ยักษ์ค้าปลีกลุย มิกซ์ยูส-ไฮบริด สะพัด 3 แสนล้าน แจ้งเกิดย่านการค้าใหม่

ยักษ์ค้าปลีกลุย มิกซ์ยูส-ไฮบริด สะพัด 3 แสนล้าน แจ้งเกิดย่านการค้าใหม่

'บิ๊กคอร์ปค้าปลีก' ตระกูลเจ้าสัวใหญ่แห่งเมืองไทย สวนกระแสเศรษฐกิจซึม เร่งเมกะโปรเจกต์มิกซ์ยูสทยอยเปิด 3 ปีข้างหน้า แจ้งเกิดย่านการค้าใหม่คึก รับดีมานด์ต่างชาติ ทั้งนักท่องเที่ยว นักลงทุน เซ็นทรัลพัฒนา มั่นใจไทยเดินหน้าตามแผน 5 ปี ทุ่ม 1.35 แสนล้าน บุกหนัก “เมืองรอง”

เครือซีพี งัดโมเดลไฮบริด “แม็คโคร-โลตัส” รับการแข่งขัน กลุ่มทีซีซี ดีเดย์ “วัน แบงค็อก” เฟสแรกปลายปีนี้  “เดอะมอลล์” ลุย แบงค็อกมอลล์ ใหญ่สุดในภูมิภาค เปิดเฟสแรกปลายปี 69  ดันพื้นที่รีเทลปี 70 แตะ 37 ล้านตารางเมตร

ภาวะเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกที่ยังคงชะลอตัว และเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้ภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อย “Wait&See” รอจังหวะที่เอื้ออำนวย สวนทาง “กลุ่มธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่” ในแทบทุกยุคสมัยภายใต้วิกฤติการณ์ต่างมองเป็น “โอกาสสำคัญ" ในการเดินหน้าลงทุน ขยายเครือข่ายอาณาจักรเพื่อช่วงชิง “ทำเลงาม” สร้างแต้มต่อและความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ทั้งรองรับกำลังซื้อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมาเยือนเมืองไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นขุมทรัพย์ของธุรกิจไทยร่วมพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับสู่ขาขึ้นในเร็ววัน   

โดยช่วง 3 ปีข้างหน้า แลนด์สเคปค้าปลีก น่าสนใจว่าจะได้เห็นปรากฏการณ์ “เมกะมิกซ์ยูสโปรเจกต์” ของบรรดาบิ๊กคอร์ป แห่งตระกูลเจ้าสัวเมืองไทยในหลายพื้นที่การค้า ทยอยเปิดบริการเฟสแรก ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 นี้เป็นต้นไป  

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยในรูปแบบ Retail-led mixed use ได้แก่ ธุรกิจศูนย์การค้าเซ็นทรัล ที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรมทั่วประเทศ กล่าวว่า เซ็นทรัลพัฒนามุ่งขยายการลงทุนตามแผน 5 ปี (2566-2570) มูลค่า 135,000 ล้านบาท ที่จะมีการเปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฉลี่ย 3 สาขาต่อปี ภายใต้ยุทธศาสตร์มุ่งโครงการขนาดใหญ่ หรือ มิกซ์ยูสโปรเจกต์ 

ยักษ์ค้าปลีกลุย มิกซ์ยูส-ไฮบริด สะพัด 3 แสนล้าน แจ้งเกิดย่านการค้าใหม่

โดยปี 2567 จะทยอยเปิดบริการ 4 โครงการหลัก ได้แก่ เซ็นทรัล นครสวรรค์ วันที่ 31 ม.ค. ลงทุนกว่า 4,500 ล้านบาท เซ็นทรัล นครปฐม ลงทุน 3,800 ล้านบาท โรงแรมเซ็นทาราวัน ระยอง ส่วน เซ็นทรัล กระบี่ ลงทุน 2,300 ล้านบาท คาดเปิดบริการปี 2568 จะเห็นว่าการขยายสาขาของศูนย์การค้าเซ็นทรัลมุ่ง “เมืองรอง” มากขึ้น เพื่อปักหมุดการเป็นศูนย์กลางแห่งชีวิต หรือ  Central of Life พัฒนาย่านการค้าสู่แลนด์มาร์กใหม่ที่โดดเด่นสร้างความครบวงจรในอีโคซิสเต็มทั้งภาคค้าปลีก ท่องเที่ยว และบริการ ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม

ชูเซ็นทรัลพาร์ค เดอะ นิวลักชัวรี

ก่อนหน้านี้ นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวถึงเป้าหมายภายในปี 2570 เซ็นทรัลพัฒนา จะมีอาณาจักรศูนย์การค้า 50 โครงการ คอมมูนิตี้มอลล์ 17 โครงการ ที่อยู่อาศัย 90 โครงการ โรงแรม 37 โครงการ อาคารสำนักงาน 13 แห่ง และ Flex Office 4 โครงการ 

