‘EV จีน’ ภัยคุกคามใหญ่ อุตสาหกรรมยานยนต์โลก?
ภาพรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนจอดอยู่เต็มลานกว้างหลายพันตารางเมตรในหลายเมืองใหญ่รวมทั้งปักกิ่งและเซี้ยงไฮ้ บางคันถึงขนาดที่ว่ามีต้นไม้ใบหญ้าปกคลุมอยู่รอบคัน ออกมาสู่สายตาคนทั่วโลกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงกลางปี 2566
KEY
POINTS
-
ขนาดตลาดอีวีทั้งโลกสูงกว่า 3.8 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2022 ซึ่งใหญ่เกือบเท่าขนาดของจีดีพีประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์
-
จีนเป็นทั้งผู้ที่ใช้รถยนต์อีวีมากที่สุดในโลกและส่งออกมากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน
-
สหรัฐตั้งกำแพงภาษีนำเข้ารถจากจีนสูง 27% หากรถ BYD ในจีน เริ่มต้น 690,000 บาทต่อคันในสหรัฐจะสูงถึง 876,000 บาท
"ภาพรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน" จอดอยู่เต็มลานกว้างหลายพันตารางเมตรในหลายเมืองใหญ่รวมทั้งปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ บางคันถึงขนาดที่ว่ามีต้นไม้ใบหญ้าปกคลุมอยู่รอบคัน ออกมาสู่สายตาคนทั่วโลกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงกลางปี 2566
สาเหตุสำคัญคือพัฒนาการของรถยนต์อีวีโดยเฉพาะพัฒนาการของแบตเตอร์รี่นั้นเปลี่ยนแปลงเร็วมากถึงขนาดที่ว่าบรรดาผู้ประกอบการจำเป็นต้องทิ้งรถยนต์อีวีรุ่นเก่าแล้วหันหน้าไปพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่แทนเพราะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรื้อรถยนต์เหล่านั้นเพื่อเปลี่ยนแบตเตอร์รี่เป็นรุ่นที่วิ่งที่นานมากกว่า
จีนกับหนทางสู่ 'อุตสาหกรรมยานยนต์'
แม้ภาพเหล่านั้นจะสะท้อนสถานการณ์ในด้านลบของอุตสาหกรรมอีวีของจีนแต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนถึงความกระตือรือร้นของพญามังกรในการพัฒนานวัตกรรมรถยนต์อีวีของตัวเองเพื่อรองรับส่วนแบ่งการตลาดจากตลาดรถยนต์อีวีของทั้งโลกที่สูงกว่า 3.8 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2022 ซึ่งใหญ่เกือบเท่าขนาดของจีดีพีประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์
ความกระตือรือร้นทั้งหมดสะท้อนจากที่ปัจจุบันจีนกลายมาเป็นประเทศที่กินส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์อีวีมากที่สุดในโลกทั้งฝั่งผู้ซื้อไปใช้และผู้ส่งออก
หมายเหตุ: สีส้มคือยอดขายรถอีวีโดยผู้ผลิตสัญชาติจีน
โดยยอดขายรถยนต์อีวีทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 7 แสนล้านคันในปี 2016 ไปอยู่ที่ 13.9 ล้านคันในปี 2023 โดยจีนนับเป็นผู้ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของโลกมาโดยตลาด ซึ่งในปี 2021 2022 และ 2023 อยู่ที่ 3.3 ล้านคัน 6 ล้านคัน และ 8 ล้านคัน ตามลำดับ
นอกจากนี้ ฝั่งผู้ใช้ ในปี 2010 ยอดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีลักษณะแบบกระจายตัวอย่างเท่าๆ กันโดยอันดับหนึ่งคือสหรัฐ 3,800 คัน ญี่ปุ่น 3,500 คัน นอร์เวย์ 2,700 คัน จีน 1,600 คัน และสหราชอาณาจักร 1,500 คัน
ยอดการใช้รถยนต์อีวีทั่วโลกในปี 2010
แต่เวลาผ่านไปเพียง 12 ปีจีนขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตรถยนต์อีวีมากที่สุดในโลกที่ 11 ล้านคัน ตามมาด้วยสหรัฐ 2.1 ล้านคัน เยอรมนี 1 ล้านคัน ฝรั่งเศส 6.2 แสนคัน และนอร์เวย์ 5.9 แสนคัน
ยอดการใช้รถยนต์อีวีทั่วโลกในปี 2022
ด้าน Canalys บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านธุรกิจและเทคโนโลยีระดับโลกออกบทวิเคราะห์ “Global EV Market Forecasted 2024” โดยมีใจความส่วนหนึ่งว่า ตลาดรถยนต์อีวีทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตสูงถึง 29%ในปี 2024 โดยจีนยังเป็นตลาดอีวีที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยคิดเป็น 55.5% ของตลาดรถยนต์อีวีทั่วโลก
นอกจากนี้ Canalys ยังประเมินว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลในจีนจะปรับตัวสูงขึ้น 1% ในปีนี้แตะ 22.7 ล้านคันจาก “การสนับสนุนของรัฐบาลจีน” ซึ่งสอดคล้องกับ บทวิเคราะห์ “How did China come to dominate the world of electric cars?” จาก MIT Technology Review ที่ให้เหตุผลของการเติบโตตลาดรถยนต์อีวีในจีนว่า
มาตรการสนับสนุนอีวีของจีน
