ธุรกิจตั้งรับปัญหา‘ภูมิรัฐศาสตร์’ เชื่อกระทบไม่รุนแรงแนะพลิกสร้างโอกาส

ธุรกิจตั้งรับปัญหา‘ภูมิรัฐศาสตร์’ เชื่อกระทบไม่รุนแรงแนะพลิกสร้างโอกาส

ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ทั่วโลก เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญและท้าทายการขับเคลื่อนธุรกิจที่ยังมีความผันผวนในหลากหลายมิติรออยู่ในปีนี้ พิสูจน์ฝีมือบรรดาแม่ทัพ นักการตลาด จะวางกลยุทธ์รับมือ หรือ แปร "วิกฤติ" เปลี่ยนเป็นโอกาสได้อย่างไร

KEY

POINTS

  • ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังคงส่งผลกระทบภาคท่องเที่ยวไทย แต่ไม่รุนแรง ต่างจากมิติด้านการค้า ได้รับผลกระทบชัดเจนกว่า

  • ผู้ประกอบการต้องปรับตัว และเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่คาดว่าจะอยู่กับโลกไปอีกนาน แต่ทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ

     

ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ทั่วโลก เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญและท้าทายการขับเคลื่อนธุรกิจที่ยังมีความผันผวนในหลากหลายมิติรออยู่ในปีนี้ พิสูจน์ฝีมือบรรดาแม่ทัพ นักการตลาด จะวางกลยุทธ์รับมือ หรือ แปร "วิกฤติ" เปลี่ยนเป็นโอกาสได้อย่างไร

ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตามความเป็นจริงภาคการท่องเที่ยวไทยน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่านี้ แต่ถือว่าโชคดีที่ได้รับผลกระทบเพียงบางส่วนเท่านั้น! 

อย่างตลาดนักท่องเที่ยวรัสเซีย แม้จะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่พบว่ายังคงเดินทางเข้าประเทศไทย สถิติปี 2566 มีจำนวน 1,481,878 คน มากเป็นอันดับ 5 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยสูงสุด รองจากมาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ถือว่ากลับมาเท่าปี 2562 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวรัสเซีย 1,481,837 คน ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวอิสราเอลที่เคยเติบโตดีในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ประเมินว่าในปี 2567 น่าจะมีจำนวนเดินทางเข้าไทยมากกว่าปีที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนท่องเที่ยวเป็นห่วงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ที่อยู่ในคู่ความขัดแย้งหรือสงครามมากน้อยขนาดไหน แต่ปรากฏว่าผิดคาด! อย่างเช่นตลาดนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ได้รับผลกระทบระยะสั้นในช่วงที่มีการระงับเที่ยวบิน แต่พอตลาดเริ่มฟื้นแม้จะยังมีสงครามกลับพบว่านักท่องเที่ยวรัสเซียเลือกเดินทางเข้าไทยแทน

ด้านประเทศจีน ซึ่งกำลังเผชิญปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ การค้า และเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องจากวิกฤติโควิด มองว่าปี 2567 แนวโน้มเศรษฐกิจจีนน่าจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวได้ดีเพื่อทำตลาดกระตุ้นนักท่องเที่ยวจีนออกเดินทาง ด้วยการเร่งสื่อสารกับบริษัทนำเที่ยวในจีน แลกเปลี่ยนความรู้ ทำความเข้าใจนักท่องเที่ยวจีน เพื่อนำเสนอโปรดักต์ท่องเที่ยวใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการ

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์น่าจะยังส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทย เพียงแต่ไม่ได้กระทบรุนแรง ต่างจากมิติด้านการค้าที่ได้รับผลกระทบชัดกว่า แต่ภาคเอกชนท่องเที่ยวยังต้องจับตาเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือให้ดี

ทัวริสต์ปี 67 ลุ้นแตะ 36 ล้านคน

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน ยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนต่อภาคการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกหรือในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ยังนิยมเดินทางมาประเทศไทย

โดยนักท่องเที่ยวยุโรปที่แม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติราคาพลังงานและภาวะเงินเฟ้อช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุใหม่ๆ แต่ขณะนี้พบว่าไม่กระทบต่อการเดินทางมาเที่ยวไทยมากนัก ทั้งที่ราคาตั๋วเครื่องบินยังค่อนข้างแพง 

