‘มายด์แชร์’ เผยเทรนด์น่าจับตาปี 67 รู้ไว้ไม่ตกขบวนทำการตลาด

‘มายด์แชร์’ เผยเทรนด์น่าจับตาปี 67  รู้ไว้ไม่ตกขบวนทำการตลาด

“เทรนด์” เป็นแนวโน้มหรือสิ่งที่บรรดานักการตลาดได้ทำนายทายทักพฤติกรรมผู้บริโภค ความร้อนแรงที่จะเกิดขึ้นของผู้คนที่จะมีผลต่อการใช้สื่อ การซื้อสินค้า ซึ่งหากรู้ไว้ จะช่วยให้สามารถนำไปต่อยอด วางแผนกลยุทธ์การทำตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

พิทักษ์ อินทรทูต กรรมการผู้จัดการ มายด์แชร์ (ประเทศไทย) หยิบ 4 เทรนด์ที่จะมีบทบาทในปี 2567 ประกอบด้วย 1.พฤติกรรมผู้บริโภคในการค้นหาหรือ Search เกิดขึ้นทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม โดย Google ไม่ใช่เพียงแพลตฟอร์มเดียวที่ตอบโจทย์การค้นหาข้อมูลต่างๆบนโลกออนไลน์ แต่ปัจจุบันผู้คนใช้สื่อต่างๆ เพื่อค้นหาสิ่งที่ตนเองอยากรู้ โดยเฉพาะ 40% ของคนรุ่นใหม่ เจนเนอเรชันซี(Gen Z) ใช้ TikTok และ Instagram ในการค้นหา

การค้นหายังรวมไปถึงการชอปปิง เช่น ซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซอย่าง Lazada จะทำการค้นหาสินค้าที่อยากได้ จะเสพคอนเทนต์โปรด ทำการค้นหาบน Youtube ใช้ เป็นต้น ดังนั้น นักการตลาดจะสร้างสรรค์เนื้อหา ข้อมูล ฯ ป้อนอยู่แค่บน Google ช่องทางเดียวไม่พออีกต่อไป แต่ต้องผลิตสารตั้งต้นเหล่านั้นไปตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายทุกช่องทาง สร้างคำสำคัญเพื่อค้นหาบนสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

2.Privacy Marketing การทำตลาดที่ต้องคำนึงถึงข้อมูลส่วนบุคคล ความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทำให้องค์กรต่างๆ มีนักกฏหมายมาทำงานควบคู่ เพื่อควบคุมการทำตลาดที่ไม่ให้ส่งผลกระทบข้อมูลส่วนบุคคล มีความถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(พ.ร.บ.)หรือ PDPA การพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาใช้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ โดยเฉพาะเจน-เอไอ(Generative-AI) การเกิดขึ้นของ ChatGPT จะส่งผลกระทบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนา นักวิจัย ฯ

3.ความยั่งยืน และแบรนด์ต้องทำตลาดอย่างมีเป้าหมายหรือ Purpose-Driven Marketing ปัจจุบันแนวโน้มการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ Sustainability กลายเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคตระหนักมากขึ้น ใส่ใจและมองหาสินค้าที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และเจนซี ดังนั้น แบรนด์ต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกเชื่อ และรัก เพื่อเลือกซื้อสินค้าแบรนด์ต่างๆให้ได้

‘มายด์แชร์’ เผยเทรนด์น่าจับตาปี 67  รู้ไว้ไม่ตกขบวนทำการตลาด

“แบรนด์ต้องจริงจังว่าแบรนด์ทำอะไร เพื่ออะไรหรือมี Purpose ที่ชัดเจนในการทำตลาดเพื่อความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการสร้างสรรค์คอนเทนต์ การใช้สื่อด้วย ว่าใช้พลังงานแค่ไหน ช่วยลดคาร์บอนฟุตปรินท์ หรือตอบโจทย์การมุ่งสู่สังคม Net Zero ให้มากสุดอย่างไร ซึ่งอีกไม่นานจะเห็นการซื้อสื่ออย่างยั่งยืนด้วย”

4.พลังยิ่งใหญ่ของเอไอ ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง ประโยคนี้ไม่เกินจริงนัก เมื่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ นับวันจะทรงพลังมากยิ่งขึ้นในการทำตลาด ทำให้การกระตุกต่อความรับผิดชอบ มีธรรมาภิบาลต่างๆต้องมีมากขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ มายด์แชร์ มีการสำรวจทัศนคติของผู้บริโภคเกี่ยวกับเอไอ มีประเด็นน่าสนใจหลายประการ ดังนี้ 1.เทคโนโลยีเอไอมีประโยชน์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการทำตลาด แต่อีกด้านแบรนด์ควรทำให้เอไอมีความเป็นมิตร ใช้งานง่ายคล้ายๆมี purpose ผู้คนตื่นเต้นที่จะกับการมาของไอเอ เป็นต้น

ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่รู้สึก Burnout กับการมีสื่อออนไลน์เป็นตัวเลือกมากมายในชีวิต จึงอยากให้ชีวิตลดความยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่ต้องทำอะไรวุ่นวายไปมากกว่านี้ ดังนั้น 51% จึงอยากให้เอไอมาช่วยทำให้ลดกิจกรรมประจำวันง่ายๆ เพื่อให้มีเวลาอยู่หรือใช้กับครอบครัวมากขึ้น และ 46% มองว่าเอไอ ควรเข้ามาช่วยให้การตัดสินใจ นำเสนอสิ่งต่างๆให้ตรงใจมากยิ่งขึ้น ประเด็นดังกล่าว ยังทำให้ผู้บริโภคเริ่มกดยอมรับ Cookie นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อแบ่งปันข้อมูลของตนเองให้แบรนด์มากขึ้นด้วย