รัฐบาลจีนมีบทบาทสำคัญในการให้ทั้งการสนับสนุนด้านซัพพลายและดีมานด์ผ่านรูปแบบนโยบายที่หลากหลายตั้งแต่ปี 2000 ด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก ทั้งการให้เงินอุดหนุนการลดหย่อนภาษีและแรงจูงใจอีกจำนวนหนึ่งจนมีผู้ผลิตและผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
มาตรการสนับสนุนอุตฯ อีวีของรัฐบาลจีน
บทวิเคราะห์ของ MIT ประเมินว่า ตั้งแต่ปี 2000 ตลาดรถยนต์สันดาปภายในของสหรัฐ เยอรมันและญี่ปุ่นแข็งแกร่งจนรัฐบาลจีนไม่สามารถเอาชนะได้
ในขณะที่รถยนต์ไฮบริดญี่ปุ่นก็เป็นเจ้าตลาด ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงพยายามใช้ช่องว่างของตลาดอย่างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าอย่างเดียว
ท่ามกลางความเสี่ยงช่วงนั้นที่สูงมากเพราะตลาดรถยนต์อีวีอยู่ในสภาวะทดลองตลาด แต่จีนช่วงนั้นยังมุ่งมั่นว่า รถยนต์อีวีคือโอกาสสำคัญที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์
จากการเติบโตของอุตสาหกรรมอีวีของพญามังกรตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาทำให้ปัจจุบันจีนสามารถผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าออกไปทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรปด้วยราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์อีวีในกลุ่ม Mass Segment ที่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
เพราะปัจจัยหลักที่ทำให้รถยนต์อีวีราคาสูงปัจจุบันคือแบตเตอรี่ แต่เนื่องจากบริษัท CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ที่สุดของโลกสัญชาติจีนสามารถคิดค้นแบตเตอรี่ที่มีราคาถูกกว่าฝั่งสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกได้จึงถือเป็นข้อได้เปรียบของจีน
จากความก้าวหน้าทั้งหมดทำให้พันธมิตรตะวันตกนำโดยสหรัฐกังวลกับการเติบโตของอุตสาหกรรมอีวีจีน โดยเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา สมาคมผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐออกบทวิเคราะห์ถึงภัยคุกคามของรถยนต์อีวีจากปักกิ่งว่าจะทำให้ ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งคิดเป็นกว่า 3% ของจีดีพีพังทลายลง
และจะกระทบต่องบวิจัยและพัฒนาของประเทศมูลค่าหลายหมื่นล้าน รวมทั้งทำลายระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐ หนึ่งในนั้นคือการจ้างงานประชาชนหลายล้านคนจากการที่จีนขายรถยนต์ราคาไฟฟ้าราคาถูกในสหรัฐ
ดังนั้นหนึ่งในวิธีที่สหรัฐพยายามรักษาเสถียรภาพของประเทศคือตั้งกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์จากจีนสูงถึง 27% ยกตัวอย่างเช่นหากรถยนต์ BYD ในจีน มีราคาเริ่มต้นประมาณ 690,000 บาทต่อคัน แต่ในสหรัฐจะมีราคาสูงถึง 876,000 บาท
จีนนำโดย BYD จึงแก้เกมโดยการเข้าไปตั้งโรงงานในเม็กซิโกแล้วส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐด้วยภาษี 0 บาท ภายใต้ “ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ” ซึ่งปัจจุบันแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนจำนวนมากต่างต้องการเข้าไปตั้งโรงงานในเม็กซิโกไม่ว่าจะเป็น JAC, SAIC, Chery และอีกมากมาย
ยุโรปก็เผชิญ 'EV จีน' ระบาด
ไม่เพียงแต่สหรัฐเท่านั้นที่เผชิญกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศตัวเอง แต่สหภาพยุโรป (EU) ก็ประสบกับปัญหาเดียวกันถึงขนาดที่ว่าเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานคำกล่าวของเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานอียูว่า
“ตลาดโลกกำลังถูกยึดครองด้วยรถอีวีราคาถูกของจีน โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้รถของจีนมีราคาถูกนั้นเป็นเพราะการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีน”
แม้ภายหลัง ไมเคิล ชู ประธาน BYD สาขายุโรปจะออกมาปฏิเสธว่า สัดส่วนเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีนน้อยมาก แต่สิ่งที่ทำให้รถอีวีจีนยิ่งใหญ่ในตลาดโลกคือการมุ่งมั่งพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องมากกว่า
พร้อมทิ้งท้ายว่า สหรัฐและพันธมิตรตะวันตกเพียงแค่ไม่สามารถทำราคาสู้กับรถอีวีจากจีนได้เท่านั้น
ขณะที่ "กฤษฎา อุตตโมทย์" นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจในประเด็นที่แตกต่างออกไปว่า การที่จีนสามารถพัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่จนทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกได้ถือเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภค เพราะจะทำให้เกิดการเเข่งขันในตลาดเสรีทั่วโลก