ปิดกิจการ ‘Gram Pancakes-Pablo Cheesetart’ ขาดทุนต่อเนื่อง 8 ปี ติดลบสูงสุด 33 ล้านบาท

ปิดกิจการ ‘Gram Pancakes-Pablo Cheesetart’ ขาดทุนต่อเนื่อง 8 ปี ติดลบสูงสุด 33 ล้านบาท

ไปต่อไม่ไหว อาจขาดทุนเฉลี่ยไตรมาสละ “8 ล้านบาท” ! “วีรันดา รีสอร์ท” ออกโรงแจง เตรียมยุติกิจการขนมหวาน “Gram Pancakes” และ “Pablo Cheesetart” คาดผลประกอบการปี 2567 ดีขึ้น จากการหยุดรับรู้ส่วนแบ่งธุรกิจ

หลังเปลี่ยนมือจาก “ปิยะเลิศ ใบหยก” ทายาทตึกสูงเมืองไทย ผู้ก่อตั้ง “บริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด” ธุรกิจร้านอาหารและขนมหวานที่เคยสร้างปรากฏการณ์ต่อคิวจนล้นออกไปนอกห้าง จากกระแสชีสทาร์ต “Pablo Cheesetart” และแพนเค้กจากแดนอาทิตย์อุทัย “Gram Pancakes” กระทั่งปี 2562 “บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน)” ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ “บริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด” หวังเติมพอร์ตธุรกิจอาหาร เข้ามาเสริมทัพให้ธุรกิจในเครือ “วีรันดา รีสอร์ท” แข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 “วีรันดา รีสอร์ท” ออกมาเปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานในปี 2567 โดยระบุว่า บริษัทได้ยุติการรับรู้ผลขาดทุนของธุรกิจร้านขนมหวานในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 โดยมีแผนหันไปโฟกัส-ลุยธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทในเครือ สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องในปีนี้

“วีรันดา รีสอร์ท” ระบุว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ธุรกิจขนมหวานภายใต้การบริหารของ “บริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด” ขาดทุนกว่า “24 ล้านบาท” ซึ่งบริษัทได้มีการปรับแผนการดำเนินงานเพื่อลดการขาดทุนมาโดยตลอด โดยในปี 2566 “Gram Pancakes” ลดจำนวนสาขาลงเหลือเพียง 7 สาขา เช่นเดียวกับ “Pablo Cheesetart” ที่เปิดให้บริการ 7 สาขา และหันมาให้บริการผ่านช่องทางเดลิเวอรีมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ “วีรันดา รีสอร์ท” เข้าซื้อกิจการ “พีดีเอส โฮลดิ้ง” ในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ บริษัทได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ปิดหน้าร้าน โดยมีการปรับตัวสามส่วน คือเพิ่มช่องทางเดลิเวอรี ขยายพื้นที่สาขาไปยังโซนใหม่ๆ และเพิ่มเมนูให้เข้ากับเทรนด์ผู้บริโภคมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังพบว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทยังคงประสบกับภาวะขาดทุนมาโดยตลอด ซึ่งไม่ใช่แค่ที่ไทยเท่านั้นแต่บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นก็ได้ปิด “แฟลกชิป สโตร์” ในเมืองโอซากาเช่นกัน

“วีรันดา รีสอร์ท” เล็งเห็นถึงความนิยมในตัวแบรนด์ที่ลดลง รวมทั้งราคาต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น จึงนำมาสู่การยุติกิจการภายในปี 2567 ซึ่งจากการหยุดการรับรู้ส่วนแบ่งตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 จะทำให้สัดส่วนขาดทุนของบริษัทในปี 2567 ลดลงเฉลี่ยไตรมาสละ “8 ล้านบาท” เมื่อเทียบกับปี 2566

ทั้งนี้ หากย้อนดูผลประกอบการ “บริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด” พบว่า เริ่มประสบกับภาวะขาดทุนตั้งแต่ปี 2557 และกลับมามีกำไรอีกครั้งในปี 2561 หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา บริษัทขาดทุนต่อเนื่อง เคยขาดทุนสูงสุดในปี 2562 มากถึง “33 ล้านบาท” ซึ่งตรงกับช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ และยังเป็นปีที่ “วีรันดา รีสอร์ท” เข้าซื้อหุ้น “พีดีเอส โฮลดิ้ง” ทั้งหมดด้วย

สำหรับรายละเอียดผลประกอบการย้อนหลัง 4 ปี “บริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด” มีดังนี้

ปี 2562: รายได้ 228 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 33 ล้านบาท
ปี 2563: รายได้ 112 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 10 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้ 90 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 7.8 ล้านบาท
ปี 2565: รายได้ 94 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 8.8 ล้านบาท

 

อ้างอิง: BangkokbiznewsCreden Data