สทท. กังวล ‘เงินฝืด’ กระทบท่องเที่ยว คนไทยรัดเข็มขัดหนักกว่าก่อนโควิด!

สทท. กังวล ‘เงินฝืด’ กระทบท่องเที่ยว คนไทยรัดเข็มขัดหนักกว่าก่อนโควิด!

จากผลสำรวจ 'ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 4/2566' สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับ 'ปัจจัยเสี่ยง' ที่มีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยในไตรมาส 1/2567 โดยเฉพาะความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ 'เงินฝืด' ของเศรษฐกิจไทย

Key Points:

  • รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 4/2566 ระบุถึง "ปัจจัยเสี่ยง" เข้าสู่ภาวะเงินฝืดของเศรษฐกิจไทย ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวไทยในไตรมาส 1/2567
  • ความคิดเห็นของประชาชนคนไทย เกี่ยวกับหัวข้อ "การวางแผนท่องเที่ยวของประชาชนในไตรมาส 1/2567" พบว่ากว่า 73% "ระมัดระวังการใช้จ่าย" มากขึ้น เมื่อเทียบกับยุคก่อนวิกฤติโควิด-19
  • กว่า 87% ลดค่าใช้จ่ายในหมวดของใช้ส่วนตัวมากขึ้น ส่วน 79% ควบคุมการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวและการบันเทิง

 

รายงานข่าวจาก สทท. ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาคือการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของสถานการณ์ “เศรษฐกิจโลก” ตามรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (Global Economic Prospects) ของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี (ไม่นับรวมกรณีเศรษฐกิจโลกหดตัวในปี 2563-2565 จากวิกฤติโควิด-19) โดยมีการขยายตัว 2.4% ลดลงจาก 2.6% ในปี 2566

ธนาคารโลกคาดด้วยว่าเศรษฐกิจของ “สหรัฐ” จะขยายตัวเพียง 1.6% ในปี 2567 ลดลงจากระดับ 2.5% ในปี 2566 ส่วน “ยูโรโซน” จะขยายตัว 0.7% ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากระดับ 0.4% ในปี 2566 ขณะที่ “จีน” น่าจะชะลอตัวสู่ระดับ 4.5% ในปี 2567 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี

นอกจากนี้บริษัท Moody’s Investor Service (Moody’s) วิเคราะห์ว่าประเทศนอร์เวย์และสวีเดน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล (Long-haul) ที่มักมาเที่ยวประเทศไทยระยะเวลานาน กำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่หลายประเทศในกลุ่มยุโรป อเมริกา รวมทั้งจีน รัสเซีย และออสเตรเลีย อยู่ในภาวะเสี่ยงจะเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” เช่นเดียวกัน

เมื่อดูเฉพาะ “เศรษฐกิจจีน” พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ “ภาวะเงินฝืด” หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของจีนในไตรมาส 3 ลดลง 0.1% จากการขยายตัว 0.1% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 56 ไตรมาส และมีแนวโน้มติดลบในไตรมาสถัดไป อัตราเงินเฟ้อติดลบแสดงถึงประชาชนขาดกำลังซื้อ เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าที่คาดจากปัญหาหนี้สินเอกชนและหนี้รัฐบาลจีน มีสัดส่วนในระดับสูง 300% ของจีดีพี

สทท. กังวล ‘เงินฝืด’ กระทบท่องเที่ยว คนไทยรัดเข็มขัดหนักกว่าก่อนโควิด!

ความเสี่ยง 'เศรษฐกิจไทย' ส่งสัญญาณเงินฝืด

ด้าน “เศรษฐกิจไทย” เองก็ส่งสัญญาณเงินฝืดเช่นกัน! เพราะจากอัตราเงินเฟ้อของไทยขยายตัวต่ำติดต่อกัน 8 เดือน เริ่มจากเดือน พ.ค. 2566 มีอัตราเงินเฟ้อ 0.53% ส่วนเดือน มิ.ย. 0.23% เดือน ก.ค. 0.35% เดือน ส.ค. 0.88% เดือน ก.ย. 0.30% กระทั่งเข้าสู่เดือน ต.ค. อัตราเงินเฟ้อติดลบ 0.31% เดือน พ.ย. ติดลบ 0.44% และเดือน ธ.ค. ติดลบ 0.83% ในเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2566 อัตราเงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนติดต่อกันในรอบ 26 เดือน และมีแนวโน้มที่เงินเฟ้อไทยจะติดลบต่อเนื่อง

เมื่อ “อัตราเงินเฟ้อไทยติดลบ” สะท้อนถึงคนไทยกำลังขาดกำลังซื้อ หากติดลบติดต่อกันหลายเดือน จะสะท้อนภาวะเงินฝืดภายในประเทศ!