ธุรกิจตั้งรับปัญหา‘ภูมิรัฐศาสตร์’ เชื่อกระทบไม่รุนแรงแนะพลิกสร้างโอกาส

“ค่อนข้างประหลาดใจกับสถานการณ์นี้ แต่วิเคราะห์แล้วส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะค่าครองชีพในไทยยังถูกกว่าเมื่อเทียบกับยุโรป”

ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวรัสเซีย ด้วยความที่เดินทางไปประเทศอื่นลำบากกว่ามาประเทศไทย จึงเลือกมาไทยแทน กลายเป็นผลพลอยได้จากการที่ประเทศไทยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ด้านนักท่องเที่ยวตะวันออกกลางก็ยังนิยมเดินทางมาไทยเช่นกัน ยกเว้นตลาดนักท่องเที่ยวอิสราเอลที่ยังชะลอการเดินทาง ทำให้ในภาพรวมชาวต่างชาติเที่ยวไทยยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนมากนัก มองว่าปี 2567 ภาคการท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง

“ประเทศไทยวางตัวเป็นมิตรกับทุกประเทศ ในภาวะที่มีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในหลายๆ ประเทศ นักท่องเที่ยวจากชาตินั้นๆ ยังคงเลือกเดินทางมาไทย ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่จีน กับไต้หวัน ทุกคนก็มาเที่ยวไทยหมด หากภาคการท่องเที่ยวไทยรักษาโมเมนตัมหรือแรงส่งได้ดีต่อเนื่องในทุกๆ เดือน เฉลี่ยเดือนละ 3 ล้านคน คาดว่าตลอดปี 2567 มีสิทธิแตะ 36 ล้านคน สูงกว่าเป้าหมายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งไว้ที่ 35 ล้านคน”

กลุ่มอาหารห่วงต้นทุนขนส่ง-วัตถุดิบพุ่ง

อมรา ไทยรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไข่หวานบ้านซูชิ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามในการทำธุรกิจมีทั้ง ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ กำลังซื้อ ต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้น และสถานการณ์ความขัดแย้งในต่างประเทศ ซึ่งมีผลต่อการขนส่ง ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบหลักอย่างปลาแซลมอนปรับสูงขึ้น ล่าสุดราคาเพิ่มขึ้นมาถึง 600 บาทต่อกิโลกรัม จากปีก่อน ราคาเฉลี่ย 300 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งบางส่วนเป็นผลจากสภาพอากาศหนาวมากขึ้นทำให้แซลมอนมีปริมาณลดลง

บริษัทฯ ต้องประเมินแผนร่วมกับซัพพลายเออร์ เพื่อบริหารต้นทุนให้ลดลงหรือคงที่ เพื่อตรึงราคาสินค้าได้นานที่สุด โดยแซลมอน ถือเป็นสินค้าหลักของร้านซูชิบ้านไข่หวาน ที่ลูกค้าให้ความนิยม

เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ กลุ่มอำพลฟูดส์ กล่าวว่า แม้ภาพรวมธุรกิจกลุ่มอาหารขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากแรงหนุนภาคท่องเที่ยวทำให้ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และการบริโภคในประเทศปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่มีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ กระทบต่อการขนส่งสินค้าจากยุโรปมีราคาสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งการส่งสินค้าจากยุโรปมาไทย และส่งสินค้าจากไทยไปในยุโรป

“ผู้ประกอบการไทยที่มีการส่งออกไปยุโรป ต้องปรับแผนบริหารจัดการภายในองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

สำหรับนโยบายของบริษัทฯ เน้นตลาดสำคัญทั้งจีน และตะวันออกกลาง ซึ่งมีความต้องการสินค้ากลุ่มอาหารจากประเทศไทยในระดับสูง

หวั่นภูมิรัฐศาสตร์ก่อหวอดทั่วโลก

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและทำตลาดเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง กล่าวว่า ปีนี้มีความท้าทายในหลายมิติ ซึ่งเกิดจากความไม่แน่นอน ทั้งระดับประเทศและโลกอย่างปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามยังยืดยื้อ ทุกคนต้องเตรียมพร้อม มีความหยืดหยุ่น ซึ่งใช้ได้ทุกสถานการณ์ เพราะทักษะแห่งความยืดหยุ่น เมื่อถึงวันที่เราล้ม เราจะลุกได้เร็ว ด้วยการมองปัญหาเป็นโอกาส พยายามหาทางแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ นำมาพัฒนาตัวเอง ให้เป็นคนที่เก่งและแกร่งขึ้นได้”

