COMAC อีกหนึ่งธุรกิจจีนที่บุกตลาดโลก? | พสุ เดชะรินทร์
ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีธุรกิจของจีนที่สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จในตลาดโลกหลายบริษัท ตั้งแต่ชาจาก Mixue หรือ เสื้อผ้าจาก SHEIN หรือสังคมออนไลน์อย่าง TikTok หรือรถไฟฟ้าอย่าง BYD
อีกหนึ่งบริษัทที่น่าจับตามองคือ COMAC ผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารจากจีน ว่าจะสามารถเบียดเข้ามาเป็นอีกทางเลือกสำหรับเครื่องบินโดยสาร ร่วมกับยักษ์เดิมอย่าง Airbus และ Boeing ได้หรือไม่
ยิ่งในช่วงหลังที่ทาง Boeing จากสหรัฐ สะดุดขาตัวเองและประสบปัญหาในเรื่องของคุณภาพ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ยิ่งทำให้น่าจับตามองว่าผู้เล่นรายใหม่จากจีน จะอาศัยจังหวะนี้สร้างตัวเองให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดโลกได้เพียงใด
COMAC หรือ The Commercial Aircraft Corporation of China เป็นบริษัทน้องใหม่ที่ตั้งขึ้นมาในปี 2551 เกิดจากการรวมตัวของหน่วยงานภาครัฐในจีน ที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของการบิน
ปัจจุบัน เครื่องบินโดยสารของ COMAC เริ่มต้นด้วยเครื่องขนาดเล็กรุ่น ARJ21 จากนั้นตามมาด้วย รุ่น C919 ที่ตั้งใจจะชนกับรุ่นยอดนิยมอย่าง A320 และ B737 รุ่น C929 ที่เทียบเคียงกับ A350 และ B787 เป็นที่สังเกตว่า COMAC ตั้งใจตั้งชื่อขึ้นต้นบริษัทด้วยตัวอักษร C เพื่อที่รหัสย่อเครื่องบินจะขึ้นต้นด้วย C ตามหลัง A ของแอร์บัส และ B ของโบอิง
กลยุทธ์ในระยะเริ่มแรกของ COMAC ชัดเจนมาก นั้นคือเริ่มจากตลาดในประเทศจีน ซึ่งธุรกิจการบินในประเทศจีนมีการเติบโตอย่างมาก มีสายการบินให้บริการสำหรับทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก
เรียกได้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศก็มากอยู่พอสมควร ความเป็นเครื่องบินผลิตในประเทศแล้ว และการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มียอดตอบรับที่ดีจากภายในประเทศ
สำหรับรุ่นที่เป็นเรือธงในการขายในปัจจุบันคือรุ่น C919 มีโอกาสในการเติบโตสูงที่สุด โดยเป็นรุ่นขนาดกลางที่สามารถมีผู้โดยสารได้ถึง 192 ที่นั่งและบินได้ไกลสุด 5,555 กิโลเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมทั้งสำหรับบินในประเทศจีนและไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
โดยเครื่อง C919 เพิ่งมีไฟลต์แรกไปเมื่อ พ.ค. ปีที่แล้ว และส่งมอบแล้ว 5 ลำ ให้กับ China Eastern Airlines สำหรับบินในประเทศจีน
ความท้าทายสำหรับการเติบโตของ COMAC เองก็มีอยู่ เริ่มจากการผลิตเครื่องให้ทันเวลา (โดยมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด) ปัจจุบันได้รับคำสั่งซื้อทั้งหมด 1,061 ลำ จากลูกค้าในประเทศจีน แต่ในปีนี้คาดว่าสามารถส่งมอบได้เพียง 9 ลำ
บริษัทที่ปรึกษาทางการบิน ชื่อ IBA คาดว่าภายในสิ้น 2573 จะสามารถขยายกำลังการผลิตและส่งมอบได้เป็น 70 ลำต่อปี และคาดว่าภายในปี 2583 จะมีส่วนแบ่งการส่งมอบเครื่องใหม่ได้ 14% เฉพาะในประเทศจีน
อีกหนึ่งความท้าทายของคือการได้รับการรับรองจากหน่วยงานกำกับของประเทศต่างๆ ทำให้ต้องบินอยู่ภายในประเทศจีนก่อนเท่านั้น ซึ่ง COMAC ก็อยู่ระหว่างการเร่งการขออนุญาตจากหน่วยงานกำกับของประเทศต่างๆ โดยมองตลาดต่างประเทศจากที่อยู่ใกล้ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมายหลักก่อน
ล่าสุดก็เพิ่งมีไฟลต์ทดลองบินของเครื่อง C919 ออกนอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก และประเทศเป้าหมายก็คือสิงคโปร์ ตามด้วยเวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (น่าสังเกตว่าไม่มีไทย?)
การบุกตลาดโลกของ COMAC จะไม่เร็วและรุนแรงเหมือนธุรกิจอื่นๆ ของจีน และในระยะสั้นคงยังไม่สามารถเบียดกับแอร์บัสและโบอิงได้ อย่างไรก็ตาม จะไม่สามารถประมาทได้เช่นกัน
เนื่องจากถ้า COMAC สามารถยกระดับกำลังการผลิตได้เร็ว รวมทั้งการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ก็สามารถก้าวข้ามความท้าทายเรื่องกำลังการผลิตได้ ส่วนการขายในต่างประเทศนั้น COMAC ก็สามารถสร้างจุดขายของความเป็นทางเลือกที่สามให้เด่นชัดขึ้นมาได้
สุดท้ายก็ต้องดูกันต่อไปในระยะยาวว่า COMAC จากจีน จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งสามยักษ์ใหญ่ได้สำเร็จหรือไม่