‘มาม่า’ เชื่อมั่นการลงทุน โฟกัสธุรกิจทำ ‘กำไร’ ควบคู่สร้างแบรนด์แกร่ง

‘มาม่า’ เชื่อมั่นการลงทุน  โฟกัสธุรกิจทำ ‘กำไร’ ควบคู่สร้างแบรนด์แกร่ง

“มาม่า”เผยสถานะการเงินแข็งแกร่ง พร้อมขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รองรับตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังโต วางแผนเทเงินลงธุรกิจที่มีอนาคต ทำกำไร ฐานทัพไทยเดินหน้าลงทุนใหญ่สร้างโรงงานใหม่ เล็งผุดโรงงานอีกแห่งในฮังการี เปิดร้าน “มาม่า สเตชั่น” ในสิงคโปร์ สหรัฐฯ

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจปี 2567 บริษัทยังมองหาโอกาสในการขยายลงทุน เพื่อผลักดันการเติบโตของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศตามแผน 5 ปี จะมีการลงทุนใหญ่ขยายกำลังการผลิตสินค้า รองรับการเติบโตระยะยาวใน 10 ปีข้างหน้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหาที่ดินที่เหมาะสม

เบื้องต้น หากยังไม่ได้ที่ดิน บริษัทยังมีทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของโรงงานเดิม เพื่อติดตั้งเครื่องจัก และผลิตสินค้า ส่วนในต่างประเทศกำลังพิจารณาการลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ในประเทศฮังการีเพิ่มเติม มองโอกาสลงทุนในประเทศกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันฐานทัพการผลิตของมาม่าในต่างแดน มีทั้งประเทศเมียนมา ที่เพิ่งย้ายโรงงานไปยังเมืองมัณฑะเลย์ และศึกษาการขยายตลาดในประเทศอาฟริกา

“บริษัทยังวางแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะลงทุนใหญ่ใน 5 ปี จะเห็นแน่ๆ ซึ่งช้าหรือเร็วยังมีเวลาพิจารณา ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะบริษัทมีเงินสดรองรับแผนดังกล่าว รวมถึงอาจจะมีการสร้างโรงงานใหม่ในประเทศฮังการีด้วย”

นอกจากนี้ บริษัทยังต้องการลงทุนในกิจการที่สร้างผลตอบแทนหรือกำไรอัตราสูง หลังจากที่ผ่านมา มีการเข้าไปลงทุนในธุรกิจเพรซิเดนท์ เบเกอรี ผู้ผลิตขนมปังและเบเกอรีฟาร์มเฮ้าส์ สัดส่วน 51% และรวมถึงลงทุนในบริษัทไออิชิฯ สร้างการรับรู้รายได้

“การลงทุนของบริษัทวางไว้ 2 แนวทาง คือลงทุนเพื่อรับรู้กำไร ธุรกิจที่มีกำไรสูง ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มการลงทุนในธุรกิจที่มีอนาคต ทำกำไรที่ชัดเจนมากขึ้น และลงทุนในธุรกิจที่ช่วยสร้างการรับรู้และเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ อาจมีกำไรไม่สูงมากนัก เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ได้เรื่องแบรนด์มากกว่ายอดขาย”

ทั้งนี้ 9 เดือนของปี 2566 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดประมาณ 4,926 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2565 ประมาณ 1,099 ล้านบาท

ในการสร้างแบรนด์ “มาม่า” ยังต้องการผลักดันให้รับรู้ในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งการก้าวไปสู่ระดับโกลบอลจะต้องมีพันธมิตรที่ชำนาญการทำตลาดท้องถิ่นเจาะกลุ่มเป้าหมายในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม หนึ่งในประเทศที่มาม่าโด่งดังมากเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อดังคือ “ฟินแลนด์”

“มาม่าดังมากในฟินแลนด์ ซึ่งการสร้างการรับรู้ตราสินค้าและบะหมี่ฯในยุโรปยังมีโอกาสเติบโตได้อีก แต่บริษัทบุกตลาดแบบค่อยเป็นค่อยไป”

นอกจากนี้ “มาม่า” ยังเดินหน้าขยายธุรกิจร้านอาหาร หลังจากโมเดล “มาม่า สเตชั่น”(MAMA STATION)ได้ผลตอบรับดีในประเทศไทย ปัจจุบันร่วมมือกับพันธมิตรในสิงคโปร์เพื่อเปิดปิดร้านเป็นระยะ เช่น เปิดชั่วคราว 1-2 เดือน ปิดร้านแล้วกลับมาเปิดใหม่ รวมถึงร่วมมือกับ “ร้านอาหารฟาร์มเฮ้าส์” ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เปิดร้าน นำบะหมี่ฯมาม่า อุปกรณ์ตกแต่งร้านไปจัดแต่งเสริมภาพลักษณ์ สร้างการรับรู้แบรนด์ด้วย

ด้านภาพรวมตลาดบะหมี่ฯในประเทศ ปี 2567 คาดการณ์เติบโตไม่หวือหวา ตลาดเข้าสู่ภาวะปกติ จากปี 2566 มูลค่าตลาดบะหมี่ฯอยู่ที่ 23,500 ล้านบาท เติบโต 12% จากปัจจัยการปรับขึ้นราคา ทั้งนี้ “มาม่า” ยังเป็นผู้นำตลาดอย่างแข็งแกร่ง ครองส่วนแบ่ง 50% ตามด้วยไวไว 16% ยำยำ 16% และแบรนด์อื่นๆมีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 18% เช่น บะหมี่ฯญี่ปุ่นนิสชิน และบะหมี่ฯเกาหลี ซัมยัง

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนธุรกิจปี 2567 “มาม่า” ยังตั้งเป้ายอดขายเติบโต 4-5% จากปี 2566 คาดการณ์ยอดขายปิดที่ 17,000 ล้านบาท เติบโต 5% โดยสัดส่วนยอดขายในประเทศ 70% และต่างประเทศ 30% ขณะที่ภาพรวมรายได้บริษัทปีเกินกว่า 27,000 ล้านบาท ในปี 2565

“ปี 2567 ปัจจัยเสี่ยง ยังเป็นภาพรวมด้านเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก การเมืองและความขัดแย้งในเวทีโลก รวมถึงสถานการณ์ของบริษัทต่างๆที่ผิดนัดชำระเงินกู้ ซึ่งเป็นสิ่งอันตราย แม้จะไม่กระทบบริษัทก็ตาม แต่ทำให้การลงทุนต้องมีความระมัดระวัง อย่ารุกหนักในการลงทุนขยายกิจการต่างๆ โดยเฉพาะต้องกู้ยืมเพื่อการลงทุน ไม่ขยายการลงทุนจนเกินตัว อาจกระทบการก่อหนี้ในอนาคต แต่หากมีเงินพร้อมลงทุนย่อมสามารถขยับขยายกิจการได้ ปีนี้ภาคธุรกิจยังต้องคุมต้นทุนให้ดีด้วย”