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า กล่าวว่า ปี 2567 ธุรกิจยังเผชิญสถานการณ์อ่อนไหวจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเกิดสงครามที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นจุดไหนของโลก จากก่อนหน้านี้คู่ขัดแย้งเกิดที่รัสเซีย-ยูเครน ขยายวงไปยังปาเลสไตน์-อิสราเอล และมาถึงวิกฤติทะเลแดง สมรภูมิใหม่

"ปี 2567 ยังมีการเมืองโลกที่ต้องติดตาม คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นอีกตัวแปรของภูมิรัฐศาสตร์ปีนี้ และไม่รู้ว่าปัญหารัฐศาสตร์จะเกิดขึ้นตรงไหนของโลก ความอ่อนไหวเต็มไปหมด ทุกประเทศพร้อมจะเป็นคู่ขัดแย้งกัน ไทยเองต้องจับตาความผันผวนทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่เต็มไปด้วยความความหวังของประชาชน ด้านการทำธุรกิจภาพรวมต้องระมัดระวังการลงทุน มีกระแสเงินสดขยายกิจการได้ ผู้ประกอบการที่เน้นกู้ต้องระวังให้มาก”

โอกาส-ดีมานด์อสังหาฯ ต่างชาติพุ่ง 

ธงชัย บุศราพันธ์ รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์กระทบต่อเศรษฐกิจโลก อาเซียน และไทย ในฐานะผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงนี้ที่จะอยู่กับโลกไปอีกนาน 

ธุรกิจตั้งรับปัญหา‘ภูมิรัฐศาสตร์’ เชื่อกระทบไม่รุนแรงแนะพลิกสร้างโอกาส

“แต่ทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ ยกตัวอย่าง หลังเกิดปัญหาการเมืองไม่มีเสถียรภาพในเมียนมา จีน ไต้หวัน ประชาชนในประเทศเหล่านี้มองหาที่อยู่อาศัยในต่างประเทศเพื่อเป็นบ้านหลังที่สองส่งผลดีกับอสังหาริมทรัพย์ไทย”

ทั้งนี้ โนเบิล มีโครงการที่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าต่างชาติได้หลากหลาย ปลายปี 2566 ที่ผ่านมาบริษัทพรีเซลคอนโดมิเนียม “ดิ เอ็มบาสซี ไวร์เลส” กับลูกค้าต่างชาติมียอดขายมากกว่า 2,200 ล้านบาท และจะเริ่มทำตลาดกับลูกค้าไทยไตรมาสแรกนี้ราคาเริ่มต้น 21 ล้านบาทต่อยูนิต

แฟรงค์ เหลียง รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม โนเบิล กล่าวเสริมว่า ต่างชาติต้องการอสังหาริมทรัพย์ในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดใหม่อย่าง ไต้หวัน เมียนมา ฮ่องกง จากการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ เชื่อว่าปีนี้ตลาดจีนจะกลับมา แม้ไม่เท่าก่อนโควิด โดยยอดขายต่างชาติขยับขึ้นทุกปี หลังปี 2563 ติดลบ 44.9%  ปัจจุบันขยายตัว 116% มียอดขาย 5,700 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ คาดสิ้นปีนี้มียอดขาย 6,000 ล้านบาท

แนะเตรียมพร้อมรับมือความไม่แน่นอน

ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจทุกภูมิภาคทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ จากเดิมคาดว่ามีแค่สงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่กลับมีอิสราเอล-ฮามาส และไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นจะขยายวงหรือไม่ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคทั้งการผลิตและบริโภค โดยเฉพาะภูมิภาคที่เป็นแกนกลางของเหตุการณ์อย่างยุโรป แม้ว่า “ไทย” จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ดังนั้นปี 2567 จึงเป็นปีแห่งการเฝ้าระวัง ผู้ประกอบการธุรกิจต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ทันเวลา เป็นเหตุผลที่ “สิงห์ เอสเตท” พยายามกระจายกลุ่มลูกค้าหลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงในทุกธุรกิจไม่ว่าเป็น บ้าน อาคารสำนักงานหรือโรงแรม รับมือความไม่แน่นอนหากมีการหายไปของลูกค้าบางธุรกิจ บางเซ็กเมนต์ ยกตัวอย่าง ช่วงที่คนจีนไม่มาก็มีกลุ่มลูกค้าอื่นเข้ามาทดแทน