 2.การตอบสนองความต้องการเฉพาะคนหรือ Personalize เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่บางครั้งผู้บริโภคก็ต้องการประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายบ้าง อย่าง 57% ต้องการสินค้าตอบโจทย์ตัวเอง แต่ถ้าไปชอปปิงที่ร้าน ห้างค้าปลีก ก็ต้องการประสบการณ์ช้อปที่มีเทคโนโลยี หรือพนักงานมาดูแล แนะนำแบบส่วนตัว เช่น ไปร้านจำหน่ายเครื่องสำอางมีการแนะนำสินค้าตอบสนองเฉพาะผิว และ 41% เริ่มแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวให้แบรนด์ เพื่อจะได้ชอปปิงง่ายขึ้น แต่ขอโฆษณา การสื่อสารตลาดที่เชื่อมโยงกับตนเอง

“ผู้บริโภคอยากมีชีวิตที่ฉลาดขึ้นไม่ใช่ยากขึ้น อุปกรณ์ gadget ต่าง ๆ จึงเป็นที่ต้องการของตลาดเพื่อมาตอบโจทย์การทำให้ชีวิตง่ายขึ้น และผู้บริโภคยังต้องการมีประสบการณ์ที่คาดเดาไม่ได้และไม่คาดคิดเช่นกัน ไม่ได้อยากได้คำแนะนำจากเอไอตลอดเวลา เช่น การซื้อสินค้าบางอย่างอาจสิ้นสุดลงไปแล้ว เอไอ ยังนำเสนอสินค้าเดิมซ้ำๆ แต่อยากเจอของใหม่ที่ไม่คาดคิดบ้าง”

‘มายด์แชร์’ เผยเทรนด์น่าจับตาปี 67  รู้ไว้ไม่ตกขบวนทำการตลาด

3.ประสบการณ์พิเศษต้องมี และออมนิแชนแนลจะยิ่งสำคัญมากขึ้น เมื่อแพลตฟอร์มสื่อมีหลากหลาย ยิ่งชอปปิงค่ายนั้นค่ายนี้ ต้องเจอการส่งสินค้าแยกยิบย่อย ผู้บริโภคจึงอยากให้มัดรวมหรือซื้อสินค้าแล้วจบที่เจ้าเดียวหมดเลยยิ่งดี ตอนนี้ผู้บริโภคจึงคิดมากขึ้นในการชอปปิงโดย 52% เลือกช้อปกับเจ้าที่บริการครบจบที่เดียว 50% เลือกชอปปิงกับแบรนด์เฉพาะหรือ Niche มากขึ้น เพราะรู้สึกดี ดูแลดีกว่าใช้เจ้าใหญ๋ๆ เพราะไม่พิเศษ และ 63% รู้สึกแพลตฟอร์มเสพคอนเทนต์วิดีโอ หรือสตรีมมิ่งมากเหลือเกิน มารวมกันเพื่อตอบโจทย์คนดูไม่ได้เหรอ จะได้ไม่ต้องสมัคร สารพัดแพลตฟอร์ม

4.ผู้บริโภคอยากมีอำนาจมากกว่าเอไอ แม้เทคโนโลยีจะสร้างสรรค์มาเพื่อเสริมศักยภาพการใช้ชีวิต แต่ผู้คนกลับติดแหง็ก ถูกควบคุมโดยสิ่งเหล่านั้น เช่น โซเชียมีเดียไว้เชื่อมต่อระหว่างกัน กลับกลายเป็นเข้ามาควบคุมชีวิต ดึงเวลาชีวิตของแต่ละคนไปมากในแต่ละวันถึง 54% และอีกด้าน 50% หากขาดเทคโนโลยีคงอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะตอบสนองการส่งสินค้าจำเป็นประจำวัน เช่น น้ำดื่ม ข้าวสาร ฯ

5.ผู้บริโภคยังมองหาประสบการณ์พิเศษเฉพาะตัว แม้โลกเคลื่อนตัวสู่ออนไลน์ แต่การไปชอปปิงยังห้างร้านหรือ Physical stores ยังไม่หายไป ดังนั้น 72% เลยยังต้องการไปช้อปที่ห้างร้าน จับต้องลองสินค้าจริงอยู่ โดยเฉพะาสินค้าที่ต้องใช้เวลานานๆในการตัดสินใจ และ 69% ยังต้องการเอ็นเกจกับมนุษย์ แบรนด์ต้องหาจุดสมดุล และทางเลือกให้ลูกค้าจากเทคโนโลยีเอไอ และบริการแบบพิเศษเฉพาะตัว

อย่างไรก็ตาม มายด์แชร์มีทรรศนะต่อแบรนด์ต่าง ๆ ในการสร้างประสบการณ์ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอให้กับผู้บริโภคดังนี้ 1.หากแบรนด์พึ่งพาการตอบกลับแบบอัตโนมัติมากเกินไป และไม่เปิดโอกาสให้มีการโต้ตอบของมนุษย์ ลูกค้าอาจรู้สึกขาดการเชื่อมต่อจากแบรนด์ 2.แบรนด์จำเป็นต้องค้นหาสมดุลที่เหมาะสมโดยการบูรณาการระหว่างประสิทธิภาพและความเป็นส่วนตัวเข้ากับการตอบโต้จากพนักงานขายด้วย เพื่อเชื่อมโยงทางอารมณ์ของผู้บริโภคให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

3.เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมการตัดสินใจเกี่ยวกับประสบการณ์อัตโนมัติของตนโดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้ เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่ายังมีอำนาจในการตัดสินใจอยู่ และ4.เป้าหมายคือการสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ สร้างความไว้วางใจ และปรับให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า สร้างประสบการณ์รอบด้านที่นอกเหนือไปจากการโต้ตอบแบบอัตโนมัติ