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปีข้างหน้า กระทบต่อ “สภาพคล่องของครัวเรือน” ต่อไปในระยะข้างหน้าอีกหลายปี!

‘ไทยเที่ยวไทย’ ยุคหนี้ท่วม! สะเทือนเป้า 200 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 1.2 ล้านล้าน

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. ยังคงเดินหน้าเป้าหมายปี 2567 ผลักดันนักท่องเที่ยวไทยไปให้ถึงจำนวน 200 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ตลาดในประเทศ 1.2 ล้านล้านบาท 

"แม้จะได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ คนไทยมีหนี้ท่วม ส่งผลต่อกำลังซื้อ แต่ประเมินว่าคนไทยยังคงท่องเที่ยว เน้นออกเดินทางบ่อยครั้ง ปรับพฤติกรรมหันมาใช้จ่ายประหยัดขึ้น"

‘ไทยเที่ยวไทย’ ยุคหนี้ท่วม! สะเทือนเป้า 200 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 1.2 ล้านล้าน

สอดรับกับรายงานดัชนีความเชื่อมั่นฯ เปิดเผยถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาท โดยสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ จำนวน 450 คนทั่วประเทศ กระจายตามเพศ ภูมิภาค อาชีพ และช่วงรายได้ ระบุถึง “พฤติกรรมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทย” ในไตรมาส 1/2567 (ม.ค.-มี.ค.) ด้วยว่า ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างจังหวัด (ไม่รวมค่าเดินทาง) คิดเป็นเงินเฉลี่ย 6,856 บาท/คน/ทริป มากกว่าไตรมาส 4/2566 ซึ่งอยู่ที่ 4,293 บาท/คน/ทริป ค้างคืนเฉลี่ย 3.38 คืน โดย “สถานที่พักแรม” ที่เลือกเข้าพักมากที่สุด คือ โรงแรม 58% รองลงมา รีสอร์ตหรือบังกะโล 35% และบ้านหรือคอนโดมิเนียมให้เช่า 8%

สำหรับปัจจัยในการเลือกสถานที่พัก อันดับ 1 คือ “ราคาประหยัด” ด้วยคะแนนกว่า 79% รองลงมา มีห้องซาวน่า 63% มีสระว่ายน้ำส่วนรวม 57% มีห้องฟิตเนส 48% สามารถพักได้หลายคน 46% มีห้องคาราโอเกะ 43% มีครัวที่สามารถประกอบอาหารได้ 36% และมีสระว่ายน้ำส่วนตัวหรือประเภทพูลวิลล่า (Pool Villa) 29% ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ 97% ของนักท่องเที่ยวไทยชอบโรงแรมที่พักที่มีบริการอาหารเช้า

“ช่วงราคาที่พัก” พบว่า 1,001-2,000 บาท เป็นช่วงราคาที่ได้รับความนิยมสูงสุดถึง 62% รองลงมา 24% นิยมช่วงราคา 501-1,000 บาท และ 11% นิยมช่วงราคา 2,001-3,000 บาท โดย “ช่องทางการจองที่พัก” ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 87% คือ ตัวแทนจำหน่ายออนไลน์ (Online Travel Agents: OTA) เช่น อโกด้า และ บุ๊กกิ้งดอทคอม รองลงมา 24% จองโดยตรงกับโรงแรมที่พัก และ 12% คือ วอล์กอิน เข้าจองห้องพักเมื่อเดินทางถึงโรงแรม

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของ สทท. ยังได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวและกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวประชาชนทั่วไปด้วยว่า “รัฐบาล” ควรจะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจและลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน โดย 96% มองว่าควรลดค่าน้ำค่าไฟ 66% ควรประกันราคาสินค้าการเกษตร 43% ควรแจกเงิน 43% ควรลงทุนทำโรงงานผลิตปุ๋ยและอาหารสัตว์ เพื่อขายในราคาถูกกว่าท้องตลาด และ 38% ควรลดค่ารถไฟฟ้า บีทีเอส เอ็มอาร์ที และแอร์พอร์ตลิงก์

นอกจากนี้ ยังต้องการให้ภาครัฐกระตุ้นการท่องเที่ยวและกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว โดยกว่า 87% มองว่าควรจัดให้มีบริการรถบัสไฟฟ้าหรือรถไฟรับ-ส่งผู้โดยสารจากกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และสงขลา ไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดที่อยู่ติดกันฟรี เพื่อกระจายรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวไปยังจังหวัดใกล้เคียง ป้องกันปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง (Over Tourism) เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรด้านท่องเที่ยว

80% มองว่าอยากให้มีโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “คนละครึ่ง” อีกครั้ง ส่วน 73% อยากให้จัดงานมหกรรมขายสินค้า (Trade Fair) ในจังหวัดท่องเที่ยวหลักให้ถี่ขึ้น ด้าน 61% อยากให้จัดกิจกรรม อีเวนต์ หรือเทศกาลด้านการท่องเที่ยวให้ยิ่งใหญ่ ในช่วงวันปิดภาคเรียนของประเทศในแถบเอเชีย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางมากขึ้น

ขณะที่ 48% ต้องการให้เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวประเภทมนุษย์สร้าง (Man-made Attraction) โดยส่งเสริมหรือให้สิทธิพิเศษแก่ภาคเอกชนที่ต้องการลงทุน และ 44% ต้องการให้มีแหล่งชอปปิงดิวตี้ฟรี (Duty Free) อยู่นอกสนามบินในภูเก็ตและกรุงเทพฯ เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายด้านการชอปปิงของโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวรายได้สูงเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น!