ส่องแฟรนไชส์ไทยปี 67 ตลาดซึม ‘ไข่หวานบ้านซูชิ’ ปรับแผนเปิดสาขา-โมเดลใหม่

ส่องแฟรนไชส์ไทยปี 67 ตลาดซึม ‘ไข่หวานบ้านซูชิ’ ปรับแผนเปิดสาขา-โมเดลใหม่

สำรวจตลาดแฟรนไชส์ร้านอาหารปี 67 ไม่คึกคัก คนระมัดระวังลงทุน ตามเศรษฐกิจ ‘แบรนด์ไข่หวานบ้านซูชิ’ ปรับแผนเปิดแฟรนไชส์ใหม่ในปีนี้ใหม่อยู่ที่ 50 สาขา วางกลยุทธ์-เตรียมเปิดโมเดลใหม่ ให้ลูกค้าซื้อง่ายขายคล่องมากขึ้น มุ่งสู่ 'คิงออฟซูชิ' ของไทย

Key Points :

  • สำรวจตลาดร้านแฟรนไชส์ในประเทศไทยปี 2567 ยังไม่คึกคัก
  • เศรษฐกิจมีผลทำให้ลูกค้าตัดสินใจลงทุนที่ช้ามากขึ้น กังวลเรื่องกำลังซื้อ
  • ไข่หวานบ้านซูชิ วางกลยุทธ์ใหม่ ปรับแผนเปิดสาขา ขยายโมเดล 

จากการสำรวจของ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยในปี 2566 มีจำนวน 5,751 ร้าน เพิ่มขึ้น 426 ร้าน หรือเติบโต 8% จากปีก่อน ทั้งในตลาด กทม.และต่างจังหวัด โดยภาพรวมในประเทศไทยมีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นเป็นอันดับ 6 ของโลก 

หากประเมินตลาดอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีขนาดใหญ่ เป็นตลาดที่ขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ มีจากทุนญี่ปุ่น ทุนไทยรายใหญ่ แต่ท่ามกลางตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรง ยังมีผู้ประกอบการไทยกับ "ไข่หวานบ้านซูชิ" ได้วางปรับกลยุทธ์การแข่งขัน การออกสินค้าใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตในตลาดให้ได้อย่างยั่งยืน

 

“ไข่หวานบ้านซูชิ” แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นในกลุ่ม ซูชิ ขับเคลื่อนจากนักธุรกิจไทยรุ่นใหม่ โดย "อมรา ไทยรัตน์" สามารถนำธุรกิจเติบโตและกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ในการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางสมรภูมิร้านอาหารที่มีการแข่งขันรุนแรง และดุเดือดในทุกปี! 

อมรา ไทยรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไข่หวานบ้านซูชิ (ประเทศไทย) จำกัด สะท้อนภาพตลาดแฟรนไชส์ร้านอาหารในปี 2567 อยู่ในภาวะไม่คึกคักมากนัก ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศปีนี้ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และมีหลายหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม จึงส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าให้มีความระมัดระวังในการลงทุนใหม่มากขึ้น และใช้เวลาตัดสินใจที่ยาวนาน แตกต่างจากปีก่อนๆ 

ในเบื้องต้นแนวโน้มกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยช่วงไตรมาสแรก อยู่ในภาวะชะลอตัวเช่นกัน สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจ โดยแตกต่างจากในช่วงโควิดที่ลูกค้ายังมีการใช้จ่ายที่ดีอย่างสม่ำเสมอ สัญญาณดังกล่าว ทำให้ตลาดร้านอาหารโดยรวมยังไม่สดใสมากนัก ดังนั้นบริษัทจึงประเมินในเบื้องต้นปี 2567 จะมีการขยายแฟรนไชส์ร้านไข่หวานบ้านซูชิ รวมประมาณ 50 สาขา ลดลงจากปีก่อน ที่มีการเปิดสาขาใหม่รวม 100 สาขา

หากพิจารณสจากสัญญาณความไม่ชัดเจนหลายด้าน ทำให้บริษัทต้องวางกลยุทธ์ใหม่ โดยมีแผนเปิดตัว โมเดลสาขาในรูปแบบใหม่ เพื่อร่วมกระตุ้นตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น และทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกซื้อง่ายขายคล่องมากขึ้น รวมถึงโมเดล สาขาในแบบรถพ่วง จะรุกทำตลาดมากขึ้น เพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้าในการเข้าถึงสินค้าได้อย่างสะดวก

ส่วนระบบแฟรนไชส์ของบริษัท มีการวางมาตรฐานที่รัดกุม ทั้งการคัดเลือกผู้เข้าร่วมลงทุน การมีระบบเทรนนิ่ง และการติดตาม ระบบบริหารจัดการร้านของแฟรนไชส์ ลงทุนเริ่มต้น 6 แสนบาท และไม่มีการเก็บส่วนแบ่งกำไร หรือค่า GP เพิ่ม พร้อมมีซูชิให้ลูกค้าเลือกมากกว่า 70 เมนู นำเสนอด้วยซูชิหน้าใหญ่และไซส์แน่น ราคาถูกเริ่มต้นที่ 10 บาทต่อชิ้น ส่วนลูกค้ามีหลากหลาย ตั้งแต่กลุ่มคนทำงานไปจนถึงกลุ่มครอบครัว

“เศรษฐกิจมีผลทำให้ลูกค้าตัดสินใจชะลอการลงทุนออกไป และใช้เวลานานขึ้น เพราะมีความกังวลว่าลงทุนไปแล้วจะเกิดปัญหาตามมา”

หากสำรวจยอดขายของบริษัทในช่วงที่ผ่านมายังไม่ลดลง มาจากการปรับแผนธุรกิจในหลายด้าน และมีการเปิดตัว ผลิตภัณฑ์ ซอสโชยุ รสต้นตำรับญี่ปุ่น เป็นสูตรลับเฉพาะที่มีรสชาติที่แตกต่างจากโซยุทั่วไป ทำตลาดผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต ร่วมสร้างนิวเอสเคิร์ฟให้ธุรกิจร้านอาหาร 

อีกแนวทางได้มุ่งทำแผนการตลาดเชิงรุกผ่านทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อร่วมกระตุ้นให้กลุ่มลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการในแต่ละสาขาเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มความถี่ในแต่ละสาขา รวมถึงการมีฐานลูกค้าสมาชิก ที่เข้ามาใช้บริการเป็นประจำ 

ทั้งนี้ประเมินว่าในสิ้นปี 2567 จะมีสาขาเปิดให้บริการในประเทศไทยได้มากกว่า 300 สาขา พร้อสร้างผลประกอบการเติบโตที่ดี รวมถึงได้วางเป้าหมายสู่การเป็น “คิงออฟซูชิ” ”ของประเทศไทยในระยะยาว ภายใต้การมีสาขาในไทยให้ได้ 1,000 สาขา ผ่านการมีสินค้าที่มีคุณภาพ ควบคู่ด้วยการให้บริการ เป็นกลยุทธ์หลักในการแข่งขันของตลาดร้านอาหารไทย เพื่อวางสู่การเป็นองค์กร 100 ปีของประเทศไทยให้สำเร็จ