‘คลูก’ จับเทรนด์ฮอตท่องเที่ยวโลก! คนรุ่นใหม่แห่เช็กอิน คอนเสิร์ต-เฟสติวัล

‘คลูก’ จับเทรนด์ฮอตท่องเที่ยวโลก! คนรุ่นใหม่แห่เช็กอิน คอนเสิร์ต-เฟสติวัล

เมื่อเทรนด์ท่องเที่ยวโลกเปลี่ยน ผู้คนต่างโหยหา 'ความตื่นเต้น' และ 'ความหวือหวา' เติมสีสันให้ชีวิต เพิ่มพูนประสบการณ์ท่องเที่ยว ด้วยการสัมผัสกิจกรรมแบบ 'Louder & Bolder' ทั้งอีเวนต์ เฟสติวัล และคอนเสิร์ต!

“กรุงเทพธุรกิจ” ร่วมสัมภาษณ์พิเศษ “เอริค น็อก ฟาห์” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท คลูก แทรเวล เทคโนโลยี จำกัด ผู้ให้บริการ “Klook” (คลูก) แพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ด้านการจองกิจกรรมและบริการต่างๆ ฉายภาพพฤติกรรมนักท่องเที่ยวกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” ที่มีต่อเทรนด์ดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

“นี่คือเทรนด์ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เราเห็นในปัจจุบัน กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์แบบ Louder & Bolder เช่น อีเวนต์ เฟสติวัล และคอนเสิร์ตต่างๆ ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก โดยเมื่อปี 2566 ทางคลูกได้ทำรีเสิร์ช พบว่าเกือบครึ่ง หรือ 49% ของนักท่องเที่ยวระบุว่า ไปเที่ยวเพราะอยากไปอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตที่สนใจ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

'เฟสติวัล-คอนเสิร์ต' ระดับโลก หมุดหมายต่างชาติเที่ยวไทย

สำหรับ “คอนเสิร์ต” ของ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” (Taylor Swift) ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เมื่อปีที่แล้ว ทางคลูกได้เป็นผู้จำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตพร้อมโปรโมตไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และเห็นผลตอบรับของเหล่าสาวก “สวิฟตี้” (Swiftie) ชาวไทยแห่จองบัตรคอนเสิร์ตและทริปการเดินทางไปชมที่สิงคโปร์กันจำนวนมาก

“พอมองในมุมตลาดอินบาวนด์ (Inbound) ขาเข้าประเทศไทย ก็พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอยากมาร่วมอีเวนต์ระดับโลกในไทยเหมือนกัน โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ 2567 ที่กำลังจะมาถึงในเดือน เม.ย.นี้ มีไฮไลต์น่าสนใจอย่างคอนเสิร์ตต่างๆ เช่น S2O ช่วยดึงดูดการเดินทาง”

‘คลูก’ จับเทรนด์ฮอตท่องเที่ยวโลก! คนรุ่นใหม่แห่เช็กอิน คอนเสิร์ต-เฟสติวัล

จ่ออัดแคมเปญโปรโมต 'สงกรานต์' ไฮไลต์เฟสติวัลไทย

คลูก จึงเตรียมจัดแคมเปญโปรโมตชาวต่างชาติมาสัมผัสประสบการณ์งานสงกรานต์ในไทย ด้วยการร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และผู้ให้บริการสินค้าท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อออกแบบโปรดักต์การท่องเที่ยวให้เหมาะกับเทศกาล

อีกพฤติกรรมน่าสนใจของชาวต่างชาติคือ เมื่อมาเที่ยวพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว ก็ไม่อยากไปแล้วถ่ายรูปเฉยๆ แต่อยากแต่งกายชุดไทย เพื่อให้ประสบการณ์ท่องเที่ยวเต็มไปด้วยความโดดเด่นและหวือหวายิ่งขึ้นด้วย

“เมื่อปี 2566 คลูกมีผลการดำเนินงานฟื้นตัวดี แซงปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดได้แล้ว โดยในมุมตลาดอินบาวนด์ นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศต่างๆ พบว่า ญี่ปุ่น เป็นเดสติเนชันอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวที่จองกิจกรรมบนคลูก ฟื้นตัวกว่า 100-110% เทียบกับปี 2562 นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้ว เรายังไม่เห็นการฟื้นตัวของการจองกิจกรรมในประเทศอื่นๆ ทั่วเอเชียที่ชัดเจนนัก ยกเว้นประเทศไทย ที่เห็นตัวเลขการฟื้นตัวดีมากๆ”

 