ขณะเดียวกัน “ภาระหนี้สินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน” ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยไตรมาส 1/2567 เช่นกัน หลังจากเมื่อสิ้นปี 2566 หนี้ครัวเรือนขยับขึ้นไปประมาณ 16.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 91.4% ต่อจีดีพี ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนรายได้น้อยมากที่สุด ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีและลูกหนี้ภาคเกษตรกรรมถือเป็นข้อจำกัดที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม

 

เปิดผลสำรวจ 'คนไทยวางแผนท่องเที่ยว ไตรมาส 1/2567'

รายงาน สทท. ระบุด้วยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนคนไทยที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาทต่อเดือน เกี่ยวกับ “การวางแผนท่องเที่ยวของประชาชนในไตรมาส 1/2567” ด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ จำนวน 418 คนทั่วประเทศ กระจายตามเพศ ภูมิภาค อาชีพ และช่วงรายได้ ผลการสำรวจพบว่า ประชาชน 74% มีแผนการเดินทางไปต่างจังหวัดในไตรมาส 1 และคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวและจำนวนครั้งในการเดินทางเพิ่มขึ้นมากกว่าไตรมาส 4/2566

สำหรับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างจังหวัดต่อครั้งช่วงไตรมาส 4/2566 เป็นเงินประมาณ 4,293 บาท/คน/ทริป ถือว่าไม่แตกต่างจากไตรมาส 3/2566 ซึ่งอยู่ที่ 4,285 บาท/คน/ทริป แต่แตกต่างจากช่วงต้นปี ไตรมาส 1/2566 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาท/คน/ทริป สะท้อนสัญญาณคนไทยขาดกำลังซื้อและเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว

ลักษณะการเดินทางในไตรมาส 1/2567 ส่วนใหญ่ 55% เป็นการเดินทางข้ามภูมิภาค ด้าน 33% มีแผนเดินทางไปจังหวัดในภูมิภาคเดียวกันและพักค้างคืน ภูมิภาคที่ประชาชนวางแผนไปท่องเที่ยวมากที่สุดคือ “ภาคตะวันออก” คิดเป็น 60% ของคนที่วางแผนท่องเที่ยว รองลงมาคือภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ 30% และ 28% ตามลำดับ

กว่า 68% ของคนที่วางแผนท่องเที่ยว มีแผนเดินทางในเดือน ม.ค. กว่าครึ่งเดินทางกับครอบครัวและญาติ และส่วนใหญ่ 66% เดินทางเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อน ขณะที่ 23% มีแผนเดินทาง “ท่องเที่ยวต่างประเทศ” โดยเฉพาะญี่ปุ่น เวียดนาม และเกาหลีใต้ ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไทยมากที่สุดตามลำดับ

สทท. กังวล ‘เงินฝืด’ กระทบท่องเที่ยว คนไทยรัดเข็มขัดหนักกว่าก่อนโควิด!

 

กว่า 73% รัดเข็มขัด ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นกว่ายุคก่อนโควิด

ด้านผลการสำรวจเกี่ยวกับ “พฤติกรรมการใช้จ่ายและสถานะทางการเงินที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวภายในประเทศของประชาชน” พบว่า 55% มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน มีเพียง 19% ที่รายได้ไม่เพียงพอ

ด้านประชาชน 73% “ระมัดระวังการใช้จ่าย” มากขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนวิกฤติโควิด-19 โดย 87% มีการลดค่าใช้จ่ายในหมวดของใช้ส่วนตัวมากขึ้น ส่วน 79% ควบคุมการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวและการบันเทิง และ 56% ควบคุมค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

เมื่อเจาะเฉพาะประเด็น “การควบคุมค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว” พบว่ากว่า 89% มีการลดค่าชอปปิงและซื้อของฝากในการท่องเที่ยว รองลงมา 58% ลดค่าใช้จ่ายด้านที่พัก และ 50% ลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง

สทท. กังวล ‘เงินฝืด’ กระทบท่องเที่ยว คนไทยรัดเข็มขัดหนักกว่าก่อนโควิด!
 

'ค่าใช้จ่ายไม่แพง' ปัจจัยหลักรั้งคนไทยตัดสินใจท่องเที่ยวในประเทศ

สอดรับกับการสำรวจหัวข้อ “ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวของชาวไทย” พบว่า ประชาชน 28% ระบุว่าปัจจัยที่มีผลมากที่สุดคือ “ค่าใช้จ่ายไม่แพง” รองลงมา 27% ยกให้เรื่องความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยว ส่วน 18% เป็นเรื่องการลดราคา จัดโปรโมชันต่างๆ ของสถานประกอบการ และ 18% ตอบว่าเป็นเพราะความสะดวกสบายในการเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวไทยมีความพึงพอใจต่อ “ถนนหนทาง” ที่เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของประเทศไทยในระดับปานกลาง คะแนนเฉลี่ย 3.39 จากเต็ม 5 คะแนน และพึงพอใจต่อการเดินทางโดย “รถไฟ” ในระดับปานกลาง คะแนนเฉลี่ย 2.85 จากเต็ม 5 คะแนน

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวไทยมีความสนใจเดินทางท่องเที่ยว “เมืองรอง” ในระดับปานกลาง คะแนนเฉลี่ย 3.46 จากเต็ม 5 คะแนน โดยเหตุผลที่ประชาชนอยากเดินทางไปท่องเที่ยวเมืองรอง ได้แก่ นักท่องเที่ยวน้อย ไม่แออัด ค่าใช้จ่ายถูกกว่าเมืองหลัก แหล่งท่องเที่ยวมีความสมบูรณ์และอากาศดีกว่าเมืองหลัก ส่วนเหตุผลที่ประชาชนไม่อยากเดินทางไปท่องเที่ยวเมืองรอง ได้แก่ เส้นทางเดินทางไม่สะดวกเท่าเมืองหลัก ข้อมูลการท่องเที่ยวมีน้อย และแหล่งท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก กับที่พัก ยังมีน้อย

สทท. กังวล ‘เงินฝืด’ กระทบท่องเที่ยว คนไทยรัดเข็มขัดหนักกว่าก่อนโควิด!