ค้าปลีกห่วงกำลังซื้อซึมต่อเนื่อง ตลาด 4.4 ล้านล้านบาท ยังโตต่ำ 3-5%

ค้าปลีกห่วงกำลังซื้อซึมต่อเนื่อง ตลาด 4.4 ล้านล้านบาท ยังโตต่ำ 3-5%

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้ค้าปลีกและบริการปี 67 มูลค่า 4.4 ล้านล้าน โต 3-5 % ธุรกิจแบบมีหน้าร้านมีมูลค่าเท่าก่อนโควิด ส่วนแบบไม่มีหน้าร้านโตต่อเนื่อง ส่วนดัชนีค้าปลีก ธ.ค. 66 โตน้อย เสนอรัฐกระตุ้น ออกมาตรการสินเชื่อเอสเอ็มอี เร่งท่องเที่ยว ปฏิรูปมาตรการป้องสินค้าข้ามแดน

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานผลการสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีกเดือนธ.ค. 2566 เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.2566 ปรับเพิ่มขึ้น 9.5 จุด แต่ไม่เต็มสูบ เป็นการเพิ่มขึ้นจากการโหมโปรโมชั่นส่งเสริมการขายของร้านค้าในช่วงเฉลิมฉลองปลายปี โดยมีปัจจัยฉุดยังคงเป็นปัจจัยเดิมที่รอการเยียวยา อาทิ กำลังซื้อซบเซา การติดหล่มของหนี้ครัวเรือน ราคาพลังงานและสาธารณูปโภคที่อยู่ในระดับสูง 

พร้อมประเมินภาพรวมตลาดค้าปลีกปี 2567 มูลค่า 4.4 ล้านล้านบาท มีการขยายตัว 3-5% 

 

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ทิศทางภาพรวมธุรกิจค้าปลีกและบริการในปี 2567 สมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านบาท เติบโตประมาณ 3-5 % เมื่อเทียบกับ จีดีพี (GDP) ของประเทศไทยในปี 2567 คาดจะเติบโต 3.5 – 4.4 % สำหรับกลุ่มธุรกิจแบบมีหน้าร้าน (Store-based retailing) จะกลับมามีมูลค่าเท่าก่อนช่วงโควิด-19 ส่วนแบบไม่มีหน้าร้าน (Non-store retailing) เช่น การขายผ่านออนไลน์ (E-commerce), การขายผ่านตู้อัตโนมัติ (Vending Machine) ฯลฯ มีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยขอเสนอแนะ แนวทางเพื่อการกระตุ้นภาพรวมค้าปลีกและบริการต่อภาครัฐทั้ง

1. ลดความเลื่อมล้ำและสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในการเข้าถึงสินเชื่อเอสเอ็มอี

  • เปิดตลาดภาคการเงินเสรีให้มีสถาบันการเงินใหม่ เข้าสู่ระบบเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านดอกเบี้ย
  • เปิดเผยเชื่อมโยงข้อมูลทางการการเงินที่โปร่งใสเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้บริการทางการเงินและผู้ขอสินเชื่อ รวมทั้งใช้ระบบ Risk based management วัดระดับความเสี่ยงของการอนุมัติการขอสินเชื่อ
  • เร่งจัดหากองทุน Soft loan ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับเอสเอ็มอีในเงื่อนไขไม่ซับซ้อนเข้าถึงง่ายเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัวทางการเงิน

 

 

2. อนุมัติเพิ่มการจ้างงานรูปแบบใหม่ ได้แก่ การจ้างงานอิสระ การจ้างงานประจำรายชั่วโมง โดยกำหนดค่าจ้างตามระดับคุณวุฒิวิชาชีพตามมาตรฐานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพิ่มเติมจากการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคปลีกและบริการ อีกทั้งควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงาน Upskill  และ Reskill ควบคู่ไปด้วย

3. ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยมีเงื่อนไขที่ชัดเจนครอบคลุมทุกกลุ่ม ด้วยการจัดแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยว ชูจุดเด่นซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้ตามภูมิภาคต่างๆ

4. สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ด้วยมาตรการป้องกันสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน โดยเฉพาะการจำหน่ายบนอีคอมเมิร์ซ เพื่อไม่ให้กระทบกับโครงสร้างราคาสินค้าเอสเอ็มอีของไทย

