แนะรัฐเร่งโรดแมปฟื้นศก. ระยะยาวมุ่งท่องเที่ยว เมืองรอง-FDI-ซอฟต์พาวเวอร์

แนะรัฐเร่งโรดแมปฟื้นศก. ระยะยาวมุ่งท่องเที่ยว เมืองรอง-FDI-ซอฟต์พาวเวอร์

ก้าวสู่ปี 2567 ท่ามกลางความท้าทายหลายมิติ ภาคธุรกิจต้องเผชิญโลกแห่งความซับซ้อนและผันผวนสูง! ความเสี่ยง และ โอกาส เกิดขึ้นพร้อมกัน ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมค้าปลีกไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฉายภาพกับ 'กรุงเทพธุรกิจ'

ถึงสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเศรษฐกิจ ที่จะมีผลต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกและการขับเคลื่อนธุรกิจแห่งอนาคต

ญนน์ ย้อนภาพรวมค้าปลีกปี 2566 ที่ผ่านมา ถือว่ายังเติบโตได้ไม่มากนัก ด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เติบโตเพียง 2.9% เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่เติบโต 2.4% เท่านั้น ยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับก่อนช่วงโควิด-19 ได้ 

สะท้อนให้เห็นว่า ทุกๆ วิกฤติที่เกิดขึ้น เศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาเรื่องโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน!

 

"เซ็นทรัล รีเทล ลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ผนึกพันธมิตร และ M&A มุ่งองค์กรค้าปลีกค้าส่งต้นแบบ ด้านความยั่งยืนแห่งเอเชีย"

 

โดยเฉพาะโครงสร้างประชากรไทย ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ อัตราการตายมากกว่าการเกิด  คนในวัยแรงงานลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ  ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในอีก 60 ปีข้างหน้า อาจจะเหลือประชากรไทยแค่เพียง “ครึ่งเดียว” สิ่งนี้ถือเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติที่อาจเป็น “หลุมดำ” ฉุดการเติบโตของประเทศได้ 

ภาครัฐจึงควรต้องส่งเสริมเรื่องการขยายครอบครัวอย่างจริงจัง และพัฒนาประชากรให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการเพิ่ม Productivity ให้กับแรงงานปัจจุบัน Upskill Reskill และใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมการทำงานให้มากที่สุด พร้อมทั้งดึงดูด Talent ต่างชาติที่มีศักยภาพ และความเชี่ยวชาญที่ประเทศไทยยังขาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้สูงสุด

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าปีก่อน GDP น่าจะเติบโตเกิน 3% โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงหลักๆ ในครึ่งปีแรก และครึ่งปีหลัง 

“เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก คาดว่าสถานการณ์จะยังนิ่ง และเผชิญความท้าทาย ‘3 สูง’ ที่ต่อเนื่องมาหลายปี นั่นคือ อัตราดอกเบี้ยสูง ต้นทุนเชื้อเพลิงสูง และหนี้ครัวเรือนสูง ที่ยิ่งขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำ” 

นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกประเทศที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกยิ่งชะลอตัว มีทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ยังคงขยายวงกว้าง ไม่เห็นจุดจบ และสร้างผลกระทบต่อเนื่องอีกมาก รวมถึงสถานการณ์การเลือกตั้งของหลายๆ ประเทศที่อาจสร้างความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด 

อย่างไรก็ตาม ยังมี “ปัจจัยบวก” จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ด้วยนโยบายลดหย่อนภาษี Easy e-Receipt ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ถือเป็น “ยาแรง” ที่ช่วยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคค้าปลีกและบริการที่ได้รับอานิสงส์โดยตรง

ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้เห็น “ความหวังใหม่” (New Hope) จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การที่รัฐบาลให้ฟรีวีซ่าและยกเลิกวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวในบางประเทศ รวมถึงมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต ที่ดูเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และหวังว่าจะเกิดขึ้นได้ตามเป้าหมาย  ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้ให้เข้าถึงทุกพื้นที่ เพิ่มกำลังซื้อผู้บริโภค และช่วยส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการทุกระดับ 

รวมถึง การอนุมัติงบประมาณของภาครัฐที่ล่าช้ามาจากปีก่อน และการลงทุนเพิ่มของภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยตรง และมีส่วนช่วยเพิ่มการจ้างงาน  ทั้งยังได้อานิสงส์จากการที่นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” เดินทาง “โรดโชว์” ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นและเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม โครงการต่างๆ ที่ภาครัฐได้ประกาศออกมานั้นอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ในระยะสั้น ญนน์ ย้ำว่า  อยากให้ภาครัฐโฟกัสกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวตามที่ได้วางแผนไว้ และทำให้เกิดขึ้นได้จริง ใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. เร่งเครื่องการท่องเที่ยว ทั้งการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้อยู่ยาวขึ้น และกระตุ้นให้ยอดการใช้จ่าย (Spending) ของนักท่องเที่ยวต่อหัวเพิ่มขึ้นด้วย 2. ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของไทย ทั้งในเรื่องวัฒนธรรม ศิลปะ อาหาร และความบันเทิง เพื่อเพิ่มมูลค่าและผลักดันให้กลายเป็นจุดขายของไทยในเวทีโลก 3. โฟกัสการสร้างเมืองรอง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นการช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

