เมื่อเอสเอ็มอีจะตัดสินใจลงทุนนำ AI มาใช้ในธุรกิจ

เมื่อเอสเอ็มอีจะตัดสินใจลงทุนนำ AI มาใช้ในธุรกิจ

เมื่อข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประโยชน์มากมายมหาศาลอย่างน่าตื่นใจในการนำ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้กับธุรกิจ ก็ย่อมทำให้เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจในระดับเอสเอ็มอีเกิดความสนใจและอยากได้เจ้า AI นี้มาใช้ในธุรกิจของตนเองบ้างไม่มากก็น้อย

แต่ข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ หากต้องการจะได้ AI มาใช้เพื่อช่วยสร้างการเติบโต สร้างกำไร สร้างประสิทธิภาพ สร้างประสิทธิผล สร้างผลิตภาพ ฯลฯ ให้กับธุรกิจ ย่อมหนีไม่พ้นที่ธุรกิจจะต้องมีการลงทุนก่อน

และการตัดสินใจลงทุนทางธุรกิจก็ย่อมมีความเสี่ยงในตัวมันเองที่จะสร้างผลตอบแทนกลับมาให้ธุรกิจตามที่คาดหวังไว้หรือไม่

วิธีหนึ่งในการบริหารธุรกิจที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนทางธุรกิจก็คือ การใช้เทคนิควิเคราะห์ผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอี ก็สามารถวิเคราะห์ผลตอบแทนจากการลงทุนได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนนำ AI มาใช้ในธุรกิจของตนเอง

วิธีการสำหรับการเจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีจะลองวิเคราะห์ผลตอบแทนจากการลงทุนธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้การลงทุนได้ผลตามที่ต้องการ มีหลักการเบื้องต้นดังต่อไปนี้

1) กำหนดวัตถุประสงค์ของการลงทุนให้ชัดเจน ในกรณีของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่ว่าจะนำมาใช้ได้ครอบคลุมทุกด้านในกระบวนการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น จะต้องกำหนดไว้ก่อนว่าต้องการจะนำ AI มาช่วยธุรกิจในด้านไหน โดยเฉพาะหากต้องการจะนำ AI มาช่วยแก้ไขปัญหาหรือจุดอ่อนของธุรกิจที่เผชิญอยู่

2) คาดการณ์เบื้องต้นว่า AI จะเข้ามาช่วยธุรกิจได้มากน้อยอย่างไร เช่น ต้องการให้มาช่วยลดต้นทุนได้กี่เปอร์เซ็นต์ ต้องการให้เพิ่มยอดขายได้เท่าไร ต้องการให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเท่าไร ฯลฯ การคาดการณ์นี้ ควรกำหนดให้เป็นตัวเลขที่วัดได้แน่นอน เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดในการติดตามผลสำเร็จว่าตรงกับความต้องการเบื้องต้นหรือไม่ จะต้องมีการปรับทิศทางใหม่หรือไม่ อย่างไร

3) หาข้อมูลว่า ในการลงทุนจัดหา AI ตามที่ต้องการนำมาใช้ จะต้องใช้การลงทุนมากน้อยเท่าไร ตามปกติ การลงทุนนำ AI มาใช้จะต้องรวมถึง ค่าซอฟต์แวร์ ค่ากรรมสิทธิ์การใช้งาน ค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายดำเนินการ เช่น ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าระบบรองรับ ค่าจัดหาข้อมูล ค่าอบรมพนักงาน และค่าบำรุงรักษา เป็นต้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ หากพิจารณาไม่ครบถ้วน จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของการลงทุนโดยตรง

4) ประเมินประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเป็นตัวเงินในช่วงเวลาที่คาดว่าจะใช้ประโยชน์จาก AI ได้ เช่น คาดว่ารายได้จะเพิ่มปีละเท่าไร ต้นทุนจะลดลงเท่าไร ผลผลิตจะเพิ่มเท่าไร หรือ ของเสียจะลดลงเท่าไร หากใช้ AI ตัวนี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี

5) ประเมินความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่จะมีต่อธุรกิจ เช่น ข้อจำกัดของเทคโนโลยีหรืออายุใช้งานของ AI ความเสี่ยงต่อการลอกเลียนแบบของคู่แข่ง ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและกฎหมายที่จะมาควบคุมการใช้ AI

6) เมื่อรวบรวมการวิเคราะห์ประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ประเมินกลับเป็นตัวเงิน ก็จะสามารถคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนได้ โดยใช้สูตร ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) = รายได้จากธุรกิจที่เพิ่มขึ้น / การลงทุนทั้งหมด x 100% ที่จะสามารถนำมาประกอบการตัดสินใจว่า การลงทุนครั้งนี้ จะคุ้มค่าหรือไม่ และยังสามารถนำค่า ROI ที่ประเมินได้ก่อนการลงทุนนี้ มาใช้เพื่อติดตามและปรับทิศทางการใช้งาน AI ได้เป็นระยะๆ

การตัดสินใจเพื่อการลงทุนในธุรกิจที่ถูกต้อง ถือได้ว่าเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเจ้าของและผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องพัฒนาและฝึกฝนทักษะด้านนี้อย่างต่อเนื่องและมีหลักคิด ไม่ใช่อาศัยความรู้สึกแต่เพียงอย่างเดียว

หากเอสเอ็มอีจะตัดสินใจลงทุนนำ AI มาใช้กับธุรกิจของตนเอง อาจต้องกลับไปทบทวนว่าการลงทุนครั้งหลังสุดได้ผลอย่างไร ประสบความผิดพลาดหรือได้ผลสำเร็จเกินคาดอย่างไร

แล้วนำมาทบทวนประกอบการตัดสินใจกับเรื่องของปัญญาประดิษฐ์กับธุรกิจในครั้งนี้ !!??!!