‘แอร์ไลน์ไทย’ ชิงฮับการบินแข่งสิงคโปร์ เตรียมพร้อมเครื่องใหม่-ขยายฝูงบิน

‘แอร์ไลน์ไทย’ ชิงฮับการบินแข่งสิงคโปร์ เตรียมพร้อมเครื่องใหม่-ขยายฝูงบิน

จากโจทย์ใหญ่ของ 'เศรษฐา ทวีสิน' นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น 'ศูนย์กลางการบิน' (Aviation Hub) ของภูมิภาค แข่งขันโดยตรงกับ 'สิงคโปร์' ด้านแอร์ไลน์ไทยลุยโหมเครื่องเปิดตัว รุกขยายฝูงบินรับโอกาสใหญ่!

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวในฐานะนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย ว่า จากผลงาน 6 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาลเพื่อไทย ในมุมภาคเอกชนท่องเที่ยว รู้สึก “ถูกใจ” ที่ได้เห็นรัฐบาลชุดนี้ส่งเสริมการท่องเที่ยว มองว่าภาคการท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นแก่ประเทศ ผ่านการผลักดันในทุกๆ รูปแบบและแนวทาง

“ภาคการท่องเที่ยวถือเป็น Instant Win สามารถสร้างผลลัพธ์ได้อย่างเร่งด่วนต่อรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชน เราสามารถนำนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ และไม่ได้กระจุกอยู่แค่การบิน แต่กระจายไปถึงโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร และอื่นๆ ได้”

สำหรับโจทย์ใหญ่ของนายกฯ เรื่องการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ตำแหน่ง “ศูนย์กลางการบิน” (Aviation Hub) ของภูมิภาค มองว่า จำเป็นต้องไปดูโอกาสว่าภาคเอกชนจะสามารถร่วมมือกับรัฐบาลอย่างไรได้บ้าง เพราะด้วย “ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์” ของประเทศไทย มีความได้เปรียบอยู่แล้ว ถือเป็นจุดที่มีสายการบินมาลง มาแวะ มาผ่านจำนวนมากตั้งแต่ไหนแต่ไร เมื่อเทียบกับละแวกเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศ CLMV ประเทศไทยถือเป็นอันดับ 1 อยู่แล้ว ถ้าไม่นับฮ่องกงกับสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม ต้องไปดูด้วยว่าจะทำอย่างไรให้สามารถผลักดันไปถึงจุดที่ “มั่นคงและยั่งยืน” มุ่งสู่การเป็นอีกฮับการบินที่โดดเด่นของโลก! มีความพร้อมในการให้บริการ ผู้โดยสารผ่านไปผ่านมาก็ได้รับความสะดวกสบาย โดยอยากให้หน่วยงานภาครัฐมีมุมมองแบบภาคธุรกิจบ้าง เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกัน

“คงต้องไปดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสะดวกในการทำงานสำหรับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่สายการบินอย่างเดียว เช่น การรองรับด้านอื่นๆ ในส่วนของภาคพื้น การให้บริการ การกำกับดูแลกฎระเบียบต่างๆ ให้เกิดความคล่องตัวในการรองรับเที่ยวบิน ภายใต้มาตรฐานและการปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น การเจรจาขยายสิทธิการบิน ซึ่งเป็นจุดที่เลยขอบเขตการทำงานของสายการบิน ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยดูจุดนี้ รวมถึงการทำประเทศไทยให้น่าสนใจ พร้อมรองรับเที่ยวบินมากขึ้น เพื่อท้าชิงแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านของเราในภูมิภาคอาเซียน เช่น สิงคโปร์ รวมไปถึง ฮ่องกง ในระดับภูมิภาคเอเชีย”

‘แอร์ไลน์ไทย’ ชิงฮับการบินแข่งสิงคโปร์ เตรียมพร้อมเครื่องใหม่-ขยายฝูงบิน

'แอร์ไลน์ไทย' โหมหนัก ลุยเปิดตัวใหม่ - รุกขยายฝูงบิน

ศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า “ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจสายการบิน 8 ราย อยู่ในขั้นตอนการยื่นขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC)”

ส่วน “แผนการขยายฝูงบิน” ของสายการบินต่างๆ ล่าสุดได้รับรายงานข่าวว่า “การบินไทย” เพิ่งลงนามจัดหาเครื่องบินใหม่ 45 ลำ (โบอิ้ง 787 Dreamliner) จะเริ่มทยอยรับมอบตั้งแต่ปี 2570-2576 ขณะที่ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” จะมีเครื่องบินใหม่เข้าประจำการฝูงบินอีก 4 ลำ (แอร์บัส A330-300) ในปี 2567 ฟาก “ไทยไลอ้อนแอร์” เตรียมขยายฝูงบินเพิ่มเป็น 18 ลำในปี 2568 และ “ไทยเวียตเจ็ท” มีแผนรับมอบเครื่องบินใหม่ 12 ลำในปี 2567

‘แอร์ไลน์ไทย’ ชิงฮับการบินแข่งสิงคโปร์ เตรียมพร้อมเครื่องใหม่-ขยายฝูงบิน

 

'ไทยแอร์เอเชีย-การบินไทย' ครองแชมป์มาร์เก็ตแชร์ เส้นทางใน-ต่างประเทศ

ด้านภาพรวมตลอดปี 2566 มี “จำนวนผู้โดยสาร” ในประเทศไทยรวม 122 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารเส้นทางบินในประเทศ 61 ล้านคน และผู้โดยสารเส้นทางบินระหว่างประเทศกว่า 60 ล้านคน เมื่อดูภาพรวมของปี 2566 ถือว่าฟื้นตัว 74% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารรวมมากกว่า 165 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารเส้นทางบินในประเทศ 76 ล้านคน และผู้โดยสารเส้นทางบินระหว่างประเทศกว่า 88 ล้านคน

สำหรับภาพรวม “ส่วนแบ่งตลาด” ของสายการบินที่ขนผู้โดยสาร “เส้นทางระหว่างประเทศ” เข้าสู่ไทยตลอดปี 2566 พบว่า อันดับ 1 การบินไทย คิดเป็นสัดส่วน 15.1% ส่วนอันดับ 2 ไทยแอร์เอเชีย 10.8% อันดับ 3 เอมิเรตส์ 3.6% อันดับ 4 แอร์เอเชีย 2.8% อันดับ 5 กาตาร์ แอร์เวย์ส 2.7% อันดับ 6 สกู๊ต 2.7% อันดับ 7 ไทยเวียตเจ็ท 2.3% และอันดับ 8 สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส 2.2%

ภาพรวมส่วนแบ่งตลาดของสายการบินที่ขนผู้โดยสาร “เส้นทางในประเทศ” ปี 2566 พบว่า อันดับ 1 ไทยแอร์เอเชีย คิดเป็นสัดส่วน 36.9% อันดับ 2 นกแอร์ 14.6% อันดับ 3 ไทยเวียตเจ็ท 14.2% อันดับ 4 ไทยสมายล์ 11.2% อันดับ 5 บางกอกแอร์เวย์ส 11.2% อันดับ 6 ไทยไลอ้อนแอร์ 11.1% และอันดับ 7 การบินไทย 0.9%

 

ททท. ดันกลยุทธ์ Airline Focus เพิ่มซัพพลายเที่ยวบิน

ด้าน ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.พร้อมรับนโยบายของนายกฯ เศรษฐา ในการผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค พร้อมกับการเป็น “ศูนย์กลางทางด้านการท่องเที่ยว” (Tourism Hub) โดยเร่งเพิ่มศักยภาพทางการบินของประเทศไทยด้วยกลยุทธ์ “Airline Focus” ส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มซัพพลาย (Supply) ขยายเส้นทางบินและความถี่เที่ยวบินของสายการบินทั้งในและต่างประเทศสู่พื้นที่ท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรองใหม่ ๆ เร่งการฟื้นตัวจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมการบินหยุดชะงักในปี 2563 

ปัจจุบันบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว และมีความต้องการเดินทางของกลุ่มตลาดท่องเที่ยวใหม่ๆ ทาง ททท.ได้รุกตลาดพื้นที่ศักยภาพใหม่ๆ เช่น ภูมิภาคตะวันออกกลาง และภูมิภาคอเมริกา จึงทำให้การส่งเสริมให้สายการบินเร่งขยายเส้นทางและเพิ่มเที่ยวบินเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย” บรรลุเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน และรายได้ทางการท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ 1.92 ล้านล้านบาทในปี 2567

‘แอร์ไลน์ไทย’ ชิงฮับการบินแข่งสิงคโปร์ เตรียมพร้อมเครื่องใหม่-ขยายฝูงบิน