'คลูก' ดันยอดจองกิจกรรมในไทยพุ่งเท่าตัวสู่ 2 ล้านทริปปี 67

เอริค ระบุว่า สำหรับภาพรวมการจองกิจกรรมในประเทศไทยบนแพลตฟอร์มคลูก คาดหวังว่าในปี 2567 จะมีจำนวนทริปพุ่งเป็น 2 ล้านทริป เติบโตเท่าตัวจากคาดการณ์จะมี 1 ล้านทริปตลอดปี 2566

การเติบโตดังกล่าวคาดมาจากตลาดหลักอย่าง “จีนแผ่นดินใหญ่” หลังจากปีที่แล้วฟื้นตัวค่อนข้างช้า แต่เมื่อดูกระแสการเดินทางใน “เทศกาลตรุษจีน” เห็นสัญญาณบวกฟื้นตัวชัด ทำให้ตลาดจีนเป็นหนึ่งใน Big Growth” ตัวขับเคลื่อนการเติบโตของภาคท่องเที่ยวไทย แม้ไซส์ตลาดจะยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว แต่ก็มั่นใจว่าจะโตกว่าปีที่แล้วจากปัจจัยรัฐบาล ไทย-จีน ลงนามความตกลง “ยกเว้นวีซ่า” ระหว่างกัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป

นอกจากนี้นักท่องเที่ยวตลาด “สหรัฐ” ก็มีแนวโน้มเติบโตดีเช่นกัน จากเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังแข็งแกร่ง ส่วนใหญ่ยังคงชอบกิจกรรมแบบ All-Time Favorite” เช่น ทัวร์พระบรมมหาราชวัง-วัดพระแก้ว ทัวร์ตลาดน้ำ จะต่างจากนักท่องเที่ยวจีนที่ชื่นชอบกิจกรรมพวกสปากันมากขึ้น

 

จับโฟกัสขายแพ็กเกจพ่วง เฟสติวัล-คอนเสิร์ต-ซอฟต์พาวเวอร์ 5F ในไทย

“ส่วนธุรกิจของคลูกจะเติบโตจากโปรดักต์ไหนเป็นพิเศษ มองว่าโปรดักต์หลักที่ยังคงได้รับความนิยมคือกิจกรรมทัวร์ แต่จุดที่เราอยากโฟกัสในปีนี้ จะเป็นพวกทัวร์พื้นที่อื่นๆ รอบกรุงเทพฯ เช่น เขาใหญ่ และแน่นอนว่าเราจับโฟกัสเรื่องเฟสติวัลและคอนเสิร์ตในไทยมากขึ้น สอดรับกับนโยบายผลักดันด้านซอฟต์พาวเวอร์ 5F ของ ททท. ด้วยการทำงานร่วมกับผู้จัดงาน (Organizer) เฟสติวัลและคอนเสิร์ตในไทยเพื่อโปรโมตไปทั่วโลก ให้มาสัมผัสเทศกาล อาหาร และวัฒนธรรมไทย โดยมั่นใจว่าประเทศไทยสามารถใช้ 5F เป็นจุดแข็งในการเอาชนะประเทศอื่นๆ ด้านการท่องเที่ยวได้”

ด้วยโมเดลการขายของคลูก ที่เคยทำจนประสบความสำเร็จมาแล้วกับคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ นั่นคือการเสนอขายแพ็กเกจแบบมัดรวม หรือ Bundle Package” ขายบัตรคอนเสิร์ตมัดรวมกับโปรดักต์ท่องเที่ยวและบริการต่างๆ เช่น โรงแรม และบริการเช่ารถ

หลัง คลูก เห็นเทรนด์การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจากการเข้าร่วมคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่ใช้จ่ายสูงขึ้น 4-5 เท่า เพราะไม่ได้มีแค่ค่าบัตรคอนเสิร์ตเท่านั้น แต่ต้องจ่ายค่าตั๋วบิน โรงแรม รถเช่า ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าชอปปิงด้วย ทำให้ “องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว” ของประเทศต่างๆ อยากทำงานกับแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์เพื่อโปรโมตดึงตลาดอินบาวนด์ เพราะเมื่อมีอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตระดับโลก นั่นหมายความว่าไม่ได้โฟกัสเฉพาะนักท่องเที่ยวในประเทศเท่านั้น แต่คือการโฟกัสปริมาณ “การใช้จ่ายสะพัด” จากตลาดอินบาวนด์ที่สูงขึ้นตามไปด้วย!

