มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณาในสินค้าทั่วไป | สุพัทธ์รดา เปล่งแสง

มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณาในสินค้าทั่วไป | สุพัทธ์รดา เปล่งแสง

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว การโฆษณาสินค้าและบริการต่างๆ เข้าถึงผู้บริโภคผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ ป้ายหรือสื่อสังคมออนไลน์ เพราะผู้ประกอบธุรกิจต่างใช้กลยุทธ์การโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขาย เชิญชวนหรือชักจูงใจผู้ซื้อผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบธุรกิจบางรายมีการใช้ข้อความในการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรืออาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม เช่น ใช้ข้อความเป็นเท็จหรือเกินความจริง ย่อมส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายต่อผู้บริโภค

ปัจจุบัน การคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา นอกจากมาตรการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 แล้วยังมีการควบคุมตามกฎหมายอื่นอีกด้วย เช่น พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติสมุนไพร พ.ศ.2562 

ดังนั้น กรณีการโฆษณาอาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยา อาหารเสริม ยาสมุนไพร เครื่องสำอางหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะ

ในที่นี้จะกล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณาในสินค้าทั่วไป ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 โดยมุ่งเน้นที่กฎหมายลำดับรองฉบับล่าสุดคือ

“ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา เรื่อง แนวทางการใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์ และแนวทางการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงเกี่ยวกับข้อความโฆษณา พ.ศ.2565” (ประกาศฯ) มีสาระสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาต้องปฏิบัติ ดังนี้

1) การใช้ข้อความโฆษณาไม่ว่าผ่านสื่อโฆษณาใด จะต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็น ฟัง หรืออ่านได้ชัดเจน ถ้าข้อความโฆษณาทำเป็นภาษาต่างประเทศต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับข้อความที่เป็นสาระสำคัญด้วย 

2) ในการโฆษณาสินค้าหรือบริการ ต้องยึดถือความเข้าใจของผู้บริโภคเป็นสำคัญ เช่น โฆษณาให้บริการฟรี ผู้บริโภคย่อมเข้าใจว่าการให้บริการนั้นไม่เสียค่าตอบแทน แต่หากการให้บริการฟรีดังกล่าวต้องกระทำภายใต้หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขใด ก็จะต้องระบุหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขนั้นให้ครบถ้วน

3) โฆษณาที่แสดงปริมาณ ปริมาตร ขนาด จำนวน ส่วนประกอบของสินค้าหรือบริการ ต้องโฆษณาให้ตรงกับสินค้าหรือบริการที่ขายหรือให้บริการจริง 

4) กรณีอ้างอิงผลการทดสอบหรือทดลองภายใต้สภาวะแวดล้อมหรือเงื่อนไขเฉพาะ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น สภาพพื้นที่ ต้องระบุไว้ในโฆษณาด้วยตัวอักษรให้เห็นและอ่านได้ชัดเจน ว่าเป็นผลการทดสอบหรือทดลองของสถาบัน หน่วยงานหรือองค์กรใด สภาวะแวดล้อมหรือเงื่อนไขเฉพาะ

5) ไม่ควรใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิด หรือข้อความที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาสามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า หรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายทำนองเดียวกันที่ทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ 

ตัวอย่างข้อความโฆษณาที่อาจเข้าข่ายเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เช่น บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาและเงื่อนไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า

6) ไม่ควรใช้ข้อความโฆษณาที่อาศัยความเชื่อส่วนบุคคล หรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน เป็นสิ่งเชิญชวนหรือชักจูงใจ ให้ผู้บริโภคที่กำลังมีความทุกข์หรือต้องการที่พึ่งทางใจซื้อสินค้าหรือรับบริการ เช่น เมื่อใช้แล้วจะเห็นผลทันที เห็นผลภายใน 7 วัน-รับแก้เคราะห์ แก้กรรม-เสริมบารมี เพิ่มยอดขาย เพิ่มเสน่ห์

7) ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการรับประกันสินค้าหรือบริการ ต้องระบุตัวผู้รับประกัน ระยะเวลาการรับประกัน วิธีการและเงื่อนไขของการปฏิบัติตามสัญญาของการรับประกันให้ชัดเจนและถูกต้องครบถ้วน เพื่อแสดงถึงเจตนาความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจ และมิให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ 

ตัวอย่างข้อความโฆษณาที่อาจเข้าข่ายเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรม เช่น ปลอดภัย หายห่วง ไม่ถูกใจยินดีคืนเงิน ไม่เห็นผลยินดีคืนเงิน รับประกันความพึงพอใจ

8) ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงเปรียบเทียบคุณสมบัติสินค้า หรือบริการของตนกับสินค้าหรือบริการอื่นๆ ในประเภทเดียวกัน หรือข้อความอ้างอิงข้อเท็จจริงจากรายงานทางวิชาการ ผลการวิจัย สถิติ การรับรองของสถาบันหรือบุคคลอื่นใด หรือยืนยันข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดในการโฆษณา ตลอดจนรางวัลต่างๆ 

เช่น ที่สุด ดีที่สุด สูงสุด ยอดเยี่ยม - ที่หนึ่ง หนึ่งเดียว รายเดียว รายแรก เจ้าแรก แห่งเดียว ครั้งแรก มีเพียงที่เดียวในประเทศ - ยอดขายอันดับ 1 ยอดขายอันดับต้นๆ จากประเทศ... เห็นผล 100%

กรณีนี้ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาต้องมีหน้าที่พิสูจน์เอกสารหลักฐานหรือข้อมูลยืนยันได้ในขณะที่โฆษณา โดยมีหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่ประกาศฯ กำหนด

ถ้าผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาไม่สามารถพิสูจน์ข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการเพื่อแสดงความจริงได้ หรือดำเนินการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ฝ่าฝืนจากประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาฉบับนี้ ให้ถือว่าอาจเป็นข้อความโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ต้องระวางโทษทั้งจำและปรับตามที่กฎหมายกำหนด

ประกาศฯ ฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อให้การโฆษณาสินค้าหรือบริการมีความชัดเจน ถูกต้องเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ประกอบกับเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณา 

ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าหากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณา ผลิตหรือโฆษณาสินค้าหรือบริการเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ผู้บริโภคก็จะเกิดความเชื่อมั่นและเกิดความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการนั้นในระยะยาว อันจะส่งผลดีต่อธุรกิจทั้งในแง่ภาพลักษณ์และผลกำไร