‘สุดาวรรณ’ ดัน ‘แหล่งน้ำพุร้อนไทย’ เทียบชั้น ‘เมืองออนเซ็น’ ของญี่ปุ่น

‘สุดาวรรณ’ ดัน ‘แหล่งน้ำพุร้อนไทย’ เทียบชั้น ‘เมืองออนเซ็น’ ของญี่ปุ่น

'กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา' ลุยยกระดับ 'แหล่งน้ำพุร้อน' ของประเทศไทยผงาดบนเวทีโลก! ให้เป็น 'สปาทาวน์' แบบยุโรป หรือ 'ออนเซ็นทาวน์' แบบญี่ปุ่น มุ่งสร้างแบรนด์สู่ตลาดสากล กระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง สร้างรายได้แก่คนท้องถิ่น

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้มอบหมายให้ “กรมการท่องเที่ยว” พัฒนา “แหล่งน้ำพุร้อน” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยตั้งเป้าหมายยกระดับแหล่งน้ำพุร้อนภายในประเทศไทยอย่างเร่งด่วน สู่ “สปาทาวน์” (Spa Town) แบบยุโรป หรือ “ออนเซ็นทาวน์” (Onsen Town) แบบญี่ปุ่น เพื่อให้ “เศรษฐกิจน้ำพุร้อน” (Hot Spring Economy) ของไทยที่มีศักยภาพสูง สามารถสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ “เมืองรอง” ที่รัฐบาลนี้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สามารถยกระดับเป็นเมืองหลักของการท่องเที่ยวให้ได้!

“การเริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจน้ำพุร้อนของประเทศไทยถือว่าพัฒนาหลังประเทศในยุโรป และญี่ปุ่นกว่า 1,000 ปี จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำโดยเร่งด่วน เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน”

การพัฒนาจะต้องเชื่อมโยงร้อยเรียงแหล่งน้ำพุร้อนในจังหวัดใกล้เคียงต่างๆ ทั้งระบบ เบื้องต้นมอบหมายให้กรมการท่องเที่ยวออกแบบเป็น 7 เส้นทางท่องเที่ยว “สายน้ำพุร้อน” หรือ “สายเวลเนส” (7 Hot Springs or Wellness Routes) เพื่อสร้างแบรนด์การตลาดสู่ตลาดสากล กระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง

พร้อมกันนี้จะต้องสร้างองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติที่มีมาตรฐานสากลสอดคล้องกับการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) นำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนธรรมชาติต่อไป การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถต่อยอดธุรกิจบริการสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำพุร้อนธรรมชาติ และการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ให้มีความรู้และทักษะในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สามารถพัฒนา ต่อยอด และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนได้

‘สุดาวรรณ’ ดัน ‘แหล่งน้ำพุร้อนไทย’ เทียบชั้น ‘เมืองออนเซ็น’ ของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำพุร้อนภายในประเทศจากกรมทรัพยากรธรณีและสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า “ประเทศไทยมีแหล่งน้ำพุร้อนจำนวน 118 แห่ง” โดยแหล่งน้ำพุร้อนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ 71 แห่ง รองลงมาเป็นภาคใต้ 32 แห่ง ภาคกลาง 12 แห่ง และภาคตะวันออก 2 แห่ง

‘สุดาวรรณ’ ดัน ‘แหล่งน้ำพุร้อนไทย’ เทียบชั้น ‘เมืองออนเซ็น’ ของญี่ปุ่น

สำหรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ มีทั้งการใช้ประโยชน์เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะ (แหล่งน้ำสาธารณะ) ของชุมชนหรือเมือง และการใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว นอกจากนี้ในแหล่งน้ำพุร้อนหลายๆ แห่ง ยังไม่มีการใช้ประโยชน์เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติสูงหรืออยู่ในพื้นที่ชนบทที่มีการเข้าถึงยาก ส่วนแหล่งน้ำพุร้อนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองนั้น ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งแช่และอาบน้ำพุร้อนของเมือง รวมทั้งพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือน

