‘ไทย’ แกร่งท่องเที่ยวด้านอาหาร แต่รั้งเบอร์ 2 อิมเมจยังเป็นรองประเทศนี้?!

‘ไทย’ แกร่งท่องเที่ยวด้านอาหาร แต่รั้งเบอร์ 2 อิมเมจยังเป็นรองประเทศนี้?!

‘ท่องเที่ยวด้านอาหาร’ หนึ่งในความภาคภูมิใจของภาคท่องเที่ยวไทย รัฐ-เอกชนโหมโปรโมตถูกทาง ชูจุดแข็ง ‘อาหารไทย’ ซอฟต์พาวเวอร์ศักยภาพแน่น มีชื่อเสียงระดับโลก มาเป็นจุดขายดึงทัวริสต์ แต่มีประเทศๆ หนึ่ง... ทำคะแนนภาพลักษณ์ด้านนี้ นำเป็น ‘จ่าฝูง’ ให้ไทยเร่งตีตื้น

นิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยถึงโครงการ “ประเมินภาพลักษณ์การท่องเที่ยวด้านอาหารของประเทศไทย และโครงการ MICHELIN Guide Thailand ปี 2566” สำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ออนไลน์ 1,800 ตัวอย่าง การสัมภาษณ์ตัวต่อตัว 1,200 ตัวอย่าง) และนักท่องเที่ยวชาวไทย (ออนไลน์ 800 ตัวอย่าง การสัมภาษณ์ตัวต่อตัว 400 ตัวอย่าง) จัดทำโดย บริษัท เคเนติกส์ คอนซัลติ้ง จำกัด

พบว่า “ญี่ปุ่น” เป็นจุดหมายปลายทางที่มีภาพลักษณ์การท่องเที่ยวด้านอาหารโดดเด่นที่สุด! ด้วยคะแนนมาเป็นอันดับ 1 มี 56% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 54% เมื่อปี 2565

ด้าน “ไทย” รั้งอันดับ 2 มี 44% เพิ่มขึ้นจาก 38% ตามมาด้วยอันดับ 3 “จีน” มี 30% เพิ่มขึ้นจาก 24% อันดับ 4 “เกาหลีใต้” มี 28% ลดลงเล็กน้อยจาก 29% และอันดับ 5 “ฮ่องกง” มี 27% เพิ่มขึ้นจาก 25%

‘ไทย’ แกร่งท่องเที่ยวด้านอาหาร แต่รั้งเบอร์ 2 อิมเมจยังเป็นรองประเทศนี้?!

เมื่อเจาะลึกเกี่ยวกับอัตราการรับรู้และประสิทธิผลของโครงการ “มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย” (MICHELIN Guide Thailand) ในปี 2566 ผลสำรวจระบุว่า “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” รู้จักคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พัก “มิชลิน ไกด์” 76% เท่ากับปีก่อน โดยรู้จัก “มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย” 18% เพิ่มขึ้นจาก 16% เมื่อปีก่อน และมีอิทธิพลต่อการเลือกประเทศท่องเที่ยว 62% เท่ากับปีก่อน

ด้านประเด็นเกี่ยวกับ “ความพึงพอใจ ผลเชิงพฤติกรรม และทัศนคติของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ” ที่รับประทานอาหารที่ “ร้านมิชลิน” มีคะแนนในแง่มุมต่างๆ ดังนี้

-คะแนนความพึงพอใจโดยรวม ปี 2566 = 95% (ปี 2565 = 95%)

-แชร์รูปภาพ ประสบการณ์ ของการทานอาหารมื้อนี้ทางออนไลน์ ปี 2566 = 85% (ปี 2565 = 83%)

-จะมารับประทานอาหารที่ร้านนี้อีกหากมีโอกาส ปี 2566 = 92% (ปี 2565 = 93%)

-แนะนำร้านอาหารนี้ให้คนอื่น ปี 2566 = 97% (ปี 2565 = 98%)

-ลองทานอาหารที่ร้านอาหารมิชลินร้านอื่นในประเทศไทย ปี 2566 = 95% (ปี 2565 = 94%)

-แนะนำบุคคลอื่นว่าประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร ปี 2566 = 97% (ปี 2565 = 97%)

‘ไทย’ แกร่งท่องเที่ยวด้านอาหาร แต่รั้งเบอร์ 2 อิมเมจยังเป็นรองประเทศนี้?!

สำหรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวประเทศไทย รับรู้และมีประสบการณ์กับโครงการ มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย ผลสำรวจระบุว่า รู้จักโครงการ มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย ปี 2566 ที่ 40% โดยโครงการ มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย มีผลต่อการตัดสินใจมาประเทศไทยในครั้งนี้ 11% หรือคิดเป็น 1.86 ล้านคน ซึ่งเป็นผลประเมินจากจำนวนนักท่องเที่ยวเป้าหมาย 23 ประเทศ ที่เดินทางเข้าประเทศไทย เดือน ม.ค.-ก.ย. 2566 และเคยไปทานที่ร้านรางวัลมิชลิน 8% หรือคิดเป็น 1.33 ล้านคน

แม้ว่าระดับการรู้จักโครงการ มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย ในปี 2566 จะใกล้เคียงกับ 39% ของปี 2565 และโครงการ มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย มีผลต่อการตัดสินใจมาประเทศไทยในครั้งนี้ ที่มีอัตราเดียวกัน 11% แต่คิดเป็นจำนวน 9.4 แสนคนในปี 2565 ด้านคำถามเรื่องเคยไปทานที่ร้านรางวัลมิชลิน ก็อยู่ที่อัตราเดิม 8% เช่นกัน แต่พอคิดเป็นจำนวนแล้ว อยู่ที่ 6.9 แสนคนในปี 2565

“รายได้ส่วนเพิ่มของค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อันเป็นผลจากการดำเนินโครงการ มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย พบว่าในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 262.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 223.34 ล้านบาท”

‘ไทย’ แกร่งท่องเที่ยวด้านอาหาร แต่รั้งเบอร์ 2 อิมเมจยังเป็นรองประเทศนี้?!

ด้านตลาด “นักท่องเที่ยวชาวไทย” ผลสำรวจชี้ว่า รู้จัก “มิชลิน ไกด์” 58% ลดลงจาก 78% เมื่อปีก่อน โดยรู้จัก “มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย” 46% ลดลงจาก 61% อย่างไรก็ตาม มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย มีส่วนกระตุ้นความต้องการท่องเที่ยวในประเทศมากถึง 96% เพิ่มขึ้นจาก 89%

“ประเด็นด้านความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่รับประทานอาหารที่ร้านมิชลิน มีคะแนนโดยรวม 92% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 91% ในปี 2565” นิธี กล่าว

‘ไทย’ แกร่งท่องเที่ยวด้านอาหาร แต่รั้งเบอร์ 2 อิมเมจยังเป็นรองประเทศนี้?!