  • กำหนดให้มีการจดทะเบียนบริษัทอย่างถูกต้องและมีนโยบายที่ชัดเจนด้านสินค้าและการบริการ เช่น สินค้าปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงสินค้าที่ไม่ถูกต้องตามศีลธรรม
  • ปรับรูปแบบการเก็บภาษีออนไลน์เป็นข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง (Transaction-based) โดยแพลตฟอร์มออนไลน์ควรต้องเป็นผู้เก็บภาษีทุกครั้งที่มีการซื้อขาย
  • เพิ่มมาตรการเก็บภาษีสินค้า Grey Market ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี รวมทั้งเกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้าของผู้ประกอบการในประเทศ

ชี้ดอกเบี้ยขาขึ้น ธุรกิจกระทบ 68%

ทั้งนี้มีบทสรุประเด็นเกี่ยวกับ “อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและการขอสินเชื่อ”  ของผู้ประกอบการที่สำรวจระหว่างวันที่ 18-25 ธ.ค. 66 ดังนี้

1. ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

  • 68% ธุรกิจได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น 63% ภาระหนี้เพิ่มขึ้นแต่ยังสามารถชำระได้ตามปกติ แม้ว่าภาระหนี้ที่มีอยู่จะเพิ่มขึ้น และอีก 5% อาจผิดนัดชำระหนี้, ขอปรับโครงสร้างหนี้, ขอยืดเวลาชำระหนี้
  •  32% ธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

2. อุปสรรคในการขอสินเชื่อจากสถาบันทางการเงิน

  • 45% ธุรกิจต้องเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันทางการเงินมากขึ้น แบ่งเป็น 36% สถาบันทางการเงินใช้เวลาพิจารณาสินเชื่อนานขึ้นและปรับ Margin อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น, 6% ได้วงเงินสินเชื่อลดลง, 3% ปรับเงื่อนไขการกู้เข้มงวดมากขึ้น
  • 55% ธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบในการเข้าถึงสินเชื่อ

ส่องดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาสแรกโตน้อย 

สำหรับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ (Retail Sentiment Index – RSI) ในเดือน ธ.ค. 2566 เพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบและทุกภูมิภาค จากการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายของร้านค้าและบรรยากาศส่งท้ายปลายปีที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคให้คึกคักในระดับหนึ่ง โดยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ขณะที่ไตรมาสแรกปี 67 ปรับเพิ่มขึ้นแต่ไม่มาก จากอานิสงส์มาตรการ Easy E-Receipt และแคมเปญการตลาดช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยเมื่อพิจารณา ภาพรวมตลอดปี 2566 ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ พบว่า เป็นการฟื้นตัวแบบไม่สมดุลในลักษณะ K-Shaped

ทั้งนี้กลุ่มที่ฟื้นตัว ได้แก่ กลุ่มห้างสรรพสินค้า-แฟชั่นความงาม-ไลฟ์สไตล์ ร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ต และอีกส่วนหนึ่งยังไม่ฟื้นตัว คือ กลุ่มค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) และกลุ่มค้าส่ง-ค้าปลีกภูธร (Local Modern Store) ด้านกลุ่มที่ทรงตัวเป็นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง-ตกแต่งและซ่อมบำรุง, สมาร์ทโฟน และไอที ส่วนเมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่าเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ดี ส่วนภูมิภาคอื่นๆยังชะลอตัว ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ซึมยาวสะท้อนถึงกำลังซื้อยังคงอ่อนแอ

"ภาพรวมค้าปลีกและบริการในปี 67 โดยเฉพาะครึ่งปีหลังจะเริ่มส่งสัญญาณบวกแต่ยังต้องอาศัยแรงหนุนจากภาครัฐในการผลักดันโครงการและมาตรการต่างๆในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจน มุ่งเป้าตรงจุด เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ในระยะยาวอย่างมีศักยภาพ โดยสมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและยินดีสนับสนุนภาครัฐอย่างเต็มกำลัง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอนาคตค้าปลีกและบริการยุคใหม่ของไทยให้กลับมาเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน"

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก ระยะ 3 เดือนจากนี้ (ม.ค.-มี.ค.67) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.3 จุด ซึ่งเป็นผลจากมาตรการ Easy E-Receipt และเทศกาลตรุษจีน แต่ภาพรวมยังคงโตน้อย มาจากความไม่ชัดเจนในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐโดยเฉพาะดิจิทัลวอลเล็ต, การอนุมัติงบประมาณประจำปี 2567 ที่อาจล่าช้า ส่งผลให้หลายโครงการของภาครัฐ เช่น ภาคท่องเที่ยว อาจต้องชะลอหรือเลื่อนการดำเนินงานออกไป

 

ค้าปลีกห่วงกำลังซื้อซึมต่อเนื่อง ตลาด 4.4 ล้านล้านบาท ยังโตต่ำ 3-5%