‘สุดาวรรณ’ ดัน ‘แหล่งน้ำพุร้อนไทย’ เทียบชั้น ‘เมืองออนเซ็น’ ของญี่ปุ่น

‘สุดาวรรณ’ ดัน ‘แหล่งน้ำพุร้อนไทย’ เทียบชั้น ‘เมืองออนเซ็น’ ของญี่ปุ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทาง “สโมสรน้ำพุร้อนไทย” ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้เคยเสนอของบประมาณพิเศษจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 270 ล้านบาท และได้เสนอให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นเจ้าภาพดำเนินการโครงการนำร่อง เพื่อตั้งเป้าให้แหล่งน้ำพุร้อนในไทยสามารถเปิดใช้บริการได้ภายในปี 2568

โดยสโมสรน้ำพุร้อนไทย ได้เสนอแผนงานการศึกษาความเป็นไปได้ ในการออกแบบและก่อสร้างพัฒนาน้ำพุร้อนทั้ง 16 แห่ง ใน “5 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน” ประกอบด้วย 1.ระนอง จำนวน 5 แห่ง ใช้งบ 75 ล้านบาท 2.พังงา จำนวน 2 แห่ง ใช้งบ 30 ล้านบาท 3.กระบี่ จำนวน 7 แห่ง ใช้งบ 105 ล้านบาท 4.ตรัง จำนวน 1 แห่ง ใช้งบ 30 ล้านบาท และ 5.สตูล จำนวน 1 แห่ง ใช้งบ 30 ล้านบาท    

วัตถุประสงค์ของแผนงานดังกล่าวคือ เพื่อยกระดับการให้บริการจากระดับผู้ใช้งานท้องถิ่น (Local Users) ในปัจจุบัน สู่ระดับบริการอาบน้ำพุร้อนสาธารณะมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสากล (International Standard Public Bath) และเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การสร้างและกระจายรายได้ในแหล่งท่องเที่ยว การยกระดับคุณภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวภายใต้แบรนด์ Andaman Wellness Corridor”

‘สุดาวรรณ’ ดัน ‘แหล่งน้ำพุร้อนไทย’ เทียบชั้น ‘เมืองออนเซ็น’ ของญี่ปุ่น

สำหรับตัวอย่างโอกาสและประโยชน์ของการพัฒนาน้ำพุร้อน สู่ระดับบริการอาบน้ำพุร้อน (Public Bath) และจุดหมายปลายทางด้านสปาน้ำพุร้อน (Hot Spring Spa Destination) จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการอาบน้ำพุร้อนที่ยกระดับมาตรฐานความสะอาดและความสะดวก ที่ยังไม่ถึงระดับบริการอาบน้ำพุร้อนแบบสาธารณะมาตรฐานได้ประมาณ 10 เท่า จากเก็บค่าบริการเข้าพื้นที่ 20 บาท เป็น 200 บาท ทำให้ อบต.คลองท่อมเหนือ จ.กระบี่ ที่กำกับดูแลน้ำตกร้อน และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาประ-บางครามที่ดูแลสระมรกต มีนักท่องเที่ยวไปเยือนวันละ 500-1,000 คน มีรายได้จากการเก็บค่าเข้าพื้นที่คนละ 200 บาท มีรายได้ 50,000 - 200,000 บาทต่อวัน หรือคิดเป็น 18-72 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ หากสามารถพัฒนายกระดับสู่ Hot Spring Spa Destination” มีนักท่องเที่ยวอยู่พักค้างคืนในพื้นที่แหล่งสปาน้ำพุร้อนหรือในอำเภอ สามารถเพิ่มรายได้เป็น 100-200 เท่า จากเดิมที่เก็บ 5-20 บาทจากระดับผู้ใช้ท้องถิ่น (Local User) ตามจำนวนค่าใช้จ่ายต่อวัน คำนวณรวมที่พัก อาหาร ของฝาก และการเดินทางท่องเที่ยว สำหรับนักท่องเที่ยวไทยอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อวัน ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาทต่อวัน