4. กระตุ้นเรื่อง FDI และ Ease of Doing Business เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทย ทำให้ไทยเป็นฮับการผลิต และเกิดการจ้างงานมากยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากโรดแมปดังกล่าว สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มใน 2 เรื่องหลัก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยและผู้ประกอบการไทยในระยะยาว เรื่องแรก การสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยต้องเร่งแก้ปัญหาโครงสร้างราคาสินค้าของแบรนด์เอสเอ็มอีไทยที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนและทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ เรื่องที่สอง ลดภาษีนำเข้าสินค้า จากสัญญาณบวก การยกเว้นภาษีศุลกากรสินค้าไวน์ที่เริ่มไปก่อนหน้านี้ จึงควรพิจารณาปรับลดภาษีสินค้าไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) ด้วยเช่นกัน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสวรรค์แห่งชอปปิง หรือ Shopping Paradise ของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง

ในส่วนของ “เซ็นทรัล รีเทล” การขับเคลื่อนธุรกิจท่ามกลางความท้าทายต่างๆ นั้น 

“เรายังคงยึดมั่นการเป็นองค์กร Resilience ที่พร้อมปรับตัว ยืดหยุ่น และดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพื่อพร้อมรับทุกโอกาสและความเสี่ยง”

เซ็นทรัล รีเทล พร้อมเดินหน้าต่อยอดความหลากหลายของพอร์ตโฟลิโอที่เป็นแบบ Multi-Format, Multi-Category และ Multi-Market ในไทย เวียดนาม และอิตาลี  ซึ่งครอบคลุม Wallet Share ของลูกค้ามากกว่า 70% ผนวกเข้ากับจุดแข็ง คนที่มี Expertise ในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ทำให้องค์กร มีความ Lean และยืดหยุ่นสูง สามารถเดินหน้าขยายธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งธุรกิจหลักที่เป็น Strategic Core อาทิ การพัฒนาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล แฟลกชิปสโตร์ สาขาชิดลม สู่ “The New Luxury Landmark” แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ “ไทวัสดุ” ขยายสาขาอย่างต่อเนื่องจากปิดปี 2566 ด้วยการเปิดถึง 14 สาขาภายใน 12 เดือน  

สำหรับ “ห้างสรรพสินค้ารีนาเชนเต” ในประเทศอิตาลี จะถูกต่อยอดความสำเร็จและปรับปรุงพัฒนาสาขาต่อไป หลังสร้างยอดขายนิวไฮทะลุ 1,000 ล้านยูโร! เช่นเดียวกับธุรกิจในเวียดนามที่มุ่งขยายสาขา GO! Hypermarket ศูนย์การค้า GO! และซูเปอร์มาร์เก็ต go! (มินิ โก) อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายกลุ่ม Food ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ด้านธุรกิจน้องใหม่ โก โฮลเซลล์ (GO Wholesale) ที่เปิดตัวเมื่อปลายปี 2566 ได้การตอบรับที่ดีเกินคาดในฐานะ “Fresh Destination” และ “New Choice For All” ซึ่งจะเดินหน้าขยายสาขาต่อไป มีกำหนดเปิดสาขาที่ 5 ภายในเดือน ม.ค.นี้ 

“เซ็นทรัล รีเทล” ยังคงมุ่งลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ และไม่หยุดที่จะมองหาพันธมิตร เดินหน้ายุทธศาสตร์ ซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) เพื่อต่อยอด Ecosystem ขององค์กรให้สมบูรณ์แบบ สำคัญที่สุด เซ็นทรัล รีเทล ยังคงยึดมั่นในการเป็น “Green & Sustainable Retail” องค์กรค้าปลีกค้าส่งต้นแบบด้านความยั่งยืนแห่งเอเชีย ที่พร้อมสร้างการเติบโตให้กับทุก Stakeholders เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข Climate Crisis ของโลก มุ่งสู่การเป็นองค์กร Net Zero ในปี 2593

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และ เซ็นทรัล รีเทล  มั่นใจในศักยภาพของประเทศไทย และเชื่อว่าเศรษฐกิจในปี 2567 จะต้องฟื้นตัวกว่าปีก่อนอย่างแน่นอน "เราเห็นความตั้งใจของรัฐบาลที่มุ่งมั่นแก้ปัญหาเศรษฐกิจในช่วง 4 ปีนี้ เราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนภาครัฐทุกมิติ เพื่อร่วมกันพลิกฟื้นประเทศไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่ออย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน"