เทรนด์พรีเมียมหนุนธุรกิจโต ‘ดิอาจิโอ’ จัดทัพสก็อตช์วิสกี้แพงลุยตลาด

เทรนด์พรีเมียมหนุนธุรกิจโต  ‘ดิอาจิโอ’ จัดทัพสก็อตช์วิสกี้แพงลุยตลาด

“จอห์นนี่ วอล์กเกอร์” กำลังจะมีอายุครบ 100 ปี ที่ทำตลาดในประเทศไทย นอกจากปี 2567 เตรียมฉลองความยาวนานของแบรนด์แล้ว "ดิอาจิโอ" ยังเดินเกมรุกพอร์ตโฟลิโอ "พรีเมียม" วางหมากรบให้ "จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ บลู เลเบิ้ล" จับกลุ่มกำลังซื้อสูง ปั๊มการเติบโต

ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเมืองไทยมีมูลค่า “หลายแสนล้านบาท” จากหลากหมวดผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น สุราขาว สุราสี วิสกี้ เบียร์ และไวน์ ฯ 

ในตลาด “วิสกี้”​ และกลุ่มสก็อตช์วิสกี้มีแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศมากมาย แต่ที่ยืนหนึ่งเป็น “ผู้นำตลาด” ในประเทศไทยต้องยกให้ “จอห์นนี่ วอล์กเกอร์” ซึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดเกินกว่า 50% ยิ่งกว่านั้น แบรนด์อยู่คู่กับผู้บริโภคชาวไทยกำลังจะครบ 100 ปี อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ปี 2567 การทำตลาดของ “จอห์นนี่ วอล์กเกอร์” รุกต่อพอร์ตโฟลิโอ “พรีเมียม” เพื่อรับเทรนด์ผู้บริโภค นักดื่มทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย

จรินี วงศ์กำทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DMHT ฉายภาพ เทรนด์พรีเมียมกำลังร้อนแรงและมีการเติบโต พร้อมแบ่งปันข้อมูลจากนีลเส็น ที่ระบุว่าพฤติกรรมผู้บริโภคซื้อสินค้าของใช้จำเป็น(FMCG) ผลักดันการเติบโตบนมูลค่า Value มากกว่าเชิงปริมาณหรือ Volume รวมถึงการจ่ายเงินเพื่อซื้อประสบการณ์หรูหรา ตอบสนองไลฟ์สไตล์พรีเมียม

ขณะที่ IWSR หรือ International Wine and Spirits Research เผยเช่นกันว่าพฤติกรรมผู้บริโภค “ยินดีจ่ายเงิน” ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แพงขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น หรือเรียกว่า “ดียิ่งขึ้น” การจ่ายยังไม่แค่เพื่อซื้อสินค้าแต่ต้องมากกว่านั้นหรือ Beyond Product

รายงานของ IWSR ยังบ่งชี้ตัวแปรที่ขับเคลื่อนให้เซ็กเมนต์พรีเมียมเบ่งบาน เกิดจากจำนวนของผู้มีอำนาจซื้อสูงหรือมีฐานะมากขึ้นด้วย กลุ่มมิลเลเนียล

เมื่อมาดูพอร์ตโฟลิโอเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของบริษัท มีหลากหลายกลุ่ม เช่น จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ เรด เลเบิ้ล และแบล็คเลเบิ้ล พอร์ตใหญ่สุดและเป็นผลิตภัณฑ์หลักหรือ Core Product จับกลุ่มเป้าหมายวงกว้าง มีจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ กรีน เลเบิ้ล ไปจนถึง “บลู เลเบิ้ล” และน้องใหม่จอห์นนี่ บลอนด์ จับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นต้น  

ขณะที่เทรนด์พรีเมียมมาแรง ดิอาจิโอ จึงไม่หยุดนิ่ง และปรับกระบวนท่าในการทำตลาดสอดรับเทรนด์และการเปลี่ยนแปลง