โดยมี “มิกซ์ยูสขนาดใหญ่” 5 โครงการทยอยเปิดตัวช่วง 5-10 ปีจากนี้ ทั้งรูปแบบร่วมกับพันธมิตร และลงทุนเอง ในย่านศักยภาพ พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 350,000 ตารางเมตร มูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท เริ่มจาก “เซ็นทรัล พาร์ค” เป็นลักชัวรีมิกซ์ยูส ในโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ย่านการค้าสีลม ทำเลทองของกรุงเทพฯ บนที่ดินประวัติศาสตร์อายุกว่า 50 ปี ภายใต้การบริหารของกลุ่มดุสิต

“ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มูลค่าลงทุน 46,000 ล้านบาท พื้นที่รวม 440,000 ตารางเมตร บนที่ดิน 23 ไร่ มุมถนนสีลม-พระราม 4 เป็นโครงการมิกซ์ยูส ประกอบด้วย โรงแรม Dusit Thani Bangkok จำนวน 39 ชั้น 257 ห้อง เตรียมเปิดกลางปี 2567 อาคารสำนักงาน Central Park Offices พื้นที่ 130,000 ตารางเมตร เตรียมเปิดไตรมาส 2 ปี 2568 ศูนย์การค้า Central Park พื้นที่ 130,000 ตารางเมตร เปิดไตรมาส 3 ปี 2568 และที่พักอาศัย พื้นที่50,500 ตารางเมตร แบ่งเป็น Dusit Residencesทยอยส่งมอบห้องปลายปี 2568 ระดับราคา 40-300 ล้านบาท และ Dusit Parkside ราคา 12-90 ล้านบาท ทยอยส่งมอบห้องปลายปี 2568

“เซ็นทรัล พาร์ค ต้องการสร้าง เดอะ นิว ลักชัวรี มองเห็นวิวสวนลุมพินี  เป็นการสร้างทำเลแห่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนให้เทียบชั้นมหานครระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น นิวยอร์ก ที่มีเซ็นทรัลพาร์ค และไฮพาร์ค ลอนดอน ซึ่งการตั้งอยู่บนทำเล Established Affluent Neighbourhood ศูนย์กลางด้านการเงินและภาคธุรกิจเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำเป็นย่านที่อยู่อาศัยระดับอัลตร้าลักชัวรี ลักชัวรีโฮเทล ออฟฟิศเกรดเอ สถานทูตและกงสุล มหาวิทยาลัย เป็นทำเลศักยภาพสูง เป็นการสร้าง Super Core CBD บนถนนที่แพงของกรุงเทพฯดึงคนไทยและทั่วโลกช้อป โดยเฉพาะกลุ่ม Wealth Segment"

มิกซ์ยูสขนาดใหญ่ของเซ็นทรัลพัฒนายังเตรียมพัฒนา “เซ็นทรัล พหลโยธิน” เชื่อมต่อกับ “เซ็นทรัล ลาดพร้าว” เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ โซนเหนือ

เซ็นทรัลรีเทลชูเรือธงโกโฮลเซลล์บุกเต็มสูบ

นางสาวรังสิรัชต์ พรสุธี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานนักลงทุนสัมพันธ์และการบริหารความเสี่ยง บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 5 กลุ่มธุรกิจหลักของเซ็นทรัลรีเทล ได้แก่ กลุ่มฟู้ด กลุ่มฮาร์ดไลน์ กลุ่มแฟชั่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และ กลุ่มเฮลธ์แอนด์เวลแนส ได้เดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง โดยประเมินงบลงทุนปี 2567 เบื้องต้น 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการประกาศแผนลงทุนชัดเจนในระยะต่อไป

อีกกลุ่มเรือธงของเซ็นทรัล รีเทล ค้าส่ง ภายใต้แบรนด์ “โก โฮลเซลล์ (Go Wholesale)” นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจในประเทศไทยและต่างประเทศ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ระบุถึงแผนของ โก โฮลเซลล์ 5 ปีจากนี้ เตรียมเปิดสาขาใหม่ 50 สาขา ภายใต้งบลงทุน 20,000 ล้านบาท ภายใต้เป้าหมายเปิดครบทุกจังหวัดของประเทศไทย จังหวัดละ 1 สาขา 77 จังหวัด ภายในปี 2571 ชูกลยุทธ์การเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่คนไทย เน้นสินค้ากลุ่มอาหาร พร้อมดึงสินค้าเด่นจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามา

ลุยแบงค็อกมอลล์ล้านตารางเมตร

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เดอะมอลล์ยังเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยภาคค้าปลีกเป็นแรงหลักร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจไทย สำหรับ บิ๊กโปรเจกต์ แบงค็อกมอลล์ (Bangkok Mall) พื้นที่กว่า 1 ล้าน ตร.ม. มูลค่าลงทุน 40,000 ล้านบาท วางเป้าหมายศูนย์การค้าใหญ่สุดในภูมิภาค อยู่ระหว่างก่อสร้างตามแผน ซึ่งคาดว่าจะเปิดเฟสแรกปลายปี 2569

ในปี 2567 ตลาดค้าปลีกน่าจะขยายตัวดีขึ้น เดอะมอลล์ กรุ๊ป ตั้งเป้ายอดขายรวม 58,000 ล้านบาท ขยายตัว 5% จากปี 2566 คาดว่าจะสร้างรายได้รวม 50,000 ล้านบาท พร้อมสร้างผลกำไรเติบโตกว่า 25%

ซีพีดันหัวหอกไฮบริดแม็คโคร - โลตัส

สำหรับกลุ่มค้าปลีกค้าส่งเครือซีพี ที่มีหัวหอกค้าส่ง “แม็คโคร” และ ค้าปลีก “โลตัส” รวมถึงร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” โดยทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจมุ่งขยายสาขาใหม่ทั้งในและต่างประเทศ

นางสาวจิราพรรณ ทองตัน หัวหน้าสำนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขยายธุรกิจในกลุ่มค้าปลีก-ค้าส่งในปี 2567 เตรียมงบลงทุนเบื้องต้น 35,000-36,000 ล้านบาท แต่ละแบรนด์ แม็คโคร โลตัส และ เซเว่น อีเลฟเว่น ลงทุนราว 12,000-13,000 ล้านบาท  ทั้งนี้ เซเว่น อีเลฟเว่น เปิดสาขาใหม่ 700 แห่งในไทย กัมพูชา 20-30 สาขา และ ลาว 2-3 สาขา

รายงานข่าวจาก บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แม็คโคร ในประเทศไทย มีแผนเปิดบริการ 8-10 สาขา เน้นสาขาขนาดใหญ่พื้นที่ 4,000-7,000 ตร.ม. ต่างประเทศ 2-3 สาขา ส่วน โลตัส  เปิดสาขาขนาดใหญ่ไฮเปอร์มาร์เก็ต 3-4 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต 10-12 สาขา โลตัส โกเฟรช และมินิ โกเฟรช 100-120 สาขา ซึ่งแม็คโครและโลตัส ใช้โมเดลการเปิดควบคู่กัน หรือที่เรียกว่า ไฮบริด เป็นทางเลือกให้กับลูกค้าและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันมากขึ้นด้วย 

บิ๊กซี เดินหน้าค้าปลีก เร่ง รีโนเวทครั้งใหญ่

ทางด้าน กลุ่มทีซีซี กรุ๊ป ธุรกิจภายใต้ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี วางหมากรุกค้าปลีก-ค้าส่ง ขยายธุรกิจ “บิ๊กซี” ต่อเนื่อง และเตรียมเปิดบริการอภิมหาโปรเจกต์ วัน แบงค็อก (One Bangkok) พัฒนาโดย บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท มีทั้งสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์แสดงนิทรรศการ ที่พักอาศัย เตรียมเปิดเฟสแรกในส่วนออฟฟิศ ปลายปี 2567

แหล่งข่าวกล่าวว่า การเปิด วัน แบงค็อก จะสร้างย่านการค้าพระราม 4 ให้คึกคักยิ่งขึ้นในรอบหลายทศวรรษที่มีโครงการขนาดใหญ่ปักหมุดสร้างย่านการค้าแห่งใหม่เชื่อมต่อไปถึงย่านสีลม ที่จะมี “เซ็นทรัล ดุสิต พาร์ค” ทยอยเปิดให้บริการปลายปีนี้เช่นกัน 

พื้นที่รีเทลแตะ 37 ล้านตร.ม.ปี 70

นายธนินท์รัฐ ภักดีภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจค้าปลีกและอดีตผู้บริหารระดับสูงศูนย์การค้าขนาดใหญ่ สะท้อนภาพรวมธุรกิจค้าปลีก ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2567-2570 เฉลี่ยปีละประมาณ 10% โดยได้แรงหนุนสำคัญจากการลงทุนของผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ในการทยอยเปิดสาขาใหม่ ปรับปรุงสาขาเก่า  โดยประเมินพื้นที่ค้าปลีกรวมทั่วประเทศ จากปัจจุบันมีประมาณ 25 ล้าน ตร.ม. คาดว่าการขยายเมกะโปรเจกต์ต่างๆ จำนวนมาก จะทำให้ภายในปี 2570 พื้นที่ค้าปลีกจะมีปริมาณถึง 37 ล้าน ตร.ม.ทีเดียว