‘คอนวี่’ เขย่าอีคอมเมิร์ซความงาม มุ่งรีจินัล ท้าชิงรีเทลบิวตี้ อินโดนีเซีย

‘คอนวี่’ เขย่าอีคอมเมิร์ซความงาม  มุ่งรีจินัล ท้าชิงรีเทลบิวตี้ อินโดนีเซีย

“คอนวี่”(Konvy) แพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าความงามอีคอมเมิร์ซ ทำตลาดในไทยมา 12 ปี สร้างการเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสินค้าที่ตอบโจทย์คนรักสวยงามกว่า 1,000 แบรนด์ รวมกว่า 20,000 รายการ(เอสเคยู)

นอกจากนี้ แบรนด์เกาหลี และแบรนด์สินค้าความงามต่างประเทศที่ยึดพื้นที่ทำตลาดสัดส่วนค่อนข้างมาก กลับมีแบรนด์ไทยเข้าไปปักหมุดขายราว 50-60% และเส้นทางการเติบโตจากในประเทศไทย “คอนวี่” มองก้าวต่อไปจะมุ่งสู่ตลาดระดับภูมิภาค(รีจินัล) หวังพาสินค้าไทยผงาดในประเทศเพื่อนบ้าน

คิงก้วย หวง ประธานคณะผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท คอนวี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า ฉายภาพว่า 12 ปีที่คอนวี่ ทำตลาดสินค้าความงามผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซทั้งเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน สร้างการเติบโตจนมียอดขายกว่า 2,000 ล้านบาทในปี 2566 เติบโตกว่าเท่าตัวจากปีก่อนหน้า และปี 2567 บริษัทยังมองโอกาสทำเงินทะยานเกินกว่า 3,000 ล้านบาท

บริษัทมองยอดขายโต แต่ตลาดสินค้าความงามหรือบิวตี้กลับมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยปี 2567 คาดการณ์ขยายตัว 5-6% จากปี 2566 ตลาดโต 7-9% จากมูลค่าตลาดราว 600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจัยที่ฉุดการเติบโตมาจากภาวะเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ชะลอตัว ยังมีตัวแปรด้านการเมือง กระทบกำลังซื้อผู้บริโภคให้หายไปด้วย

“ปีนี้เศรษฐกิจ และธุรกิจทุกเซ็กเตอร์จะชะลอตัว รวมถึงสินค้าบิวตี้ด้วย แต่หากมองพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ยังรักสวย และยังมีกำลังในการจับจ่าย เทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ คนรักสวย แต่อำนาจซื้อไม่ตอบโจทย์”

‘คอนวี่’ เขย่าอีคอมเมิร์ซความงาม  มุ่งรีจินัล ท้าชิงรีเทลบิวตี้ อินโดนีเซีย แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2567 จะขยายแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไปไปเจาะตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน เพื่อก้าวสู่การเป็นแบรนด์ภูมิภาคหรือรีจินัล แบรนด์ สำหรับตลาดที่โฟกัสได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งปีนี้ “ฟิลิปินส์” จะเป็นหมุดหมายแรกเข้าไปบุก เนื่องจากมองว่า “เคลื่อนทัพก่อนคู่แข่ง” จะสร้างความได้เปรียบ

สำหรับตลาดสินค้าความงามประเทศฟิลิปินส์มีมูลค่าราว 500 ล้านดอลลาร์ แต่ขนาดประชากรกว่า 100 ล้านคน มากกว่าไทย จึงเป็นขุมทรัพย์น่าสนใจ รวมถึงมองตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งตลาดบิวตี้มีขนาดใหญ่สุดมูลค่าราว 700 ล้านดอลลาร์ แต่บริษัทเลือกเจาะตลาด ฟิลิปินส์ มาเลเซีย และเวียดนามก่อน

เมื่อเป็นผู้เล่นระดับรีจินัล บริษัทยังวางเป้าหมายรายได้โค่นแพลตฟอร์มบิวตี้อีคอมเมิร์ซเบอร์ 1 ของภูมิภาคอย่าง Sociolla ร้านค้าปลีกสินค้าความงามและสินค้าสุขภาพของประเทศอินโดนีเซียด้วย ขณะเดียวกันบริษัทยังมองการขยายธุรกิจก้าวสู่ระดับโลกด้วย และหนึ่งในพันธกิจสำคัญคือการพาสินค้าความงาม “แบรนด์ไทย” ไปสู่เวทีสากลด้วย

นอกจากนี้ คอนวี่ ยังเป็นสตาร์ทอัพที่มีการเติบโต และมีการระดมทุนจากนักลงทุนต่อเนื่อง ซึ่ง “หวง” ไม่ได้มองเป็นความสำเร็จ เพราะการทำธุรกิจนอกจากต้องใจนักลงทุนแล้ว ต้องสร้างผล “กำไร” และ “เก่งกว่าคู่แข่ง" ในประเทศอื่นๆ รวมถึงเป็นองค์กรที่มี “ประสิทธิภาพ” ด้านธุรกิจ เพื่อก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพ “ยูนิคอร์น” ซึ่งหมายถึงมูลค่าของบริษัทต้องทะลุกว่า 30,000 ล้านบาท

‘คอนวี่’ เขย่าอีคอมเมิร์ซความงาม  มุ่งรีจินัล ท้าชิงรีเทลบิวตี้ อินโดนีเซีย “ถ้าจะเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียน คอนวี่ ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท และการจะเป็นผู้เล่นที่แกร่ง บริษัทต้องทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ หรือมิติของอีคอมเมิร์ซ หากผู้ประกอบการลงทุน 5 บาทเพื่อดึงลูกค้า 1 รายให้เข้ามาชอปปิงหรือทราฟฟิก เราควรใช้เงินแค่ 3 บาท เราไม่อยากเผาเงินหรือ Burning money อย่างเดียว”

เมื่อดูผลประกอบการบริษัทจะเห็นการขึ้นลงของตัวเลขบรรทัดสุดท้ายหรือ "กำไร" บางปี "ขาดทุน" และบางปีกำไร ซึ่ง "หวง" บอกว่า ตอนนี้บริษัทมีกำไรอยู่

อย่างไรก็ตาม คอนวี่ เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจำหน่ายสินค้าความงาม แต่ปี 2567 บริษัทได้ทุ่มงบราว 10 ล้านบาท เปิดร้านหรือช็อปสาขาแรกที่ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ชูคอนเซปต์ Konvy Selected Beauty Store เลือกสินค้าที่คาดว่าจะตรงใจลูกค้ามาจำหน่าย โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆของสินค้าบนเชลฟ์ การมีหน้าจะช่วยสร้างประสบการณ์ เปิดพื้นที่ให้ลูกค้าได้ทดลองสินค้าต่างๆ และแนะนำสินค้าใหม่ เช่น น้ำหอม ลิปสติก ฯ

“ปีก่อนเราทดลองเปิดช้อป 2 แห่ง ที่สยามเซ็นเตอร์เพื่อจับกลุ่มวัยรุ่น และเดอะมอลล์ บางกะปิ เจาะกลุ่มครอบครัว การเปิดหน้าร้านจะช่วยเราปิดจุดอ่อนด้านการสร้างประสบการณ์ และการลองสินค้าให้แก่ลูกค้า”