ปี 2567 จึงลุยจัดทัพการตลาดเสริมแกร่งจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ บลู เลเบิ้ล เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายนักดื่มที่กำลังซื้อสูง ต่อเนื่องจากปี 2566 ที่มีการทำหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการใช้กลยุทธ์ความร่วมมือ(Collaboration : X) กับเชฟมิลิชสตาร์ชื่อดัง “เค โคบายาชิ” ในการรังสรรค์และนำภาษาญี่ปุ่นมาอยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์ให้กับ Blue Label Elusive Umami การร่วมกับศิลปินเชื้อสายเอเชียน-อเมริกัน “เจมส์ จีน”(James Jean) ออกแบบ “Johnnie Walker Blue Label Lunar New Year” ต้อนรับปีมังกร 

ล่าสุด คือการลุย “Johnnie Walker Depth of Blue Room” แฟล็กชิฟสโตร์สก็อตช์วิสกี้แห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งดิอาจิโอเปิดให้บริการแก่ลูกค้าตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา 

สำหรับไฮไลต์ของ Johnnie Walker Depth of Blue Room คือการร่วมกับพันธมิตรโรงแรม 6 ดาว อย่างพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ เพื่อเนรมิตห้องและบาร์บนชั้น 35 สร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยจะเปิดให้บริการเป็นเวลา 1 ปี เพื่อประเมินผลงาน และเสียงตอบรับจากผู้บริโภค หากฟีดแบ็คดียังมีโอกาสต่อยอดสู่ประเทศอื่นในอาเซียนด้วย  

เทรนด์พรีเมียมหนุนธุรกิจโต  ‘ดิอาจิโอ’ จัดทัพสก็อตช์วิสกี้แพงลุยตลาด

จรินี วงศ์กำทอง

“การทำตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เซ็กเมนต์พรีเมียมอย่างจอห์นี่ วอล์กเกอร์ บลู เลเบิ้ล มี 3 แกน ได้แก่ 1.สินค้าที่ดีมีคุณภาพต้องมาพร้อมกับเรื่องราวหรือ Storytelling ซึ่งจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ระดับโลกอยู่มากว่า 200 ปี ในประเทศไทยกำลังจะฉลอง 100 ปี 2.นวัตกรรมและการร่วมมือกับพันธมิตรที่ใช่เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภค และ3.การคอนเน็คกับผู้บริโภคด้วยสิ่งที่เหนือกว่าสินค้าหรือ Beyond Product”

ทั้งนี้ การสร้าง “Johnnie Walker Depth of Blue Room” นอกจากจับกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคชาวไทย บริษัทยังมองโอกาสเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเยือนด้วย เพราะไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางหรือ Destination ระดับโลก

“ประเทศไทยถือเป็นตลาดสำคัญของดิอาจิโอ ในระดับภูมิภาคทั้งจากขนาดตลาด และการที่แบรนด์จอห์นี่ วอล์กเกอร์อยู่มาจะครบร้อยปี ที่สำคัญยังเป็นเบอร์ 1 ของตลาดวิสกี้นำเข้าจากต่างประเทศด้วย”

ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย การทำตลาดนั้นค่อนข้างมีความท้าทายจากหลายปัจจัย เช่น กฎหมาย การสื่อสารแบรนด์ การกำหนดเวลาจำหน่าย เป็นต้น แต่บริษัทยังมองโอกาสเติบโต โดยปี 2567 หนึ่งในแรงหนุนคือเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นไฮซีซั่น รวมถึงบริษัทจะมีการจัดกิจกรรมในโอกาสที่แบรนด์อยู่มา 100 ปีในประเทศไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ดิอาจิโอ ในตลาดเอเชียแปซิฟิก(APAC)สร้างผลงานการเติบโตอัตรา 5.9% โดยการทำตลาดดังกล่าว บริษัทตั้งเป้าหมายสร้างการเติบโตในอัตรา 2 หลัก

“ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พรีเมียมมีอัตราการเติบโตสูงกว่าเซ็กเมนต์อื่นๆ”