 

'ญี่ปุ่น' จ่อรั้งแชมป์คนไทยแห่เที่ยวสูงสุดปีมังกร

ด้านตลาด “เอาต์บาวนด์” (Outbound) นักท่องเที่ยวไทยไปต่างประเทศ คลูกเห็นเทรนด์ที่แข็งแรงมากๆ ของตลาดนี้ เมื่อปี 2566 พบคนไทยจองกิจกรรมท่องเที่ยวต่างประเทศบนคลูกเติบโตมากกว่า 100% เทียบกับปี 2562 ส่วนปี 2567 ตั้งเป้าสร้างการเติบโต 80% เทียบกับปีที่แล้ว โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยม “ญี่ปุ่น” จะยังรั้งแชมป์เอาไว้ได้ ส่วนอีกโซนที่น่าจะได้รับความนิยมเช่นกันคือ “ยุโรป” ด้วยปีนี้มีไฮไลต์อย่างมหกรรมกีฬา “โอลิมปิก 2024” ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส

 

ยุคหลังโควิด แลนด์สเคป-การแข่งขันธุรกิจ 'OTA' เปลี่ยน!

ทั้งนี้ เอริค ฉายภาพถึงแลนด์สเคปและการแข่งขันของธุรกิจ OTA” (Online Travel Agents) ที่เปลี่ยนไปในตอนนี้ด้วยว่า ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือดูเฉพาะตลาดใน “ประเทศจีน” หลังผ่านยุคโควิด-19 พบว่ามีการแข่งขันสูงมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ใช่การแข่งขันเฉพาะธุรกิจ OTA อย่างเดียว แต่มาจากแพลตฟอร์ม “โซเชียลมีเดีย” ด้วย อาทิ TikTok และ Little Red Book (Xiaohongshu) ซึ่งเพิ่มฟีเจอร์โปรโมตกิจกรรมท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวสามารถจองกิจกรรมท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์มได้เลย

“พอเราเห็นการเติบโตของโซเชียลคอมเมิร์ซ (Social Commerce) ในจีน กลยุทธ์ของคลูกคือเราไม่ได้แข่งกับเขา แต่เน้นสร้างความร่วมมือกับเขา เข้าไปเวิร์คเรื่องการจองกิจกรรมและระบบจ่ายเงิน (Payment) บนแพลตฟอร์มเหล่านั้นให้สะดวกและง่ายขึ้น”

อีกส่วนคือ “ประเทศอื่นๆ” ที่ไม่ใช่จีน คลูกเห็นเทรนด์ของ OTA รายอื่นๆ ที่น่าสนใจ ตรงที่แต่ละรายจะโฟกัส “ความเชี่ยวชาญ” ในสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีมาชูเป็นจุดแข็ง เช่น เอ็กซ์พีเดียกรุ๊ป จะโฟกัสตลาดสหรัฐ เน้นขายโปรดักต์โรงแรมพ่วงเที่ยวบิน ส่วน อโกด้า โฟกัสตลาดเอเชีย เน้นขายโรงแรมเป็นหลัก แต่ถ้าเป็น คลูก จะโฟกัสเรื่องประสบการณ์ (Experience) กิจกรรมท่องเที่ยว เจาะลูกค้าเอเชีย นี่คือ “ความแตกต่าง” ของแต่ละ OTA ที่สร้างความพิเศษจากจุดแข็งของตัวเอง!

 

ความท้าทายหลัก 'ซัพพลายท่องเที่ยว' ไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ มองว่า “ความท้าทาย” ในการทำธุรกิจของคลูกปี 2567 คือสถานการณ์ข้อจำกัดฝั่ง “ซัพพลาย” ด้านการท่องเที่ยวที่ยังไม่เพียงพอกับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น เช่น ในญี่ปุ่น ยังคงเจอปัญหาคอขวดหลายเรื่อง ทั้งคนให้บริการด้านทัวร์ไม่เพียงพอ บริการเช่ารถไม่พอ ถ้าเจาะจงเฉพาะ “ประเทศไทย” มองว่าสามารถเติมบริการคุณภาพสูง หรือแบบพรีเมียม กับแบบลักชัวรีเพิ่มได้อีก! เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว เพราะตอนนี้นักท่องเที่ยว “ยอมจ่ายแพง” เพื่อแลกกับบริการน่าประทับใจ เป็นจุดที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเร่งยกระดับพัฒนาโปรดักต์ อบรมฝีมือแรงงาน

นำไปสู่การสร้าง “รายได้รวมการท่องเที่ยว” ให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่ “3.5 ล้านล้านบาท” ในปี 2567